จบวิศวกรรม แต่เลือกเป็นเกษตรกร เจาะใจ หนุ่มวิศวกร วัย 25 ปี เมื่อชีวิตเมืองกรุงฯ ไม่ใช่คำตอบของความสุข หันหลังกลับบ้านเกิดทำเกษตรอินทรีย์แบบพอเพียง สร้างรายได้เลี้ยงตัวเองจนสำเร็จ สินค้าเป็นที่ต้องการของตลาด ส่งขายแทบไม่ทัน ปลูกผักส่งต่อความสุข รักษาคนที่เป็นโรค SLE พร้อมตั้งเป้าหมายพัฒนา “อัศวินฟาร์ม” เป็นศูนย์การเรียนรู้ สร้างชุมชนเข้มแข็ง
จากวิศวกร สู่เกษตรกรเต็มตัว
“4 ปีเรียนมาก็เสียดายองค์ความรู้เหมือนกัน แต่พอได้ทราบจากรุ่นพี่ที่จบมาเขามีชีวิตอย่างไร แต่เราไม่ชอบตรงนั้น เลยคิดว่า 4 ปี ผมยอมเสีย แต่ผมจะไม่ยอมเสียอีกครึ่งชีวิตในสิ่งที่ผมไม่ชอบ”
ไนท์-ศุภวิชญ์ สง่าวงษ์ หนุ่มชุมพร วัย 25 ปี เรียนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมการผลิตมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรุงเทพฯ
เมื่ออาชีพวิศวกร และชีวิตในเมืองกรุงฯ ไม่ใช่คำตอบของความสุข หนุ่มจากชุมพร จึงเลือกเดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อค้นหาความสุขของตัวเอง ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์แบบพอเพียง บนที่ดิน 7 ไร่ ในอ.ท่าแซะ จ.ชุมพร
สามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองจนสำเร็จ ตั้งเป้าพัฒนา “อัศวินฟาร์ม” ฟาร์มเกษตรอินทรีย์เป็นศูนย์การเรียนรู้สร้างชุมชนเข้มแข็ง
“จริงๆ ตอน ที่ผมเรียนอยู่ เกิดคำถามกับตัวเองว่า เราอยากจะอยากใช้ชีวิตอยู่แบบนี้จริงหรือเปล่า เราไม่ได้ชอบชีวิตในเมืองกรุงฯ เราไม่ได้อยากมีชีวิตที่ต้องไป เข้าในออฟฟิศ ผมรู้สึกว่า ช่วงเวลานี้มันเป็นสิ่งที่เราอยากจะค้นหาตัวเองมากกว่า ก็เลยมองว่าอยากกลับบ้าน ทำไงก็ได้ที่ไม่ต้องอยู่ในเมือง ไม่ต้องอยู่ในสังคมที่เร่งรีบกัน
อยู่ในเมืองกรุงฯ มันไม่ได้แย่ แต่ว่าผมไม่ได้ชอบเท่านั้นเอง ไม่ได้ชอบที่จะต้องตื่นเช้ามากๆ เพื่อที่จะต้องไปเจอกับคนที่เขาใช้ชีวิตเร่งรีบกันอย่างนั้น”
หลังจบได้ไม่นาน ก็เลือกหลีกหนีชีวิตวุ่นวาย ที่เร่งรีบในเมืองกรุงฯ กลับบ้านเกิด โชคดีที่พ่อแม่มีที่ดินเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงขอเจียดที่ดินแบ่งมาทำเกษตรแบบผสมผสาน
“ตอนกลับมาก็คิดเยอะเหมือนกันครับ อยากไปทำตรงโน่น ถ้าง่ายสุดคือเราเอาความรู้ไปสมัครงานที่อื่น แต่ผมมองว่าต้นทุนที่ผมมี ที่ผมโชคดีที่มีต้นทุนตรงนี้ พ่อแม่มีพื้นที่อยู่บ้าง ก็ทำเป็นแบบเกษตรเชิงเดี่ยว เป็นปาล์มบ้าง เป็นยางบ้าง จะกลับมาพัฒนาตรงนี้
พอกลับมาพ่อแม่ไม่ให้ทำ ผมอยากจะกลับมาทำสวน พ่อแม่เลยยื่นคำขาดว่าต้องไปหาความรู้มาก่อน ไหนๆ จะหาความรู้แล้ว ไปเรียนกับคนที่เขาทำเป็นเลย”
ตัดสินใจไปลงเรียนหลักสูตรพัฒนาการเรียนรู้เกษตรกรรุ่นใหม่ ด้วยระยะเวลาเพียง 6 เดือน จบมาพร้อมความรู้เรื่องทำการเกษตร การทำงานกับคน และทักษะการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาแปลงเกษตร
“ตอนแรกหวังว่าจะมีชีวิตสโลว์ไลฟ์จากการเป็นเกษตร แต่จริงๆ เกษตรไม่ใช่เป็นงานที่สโลว์ไลฟ์อย่างที่ใครคาดหวัง โอเคถ้าเป็นเกษตรแปลงใหญ่ ปลูกเป็นไม้ผลมันอาจจะเป็นแบบนั้น เช้าเข้าสวน เย็นๆ ก็ค่อยเข้าอีกที แต่ว่าความเป็นจริงที่ผมเจอ เช้าต้องรีบลงแปลงแล้ว เพราะว่าเดี๋ยวสายๆ แดดออกเดี๋ยวทำงานไม่ไหว
เที่ยงต้องหางานอื่นทำแล้ว ต้องทำงานในร่มอีก อย่างผมปลูกผัก เช้าต้องรีบรดน้ำ ต้องทำกิจกรรมอะไรก็ได้ ไม่นั้นเดี๋ยวสายแล้วแดดร้อน พอตอนเที่ยง ก็ต้องลงที่ร่ม เพื่อที่จะทำงานเพื่อจะส่งเสริมงานในแปลง เพาะกล้า เตรียมปุ๋ย เตรียมน้ำหมัก วางแผน เตรีมของไว้ พอเย็นแดดร่มลมตก เราลงแปลงไถดิน ย้ายกล้า รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ทั้งวัน”
ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และเหนื่อยมาก ตลอดระยะเวลาที่เริ่มทำ ซึ่งตอนนี้เข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว แต่สุดท้ายแล้วแม้จะเหนื่อยก็ถือว่าตรงกับความชอบ ตรงกับสิ่งที่ต้องการ
“ผมว่าตรงครับ เพราะว่าเกษตรมันให้เวลาบางอย่างที่งานประจำมันให้ไม่ได้ ตอนเย็นๆ งานที่เราควรที่จะมีแบบงานประจำ เรากลับมา เรามีเวลาว่าง เอาเวลาตรงนั้น ที่มันไม่ต้องไปทำงาน มาทำสิ่งที่ชอบ มาวาดการ์ตูนบ้าง เอามาเล่นดนตรีบ้าง วันนี้ไม่อยากวาดการ์ตูน ไม่อยากเล่นดนตรี ก็มานั่งคิดว่า เราจะพัฒนาสินค้นเราต่อยังไง ก็มานั่งวางแผน ทำบันทึก
เราจะทำยังไงต่อ เรามาถึงกี่เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมายที่เราจะไป ก็ค่อยๆ วางแผน เกษตรมันต้องค่อยๆ พัฒนาตัวเองเรื่อยๆ ต้องทำในทุกวัน”
ล้มแต่ไม่เลิก
เจออุปสรรคครั้งใหญ่ น้ำท่วมแปลงผักจมน้ำ ต้นไม้ที่ปลูกไว้เป็นปี ล้มไม่เป็นท่า ต้องเริ่มใหม่อีกครั้ง เรียกได้ว่าเจออุปสรรคหนักในครั้งนั้น ก็แทบหมดแรงกันเลยทีเดียว เพราะลงมือทำงานด้วยตัวเองทุกอย่าง ตั้งแต่ลงแปลงเพราะปลูก ดูแลรดน้ำ เก็บเกี่ยว พัฒนาสินค้า แม้กระทั่งยามว่าง
“จริงๆ มีหลายครั้ง แต่ครั้งใหญ่คือน้ำท่วม ตรงนี้สูงเป็นเมตรเลยครับ มันเป็นน้ำท่วมในรอบ 10 ปี ตอนนั้นในชุมพร ในอำเภอท่าแซะก็ท่วมหนักอยู่เหมือนกัน ตรงนี้ท่วมหนักเลย แล้วตอนนั้นเป็นช่วงที่ผักผม ต้นไม้ผม ลงไปแล้วปีหนึ่ง ท่วมตัดทั้งแปลง กลายเป็นว่าเหมือนจะเริ่มใหม่ มันก็ไม่ถึงกับศูนย์ ต้นไม้ก็ยังอยู่ แต่มันใกล้ตาย
มันล้มก็ค่อยๆ เอาดินพูนเขา ค่อนๆ ให้เขาต้นงอกใหม่ ค่อยๆ เลี้ยงเขาใหม่ ส่วนผักไม่ต้องพูดถึง จมน้ำ ผมใช้เวลาเป็นอาทิตย์อยู่กับตัวเอง เพราะรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมามันเหนื่อยเหลือเกิน ปีหนึ่งกลับต้องมาเริ่มใหม่อีกแล้ว”
การเป็นเกษตรกรมือใหม่ แม้จะผ่านการอบรม และปฏิบัติมาไม่น้อย แต่ในชีวิตจริง ก็ต้องเรียนรู้ เจอปัญหามากมาย นับว่าเป็นบททดสอบทำให้ค้นพบว่า จะมุ่งไปสู้เป้าหมายได้อย่างไร
“ก็ค่อยๆ วางแผน ค่อยๆ คิด เพราะว่าเราเข้าใจตัวเองว่าเรามองไม่เห็นเป้าหมาย เป้าหมาเราเลือนรางแล้ว ผมก็เลยกลับมามองใหม่ว่า เรามีจุดหมายอยู่ตรงไหน และเราจะสอยตรงเป้าหมายนั้นมาในแต่ละวัน เพื่อทำให้ตามไปถึงเป้าหมายได้ยังไง”
เริ่มต้นพัฒนาพื้นที่อีกครั้งหลังจากเจออุปสรรคครั้งใหญ่ ด้วยแนวคิดที่เริ่มจากปลูกเพื่อกินก่อน จากนั้นจึงเริ่มขาย เริ่มมองว่ามาตรฐานอินทรีย์ต้องการอะไรบ้าง
“เริ่มต้นจากที่อยากจะมีผักเอาไว้กินก่อนครับ พอเรามีผักไว้กิน เราขายได้ เริ่มมีรายได้เข้ามา ผมก็เป็นเด็กรุ่นใหม่ ก็ต้องมีความฝันอยากจะทำอย่างอื่น มันก็ต้องใช้เงิน ปลูกผักไว้ขายด้วย ก็เป็นผักที่มีมาตรฐาน มีใบมาตรฐานออร์แกนิกไทยรับรอง”
จนได้การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จากกรมวิชาการเกษตร ต่อยอดมาสู่การผลิตเพื่อจำหน่าย จนสินค้าเป็นที่ต้องการของตลาดอย่าง คนรักสุขภาพ โรงพยาบาลประจำจังหวัดและร้านอาหารทั่วไป ติดต่อสั่งจองล่วงหน้า ส่งขายแทบไม่ทัน สามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวและสะสมเป็นทุนหมุนเวียนขยายฟาร์มต่อไป
“สำหรับเรื่องเกษตร หลายๆ คนมักจะมองว่าตลาดอยู่ที่ไหน มันจะไปได้ไหม พ่อแม่ผมก็กลัวเหมือนกัน เขาไม่ได้เข้าใจว่า สิ่งที่ผมทำอยู่เหมือนกัน ผมก็เริ่มด้วยการมีใบมาตรฐาน ซึ่งผมตอนนี้มีใบมาตรฐานแล้ว ใบมาตรฐานตัวนี้ จะเป็นตัวที่ทำให้ผมได้เปียบกว่าเกษตรกรคนอื่น
พอผมมีต้นทุน ก็คือใบมาตรฐานกลายเป็นว่าตลาดวิ่งหาผม เพราะเขามองว่าบ้านเรายังไม่มีตรงนี้ เขาต้องการคนที่ผลิตผักอินทรีย์ เขาก็วิ่งหาผม ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลชุมพรก็ติดต่อมา ขอให้ส่งผัก พ่อค้าแม่ค้าบางคนอยากได้ผักอินทรีย์เอาไปขายเพื่อกินเปอร์เซ็นต์อะไรแบบนี้ ก็มีติดต่อเข้ามาเรื่อยๆ
อีกอย่างหนึ่งที่ผมทำเป็นประจำก็คือ การออกสู่ตลาด เพราะการออกสู่ตลาด มันเป็นการที่เราได้เจอกับลูกค้าโดยตรง ผมก็ไปตั้งบูทขายเลยครับ ถ้าเราหาตลาดเองไม่ได้ เราก็ต้องพัฒนาตัวเองว่ามีวิธีไหนบ้าง พัฒนารูปแบบการขาย หรือการพัฒนาสินค้า การแปรรูป มันไปได้หลายทาง ผมมองว่าเกษตรเป็นสิ่งที่ยืดหยุ่น
เมื่อก่อนปลูกขายอย่างเดียว แต่เดี๋ยวนี้ผมมองว่าสังคมมันเปลี่ยน รูปแบบของเศรษฐกิจก็เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นต้องมีการปรับตัว จะปลูกอย่างเดียว แล้วรอขายส่ง ผมมองว่าสมัยนี้บางบริบทของแปลงอยู่ได้ แต่บางแปลงก็ไม่สามารถอยู่ได้ ก็ต้องปรับตัวกัน”
ชีวิตคุ้มค่า มีความสุขกาย-ใจ
แม้จะทำเกษตรได้ไม่นาน แต่ในระยะเวลา 2 ปีกว่า ที่สั่งสมประสบการณ์ทั้งลองผิดลองถูก ใช้ความรู้ที่ได้ไปร่ำเรียนมาเกี่ยวกับการเกษตร และด้วยที่เป็นคนใฝ่รู้ มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ทำให้ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรถ่ายทอดประสบการณ์การทำเกษตรอินทรีย์อยู่เสมอ
“ก็มีคนแวะเข้ามาดู เป็นเกษตรกรบ้าง เข้ามาคุยบ้าง เข้ามาดูงานบ้าง ว่าปลูกยังไง ทำเกษตรอินทรีย์ ขอมาตรฐานยังไงก็มี จะมีออกไปข้างนอกบ้าง บางครั้งก็เป็นวิทยากรที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร
ก็จะไปสอนในเรื่องการเตรียมความพร้อมในเรื่องการเป็น Smart Farmer ที่มันต้องเปลี่ยนแปลงตามยุกต์ ในเรื่องของโรคแมลง สภาพภูมิอากาศที่แตกต่าง เพราะมันเปลี่ยนจากเมื่อก่อน เมื่อก่อนเราสามารถคาดการณ์ได้ เดี๋ยวนี้คาดการณ์ไม่ได้แล้ว มันต้องเตรียมความพร้อมเสมอครับ ก็จะไปสอนเด็กบ้าง
แล้วก็จะมีอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องข้าวครับ เรื่องของการปลูกข้าว ที่ผมปลูกนี่เป็นข้าวไร่ เป็นข้าวที่ปลูกบนที่ดอนที่เขาใช้น้ำน้อย”
ในอนาคต ยังมีความคิดอีกว่าอยากให้ฟาร์มของตนเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรกรรมแบบพอเพียง เพื่อสร้างความเข้มแข็งที่ยั่งยืนในอนาคตให้กับชุมชนบ้านเกิด
“จริงๆ ส่วนหนึ่งอยากให้เป็นศูนย์เรียนรู้ เอาไว้เพื่อให้คนเข้ามาศึกษา ผมมองว่าในบ้านเราการทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรทางเลือกยังมีน้อย ผมไม่ได้ว่าผักที่อื่นดีหรือไม่ดี แต่บางทีเราไม่รู้ที่มา เราก็เลยเห็นว่าผักในตลาดมันมาจากจังหวัดอื่น เราอยากให้คนมีทางเลือกในการบริโภค ก็เลยเอาส่วนนี้เป็นส่วนให้คนเลือกบริโภค”
จากประสบการณ์ทำเกษตรมา เกษตรกรรุ่นใหม่ไฟแรง ยังได้พบว่า สิ่งที่ทำนอกจากจะทำให้ตัวเองมีความสุขกับวิถีชีวิตที่เลือกแล้ว ยังต่อส่งความสุข ให้กับคนที่เป็นโรค SLE หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรคที่เรารู้จักในชื่อโรคพุ่มพวงนั่นเอง
“ผมได้รับสายจากโทรศัพท์ เป็นสายที่เป็นเบอร์แปลกครับ เขาโทรมาบอกว่า น้องปลูกผักใช่ไหม น้องปลูกยังไง น้องปลูกส่งพี่ได้ไหม เพราะว่าพี่เป็นโรค SLE เขากินอะไรไม่ได้ ผมจำได้เขาบอกว่าเขาใช้ชีวิตด้วยการกินเห็ดหลินจือ กินที่แบบต้องปลอดสารพิษ
เพราะว่าโรค SLE คือโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง เขากินบางสิ่งบางอย่างที่มันมีสารเคมีปนเปื้อน เขาจะอ้วกบ้าง แพ้บ้าง แต่เขาอยากจะกินผักผม ผมรู้สึกว่าโห ผู้หญิงคนนี้เขาต้องการผักเราจริงๆ เพราะว่าผมปลูกด้วยระบบอินทรีย์ไม่มีสารเคมีตกค้าง กินแล้วปลอดภัยกับเขา
มันก็เป็นหนึ่งในกำลังใจครับ เราเข้าใจแล้วว่าเราทำมีคุณภาพ เราอยากคงคุณภาพตรงนี้ แล้วทำให้มันดีต่อไปเรื่อยๆ”
ก้าวเข้าสู่การเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัว ยอมรับว่ามีความสุข และคุ้มค่าทั้งกาย และใจ แม้จะทำงานหนัก ต้องตากแดดทุกวัน
“ถ้าทางจิตใจ ผมมองว่ามันก็คุ้มอยู่แล้ว เพราะว่าผมมีความสุขกับการได้ทำแบบนี้ ผมมองว่าพ่อแม่ผมได้กินของที่ดีก่อนใคร ผมได้กินของที่ดีๆ ได้ความสุขทางใจ เราไม่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสังคมที่เร่งรีบ เราก็มีความสุขทางใจแล้วความคุ้มค่า ผมว่ามันก็คุ้มค่านะ เพราะว่าผมได้เอาความรู้ที่ได้เรียนรู้ นำไปถ่ายทอดให้คนอื่น จะวัดเป็นตัวเงิน ผมก็อยู่ได้ คนอื่นอยู่ได้ เราได้ทำประโยชน์ให้สังคม ผมมองว่าอย่างนั้นมันก็โอเคครับ”
สัมภาษณ์ รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง : MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **