“เอสแอนด์พี” เดินหน้ามุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง เลือกโฟกัส 5 เป้าหมาย พร้อมขับเคลื่อนตามแผนงานอย่างจริงจัง เผยเกือบ 3 ปีหลายโครงการเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ครบทั้งมิติเศรษฐกิจ มิติสังคม และมิติสิ่งแวดล้อม
มณีสุดา ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงนโยบายด้านความยั่งยืนของบริษัทว่า S&P มุ่งดำเนินงานเพื่อเป้าหมายด้านความยั่งยืน โดยยึดหลักให้สอดคล้องตาม SDG Goals 5 ข้อ ดังนี้ เป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย เป้าหมายที่ 3 มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป้าหมายที่ 8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยในปีพ.ศ.2563 S&P มุ่งเน้นแนวทางการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ดังนี้ 1.เดินหน้าปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม 2.ขับเคลื่อนนโยบายลด และเลิกใช้ Single-use Plastic 3.มุ่งมั่นพัฒนาเมนูสุขภาพ 4.การจัดการเบเกอรี่เหลือทิ้ง 5.มุ่งมั่นสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า และ6.ให้คู่ค้าธุรกิจหลักยอมรับในจรรยาบรรณแห่งพันธมิตรทางธุรกิจ (S&P Code of Conduct)
สิ่งที่ S&P ดำเนินการไปแล้วแบ่งเป็น 3 ด้าน ดังนี้ “ด้านเศรษฐกิจ” ได้แก่ การมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพ การคัดสรรวัตถุดิบคุณภาพดีจากเกษตรกรไทย การกระจายรายได้สู่ชุมชน และการได้รับสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” (Healthier Choice)
“ด้านสังคม” ได้แก่ การฝึกอบรมพัฒนาแก่บุคลากรในองค์กรผ่านศูนย์การเรียนเอส แอนด์ พี การดำเนินการสถานปฏิบัติธรรมบ้านไรวา อ.บางพระ จ.ชลบุรี โครงการ S&P Kitchen for Kids ดำเนินการมาแล้ว 12 ปี และได้รับการยอมรับระดับเอเชีย โครงการอบรมวิชาชีพแก่ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม โครงการ S&P Cake A Wish Make A Wish
“ด้านสิ่งแวดล้อม” S&P ยึดหลัก 3Rs เป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ดังนี้ โครงการปรับลดพลาสติกที่ใช้ในบรรจุภัณฑ์ และเปลี่ยนใช้วัสดุทดแทนที่ย่อยสลายได้ง่าย โครงการใช้พลังงานสะอาด “Solar Roof” ในการผลิตเบเกอรี่ที่โรงงานบางพลี กม.23.5 ส่งผลให้ S&P ได้รับการรับรอง CFP และ CFO อีกทั้งยังได้รับมอบรางวัล 3Rs Award รางวัล Zero Waste to Landfill Achievement Award และรางวัล 3Rs+ Awards ระดับเหรียญทอง ในโครงการพัฒนาศักยภาพการใช้ประโยชน์กากของเสีย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ยังออกแคมเปญปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการใช้พลาสติกแก่ผู้บริโภค และรณรงค์ให้นำถุงผ้ากลับมาใช้ซ้ำ โครงการ “ขวดนี้ไม่ใช้...เราขอนะ” โครงการถุงสีเขียว (Green Bag) โครงการแยกขยะ ทั้งที่สาขา สำนักงาน และโรงงาน
มณีสุดา กล่าวว่า “การดำเนินงานด้านความยั่งยืนในปีนี้ที่เน้นเรื่องการเดินหน้าปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม เรื่องการลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ต้องบอกว่าเราไม่สามารถทำให้ร้านเราเป็น plastic free ซึ่งที่ผ่านมามีการโจมตีว่าทำไมไม่แจกถุงพลาสติก ทั้งๆ ที่ในร้านมีการใช้ถุงพลาสติก ก็ต้องบอกว่าทุกอย่างมีที่มาที่ไป มีเหตุผล ถามว่าเราขายเบเกอรี่ จะให้เราใส่ใบตองให้ลูกค้าทั้งหมดก็คงไม่ได้ เพราะพลาสติกไม่ใช่ผู้ร้ายทั้งหมด แต่มีส่วนช่วยในการถนอมอาหาร และที่สำคัญคือพลาสติกช่วยส่งต่ออาหารที่สะอาดปลอดภัยแก่ผู้บริโภคและลูกค้าของเรา”
“อย่างไรก็ตาม การใช้พลาสติกของเราปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เช่น ลดความหนา เปลี่ยนมาใช้หลอดกระดาษ หลอดเปื่อย ดูดสมูทตี้ไม่ขึ้น บ่นมาเราก็ปรับเปลี่ยนให้ ทุกอย่างที่ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมจะมีปัญหาเข้ามา เคยผลักดันอย่างมาก แต่ไม่สำเร็จ เช่น เรื่องแซนวิชทดลองใส่กล่องกระดาษแล้วแต่ขนมปังแข็ง ทำให้ต้องกลับไปใช้พลาสติก อยากให้รู้ว่าเบื้องหลังเราทำเยอะมาก และมีที่ไม่ผ่านเยอะมาก ก็ต้องขอให้เข้าใจว่าเราต้องมีกำไร เพราะทำแล้วลูกค้าไม่ซื้อเราก็อยู่ไม่ได้ ส่วนที่ทำได้ เช่น เปลี่ยนกล่องสแน๊กบ๊อกซ์ใช้กระดาษคราฟท์เป็นกระดาษรักษ์โลก แข็งแรงทนทานแต่ไม่สวย แต่คิดว่าผู้บริโภคจะเข้าใจ ออกแบบ“กล่องเค้กมีหูหิ้ว” ทำให้ไม่ต้องใส่ถุงพลาสติก แม้ว่าการใช้วัสดุรักษ์โลกส่วนมากทำให้ต้นทุนเพิ่ม 30% ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบในแง่กำไรที่เป็นตัวเงิน แต่คิดว่าในระยะยาวเราควรตอบแทนสังคมและสิ่งแวดล้อม”
ผลสำเร็จของ S&P กับการลดใช้พลาสติก ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2561 สามารถลดการใช้ได้ 100 ตัน ในปี 2562 ลดได้ 82 ตัน และปี 2563 จนถึงไตรมาสที่ 3 ลดได้ 103 ตัน รวมเกือบ 3 ปี ลดได้ 285 ตัน
สำหรับตัวอย่างการดำเนินการในเรื่อง “สุขภาพของลูกค้า” S&P มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเมนู ตามคำมั่นสัญญาในการดำเนินธุรกิจของเอสแอนด์พี “Healthier Family ,Happier World” เราจะทำทุกอย่างเพื่อให้ทุกคนที่เป็นสมาชิกในครอบครัวเรามีสุขภาพแข็งแรง และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เช่น เมนูโลว์โซเดียม จากการรณรงค์ของสสส.เรื่องการลดหวาน-มัน-เค็ม เราทำขาย 10 เมนูในร้านสาขาโรงพยาบาล 18 แห่ง รองรับลูกค้าที่ต้องการ เช่น โรคไต โรคเบาหวาน ฯลฯ และมีเมนูลดความหวานโดยใช้สารความหวาน เช่น บัวลอยมันม่วง ทำให้ได้การรับรองจากอย. และได้รางวัลองค์กรดีเด่นด้านการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสสส. สำหรับเบเกอรี่ทั้งหมดเป็นโลว์ทรานส์แฟท
ทั้งนี้ เมนู Healthier Choice สำหรับคนรักสุขภาพ ตราสัญลักษณ์นี้หมายถึงการมีโภชนาการที่ถูกต้อง เป็นเมนูทางเลือกโภชนาการคือทางเลือกสุขภาพปัจจุบัน S&P มีอาหารแช่แข็ง 1 เมนู และมีเครื่องดื่ม 9 เมนู ที่ได้ตรารับรองนี้ แต่ต้องบอกว่าการทำไม่ง่ายเลย เพราะส่วนผสมต่างๆ ทั้งน้ำมัน น้ำตาล ฯลฯ ต้องไม่เกิน ซึ่งมักจะสวนทางกับความอร่อย
มณีสุดา กล่าวว่า “การเลือก 5 เรื่องมาทำก่อน คือ การจัดการของเสีย บรรจุภัณฑ์ ลูกค้าสัมพันธ์ พัฒนาบุคลากร และคุณภาพอาหารกับความปลอดภัย เพราะต้องการเน้นผลักดันเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ก่อน โดยทุกเรื่องอยู่ในแผนระยะห้าปีและระยะสิบปี เช่น ตั้งเป้าลด food waste 30% ใช้เวลา 10 ปีเพราะไม่ง่าย ตั้งเป้าสาขาผ่านการรับรองให้ครบ 500 สาขาภายใน 5 ปีหรือพ.ศ.2568 ตั้งเป้าพัฒนา Healthier Choices 100 เมนูภายในห้าปี เป็นต้น”
“สำหรับเรื่องยากสุดคือการจัดการของเสีย เพราะเป็นโลจิสติกส์ของสดที่ต้องเร็ว เก็บไม่ได้และปลอดภัยที่สุด ส่วนที่ภูมิใจที่สุดคือการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ เพราะวัดผลได้ ผู้บริโภคเห็น และเห็นผลกระทบชัดเจน ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการพลังงาน การพัฒนาชุมชน สิทธิมนุษยชน การจัดการแรงงาน ก็มีเป้าหมายและแผนงานตามความเหมาะสม”
ตัวอย่างเรื่อง “การสั่งซื้อวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์จากชุมชน” เป็นการแบ่งปันความรู้และเรียนรู้ด้วยกัน เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดประโยชน์สูงสุด มีตัวอย่างชุมชน เช่น สวนเผือกสระบุรี พัฒนาผลิตผลกับชุมชนมีการเก็บหัวเผือกโดยวัดค่าแป้งเผือกให้ได้ปริมาณมากที่สุด เพื่อให้ได้ความอร่อยมากที่สุด ทำให้ได้ “บัวลอยเผือก” ที่หอมอร่อยที่สุดและขายดีที่สุด หรือสวนมะพร้าวที่สมุทรสงคราม เพราะใช้กะทิเยอะ จากเดิมตั้งแต่เปิดขายในตลาดเป็นเพิงเล็กๆ ปัจจุบันธุรกิจขยายมีโรงงานขนาดใหญ่เติบโตอย่างมากจากการที่เราสั่งซื้อเขาด้วยความไว้ใจกัน ไปสอนเรื่องระบบจีเอ็มพี ช่วยตั้งโรงงาน นี่คือตัวอย่างของความยั่งยืน ว่าเราอยู่ได้อย่างยั่งยืนและพัฒนาอาชีพให้ชุมชน
เรื่อง “การจ้างงานอย่างเป็นธรรม และการกระจายรายได้สู่ชุมชน” เดิมการจัดซื้อต้องการดีที่สุดถูกที่สุดผ่านตัวกลาง แต่ปัจจุบันบริษัทฯ เข้าไปจ้างงานและจัดซื้อจากชุมชน เช่น การเข้าไปในชุมชนที่อำนาจเจริญเพื่อนำผ้าขาวม้ามาทำถุงผ้าพับได้พกพาสะดวก ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนจากเดิม 2 พันบาทต่อปี เพิ่มเป็นเกือบ 2 หมื่นบาทต่อเดือน ชีวิตชาวบ้านเปลี่ยนไปมาก การนำรายได้ไปสู่ชุมชนแบบนี้ทำให้คุณภาพชีวิตของชุนชนดีขึ้นจริง
“อีกตัวอย่างเป็นชุมชนที่พัทลุง ปกติกระจูดขายดีอยู่แล้ว แต่โควิดทำให้ไม่มีรายได้ต้องใช้เงินที่เก็บสะสมมา เราก็คิดว่าเมื่อต้องทำกระเช้าขายช่วงปีใหม่อยู่แล้วก็จะใช้กระจูดเพื่อช่วยชาวบ้าน นี่เป็นโครงการประชารัฐ ถือเป็น Partnership for the goal เป็นสิ่งสำคัญเพราะการไปเลือกหาชุมชนเองไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีพันธมิตรช่วยกัน นอกจากนี้ เรายังซื้อตะกร้าของชุมชนที่ราชบุรีด้วย และยังไปร่วมกับมูลนิธิออทิสติกไทยทำการ์ดปีใหม่ และจะพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีก เพื่อให้มูลนิธิมีรายได้และเด็กๆ มีความภูมิใจ ต่อไปจะเห็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเด็กออทิสติกผ่านผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาออกมา”
ทั้งนี้ เอสแอนด์พีมีการก่อตั้ง “คณะกรรมการเพื่อความยั่งยืน” เมื่อปี 2561 เพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินการไปสู่ SDGs ได้อย่างสัมฤทธิ์ผล อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้บรรลุเป้าหมาย พนักงานทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดและร่วมดำเนินการ โดยมีการลงคะแนนเสียงเพื่อประเมินและหาข้อสรุปในการคัดเลือกโดยมองความจำเป็นที่ต้องทำ และผลกระทบ (impact) ที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด
สำหรับแผนการดำเนินงานในอนาคต S&P มีแผนดำเนินโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถมุ่งสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืนขององค์กรตามที่ได้ตั้งไว้ 5 ด้าน ได้แก่ 1.เป้าหมายด้านคุณภาพอาหาร ความปลอดภัย และโภชนาการ 2.เป้าหมายด้านความพึงพอใจของลูกค้า 3.เป้าหมายการจัดการของเสียและเศษอาหาร 4.เป้าหมายลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก และ5.เป้าหมายการพัฒนาบุคลากร