xs
xsm
sm
md
lg

ESCAP ร่วมมือ ม.มหิดล พัฒนาศูนย์ปฏิบัติการความยั่งยืน SDG Solutions Lab

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ - คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) โดยนางอาร์มิดา ซัลเซียะฮ์ อาลิสจะฮ์บานา (Armida Salsiah Alisjahbana) เลขาธิการบริหาร พร้อมด้วยนายอัดนัน เอช.อาเลียนี (Adnan H. Aliani) ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการยุทธศาสตร์และแผน ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOA) กับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี พร้อมด้วยรศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ณ สำนักงานสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก
คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ผนึกความร่วมมือ ม.มหิดล พัฒนาศูนย์ปฏิบัติการความยั่งยืน SDG Solutions Lab



จะดีแค่ไหน หากนวัตกร นักวิจัย หรือสตาร์ทอัปในประเทศไทยไม่ต้องลุยเดี่ยวพัฒนานวัตกรรมหรือแก้ปัญหาเพียงลำพัง แต่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคนเก่ง ผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีประสบการณ์ด้านต่างๆ ในหลายประเทศมาแนะนำช่วยเหลือ หรือร่วมมือให้โครงการดำเนินการสู่ความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว

คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) โดยนางอาร์มิดา ซัลเซียะฮ์ อาลิสจะฮ์บานา (Armida Salsiah Alisjahbana) เลขาธิการบริหาร พร้อมด้วยนายอัดนัน เอช.อาเลียนี (Adnan H. Aliani) ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการยุทธศาสตร์และแผน ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOA) กับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี พร้อมด้วยรศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ณ สำนักงานสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก เพื่อร่วมกันพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการ SDG Solutions Lab ซึ่งออกแบบมาเพื่อรองรับการพัฒนานวัตกรรมและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงที่มาของความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล และ ESCAP สหประชาชาติ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ SDG Solutions Lab ครั้งนี้ว่า เนื่องจากสหประชาชาติเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพและประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีความตื่นตัวด้านสาธารณสุข การศึกษาและวิจัยนวัตกรรมเพื่อสังคมไทยและภูมิภาคโลก จึงมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของประเทศไทยและนานาประเทศ กับกลุ่มเป้าหมายที่มีส่วนร่วม ได้แก่ นักศึกษา นวัตกรรุ่นใหม่ และสตาร์ทอัป ทั้งนี้ ในปีแรกจะเน้นรูปแบบกิจกรรม Hackathon ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต สุขภาพและการแพทย์ ซึ่งกำลังมีความสำคัญต่อประชาชนและชุมชนท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก


นางอาร์มิดา ซัลเซียะฮ์ อาลิสจะฮ์บานา เลขาธิการบริหาร คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) กล่าวว่า เป้าหมายของศูนย์ปฏิบัติการ SDG Solutions Lab จะทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มและระบบนิเวศสำหรับสตาร์ทอัพ ในการร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมใหม่หรือมาตรการแก้ปัญหาระหว่างเครือข่ายสหประชาชาติ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาวิชาการและสังคม ศูนย์ปฏิบัติการจะเชื่อมโยงนวัตกรและผู้เชี่ยวชาญ (mentor) จากทั่วโลก รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์และแหล่งความรู้กันได้ทั่วโลก สร้างเสริมพลังความร่วมมือที่แข็งแกร่งและเกิดประสิทธิผลยิ่งขึ้นในการพัฒนาและแก้ปัญหา

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในข้อตกลงความร่วมมือนี้ มีระยะเวลา 3 ปี โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะวางแผน จัดเตรียมและจัดทำกิจกรรม SDG Solutions Lab ความร่วมมือและการมีส่วนร่วมกับคนรุ่นใหม่และนักแก้ปัญหา เพื่อประสิทธิผลของโครงการ ที่เน้นในการพัฒนาที่ยั่งยืน สาระสำคัญของความร่วมมือทั้ง 2 ฝ่าย คือ ร่วมกันพัฒนายุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการของ SDG Solutions Lab, สร้างเสริมเครือข่ายผู้มีส่วนร่วม, บริหารจัดการด้านทุนสนับสนุนศูนย์ปฏิบัติการในระยะยาว, บริหารจัดการเครือข่ายในการมีส่วนร่วมกับโครงการทดลองและกิจกรรมของศูนย์ปฏิบัติการ, ร่วมสร้างสรรค์และทดสอบกิจกรรมโครงการของศูนย์ปฏิบัติการ, สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงสถานที่สำหรับใช้ประโยชน์หรือกิจกรรมของศูนย์ปฏิบัติการ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการไทยคิดจะสร้างอุปกรณ์เรือเก็บขยะในทะเลไทย เราสามารถเชื่อมโยงความรู้ทางเทคโนโลยีกับสตาร์ทอัปหรือผู้เชี่ยวชาญที่ประสบความสำเร็จจากประเทศอื่นมาช่วยเหลือแนะนำก็จะทำสำเร็จได้เร็วขึ้น, หรือมีกลุ่มต้องการสร้างนวัตกรรมแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งมีสาเหตุจากการทำลายป่า การเกษตรและคมนาคมขนส่ง ก็อาจแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี นำมาประยุกต์ใช้ ตลอดจนผนึกความร่วมมือแก้ไขปัญหาร่วมกันกับหลายประเทศ เป็นต้น

ทั้งนี้ จะเป็นผลดีต่อการพัฒนานวัตกรรมและสตาร์ทอัพ และรัฐบาลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ลดอุปสรรคและขีดจำกัดของทรัพยากร บุคคลากรและเงินทุน ช่วยให้เกิดการประสานร่วมมือของคนในประเทศและระหว่างประเทศในการต่อยอดองค์ความรู้มาเป็นนวัตกรรมในการรับมือกับวิกฤติใดๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความยั่งยืนและความมั่นคงทางสุขภาพตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก ตลอดจนพัฒนาการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งมีบทบาทสำคัญท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด-19 และวิถีโลกที่เปลี่ยนไป