xs
xsm
sm
md
lg

กล้องดักถ่าย NCAPS เทคโนโลยี ทส.4.0 ตอบโจทย์ “มาตรการจับก่อนตัด-ก่อนล่า”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กล้อง NCAPS หรือที่เรียกว่ากล้องดักถ่าย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ไม่เพียงนำมาใช้สำหรับการศึกษาวิจัยสัตว์ป่าเพื่อเก็บข้อมูลเท่านั้น แต่สำหรับคนลักลอบเข้าป่า-ล่าสัตว์ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติจะต้องกลัว!!

เพราะเมื่อมีใครรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเฉพาะพวกลักลอบตัดไม้ ล่าสัตว์ ทางกรมอุทยานฯ ย้ำว่า “เราไม่ได้ขู่ แต่ทำให้เห็นถึงประสิทธิภาพของมันมานักต่อนักแล้ว”

ดักถ่ายภาพได้ตลอด 24 ่ชม. คนลักลอบรอดยาก
เทคโนโลยีของระบบกล้องเอ็นแคป อยู่ที่การนำไปติดตั้งเพื่อแอบถ่าย และแจ้งเตือนทันทีที่มีวัสดุเคลื่อนไหวผ่านหน้ากล้อง กล้อง NCAPS ย่อมาจาก Network Centric Anti Poaching System ระบบนี้ประกอบไปด้วยกล้องที่เราติดตั้งไว้ในป่า ในพื้นที่ที่ยากต่อการมองเห็น เช่น จุดขึ้นลงเนินเขา ซึ่งกล้องจะจับภาพคนและสัตว์ป่า โดยใช้เลเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว ไม่มีแสงและเสียง แล้วส่งภาพกลับมายังอีเมล์ เป็นระบบ Network คล้ายกับกล้อง CCTV เมื่อภาพถูกส่งมายังอีเมลเรียบร้อยแล้ว แอดมินหรือผู้ควบคุมระบบจะทำการส่งภาพผ่านแอพพลิเคชั่น LINE กลุ่ม เพื่อร่วมกันประชุมวิเคราะห์พฤติกรรมคุกคามนั้นๆ

ปัจจุบันกรมอุทยานฯ ซุกซ่อนกล้องไว้ตามจุดเสี่ยงต่างๆ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหลายแห่ง และจุดที่ตั้งกล้องนั้นอาศัยฐานข้อมูลภัยคุกคามจากการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart patrol )

“กล้องเอ็นแคป สามารถทำงานดักถ่ายภาพตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อมีสัตว์ป่าหรือคนผ่านเข้ามาในรัศมีของกล้อง ระบบจะส่งภาพแจ้งเตือนมายังศูนย์กลางทันที เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นการบุกรุกและกระทำผิดกฎหมาย ก็จะดำเนินการตามขั้นตอนจับกุมอย่างทันท่วงที”

นับเป็นอีกเทคโนโลยีกรีนที่เฝ้าระวังได้แบบเรียลไทม์ เหมือนกับว่าได้ผู้ช่วยชั้นดีให้กับผู้พิทักษ์ป่า เพราะทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย “ลำพังพึ่งคนเฝ้าระวังอย่างเดียวอาจจะพลาด เพราะเราไม่รู้หรอกว่าพวกตัดไม้ ล่าสัตว์จะมาเวลาไหน แต่ระบบกล้องเอ็นแคปไม่หลับไม่นอน และเที่ยงตรงเสมอ”

เรียกว่าตอบโจทย์ "มาตรการจับก่อนตัดไม้ ก่อนล่าสัตว์" อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเจ้าหน้าที่ปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นการขยายผลของการลาดตระเวนเชิงคุณภาพของผู้พิทักษ์ป่าในยุคดิจิทัล นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเทคโนโลยีที่นำมาใช้ เช่น การพัฒนาระบบแอปพลิเคชันร่วมกับสมาร์ทโฟนในระบบแอนดรอยด์ GPS ระบบการส่งข้อมูลผ่านสัญญาณ WiFi ในภาคสนามผ่านระบบดาวเทียมเข้ามายังศูนย์ปฏิบัติการ รวมถึงการใช้โดรนและเครื่องบินเล็ก

จึงเป็นเครื่องมือใช้ต่อต้านการกระทำผิด ลดการสูญเสียทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนให้เกิดความเกรงกลัวจนไม่กล้ากระทำผิด เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ช่วยการปกป้องป่าอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ตามนโยบาย ทส.4.0

สัตว์ป่าที่โผล่่มาให้เห็น ได้ข้อมูลไปใช้ศึกษาวิจัยที่แม่นยำ


กำลังโหลดความคิดเห็น