xs
xsm
sm
md
lg

รอดยาก! เจอกล้องดักถ่าย NCAPS แบบเรียลไทม์ จับเขมรลักลอบตัดไม้คาของกลาง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กล้องชี้เป้าแบบเรียลไทม์ นำเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมได้ทันที
กล้องดักถ่ายในระบบเอ็นแคป ( NCAPS) ไม่เพียงเป็นนวัตกรรมยุคดิจิทัลของกรมอุทยานแห่งชาติเพื่อใช้ศึกษาสัตว์ป่าในเขตอุทยานฯ เท่านั้น แต่กล้องหลายตัวซุกซ่อนอยู่ในจุดเสี่ยงเพื่อจับกุมคนลักลอบเข้าป่าล่าสัตว์ ตัดไม้ ล่าสุดโชว์ภาพเรียลไทม์เข้าจับกุมเขมรลักลอบตัดไม้พร้อมของกลางได้ทันที ในพื้นที่เขตรักษาสัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ

เพจเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
โพสต์ว่าเมื่อวานนี้ (21 ก.ย.63) นายวุฒิกุล งามปัญญา หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ รายงานว่าเมื่อเวลา 20.38 น. เจ้าหน้าที่เขตฯห้วยทับทัน-ห้วยสำราญได้รับแจ้งเตือนจากกล้องดักถ่ายในระบบ NCAPS ที่ติดตั้งในพื้นที่ จึงได้ประสานกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์ป่าช่องจอมเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษภูธรจังหวัดสุรินทร์ เจ้าหน้าที่ทหารพรานกองร้อยทหารพรานที่ 2608 ทำการดักซุ่ม บริเวณป่าทิศตะวันออกเฉียงใต้อ่างเก็บน้ำห้วยด่าน ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ และเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายห้วยทับทันแปลงที่สาม ตำบลด่าน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์

จนกระทั่งเวลา 23.00 น. สามารถจับกุมผู้กระทำผิดชาวกัมพูชา จำนวน 1 ราย ทราบชื่อคือ นายเดือย ดุจ ราษฎรชาวกัมพูชา อายุ 39 ปี ชาวบ้าน ต.โอเสม็ด อ.สำโรง จ.อุดรมีชัย พร้อมของกลาง ไม้ประดู่ จำนวน 2 เหลี่ยม ปริมาตร 0.265 ลบ.ม. พร้อมอุปกรณ์ในการกระทำผิด จึงได้ตรวจยึดพร้อมควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.กาบเชิง อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ส่วนไม้ประดู่ของกลางได้ตีตราประทับแล้วเก็บรักษาไว้ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้นำตัวผู้ต้องหาไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลกาบเชิง ก่อนที่จะนำตัวส่งพนักงานสอบสวนเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคดังกล่าว




สำหรับกล้อง NCAPS คืออะไร? ทำไมคนที่จะเข้าไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติต้องกลัว! เพจเฟซบุ๊กประชาสัมพันธ์
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
 ระบุว่าเราไม่ได้ขู่...แต่เราทำให้เห็นถึงประสิทธิภาพของมันมาแล้ว


NCAPS คือ การนำเทคโนโลยี "ระบบกล้องเอ็นแคป" มาใช้โดยติดตั้งซุกซ่อนกล้องไว้ตามจุดเสี่ยงต่างๆในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งแต่ละจุดที่ตั้งกล้องนั้นอาศัยฐานข้อมูลภัยคุกคามจากการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ

“เมื่อกล้องเอ็นแคปดักถ่ายภาพได้ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าหรือคน ระบบจะส่งภาพแจ้งเตือนมายังระบบเครือข่ายศูนย์กลาง หากพบว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามแผนงานจนนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำผิดได้อย่างทันท่วงที”


“กล้องเอ็นแคป เป็นเทคโนโลยีใหม่ สามารถตรวจเฝ้าระวังได้ แบบเรียลไทม์ เหมือนมีผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ เราใช้คนอาจจะไม่รู้เลยว่าพวกตัดไม้จะมาเวลาไหน แต่ตัวกล้องจะไม่หลับ และเที่ยงตรงเสมอ ถ้าเห็นในกล้องปั้ป การจัดชุดเคลื่อนที่เร็วเข้าถึงจุดที่เจอจับได้ทันที”

ถือได้ว่าเป็นการตอบโจทย์การป้องกันรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรก่อนจะถูกตัดหรือถูกล่าได้อย่างมีประสิทธิ ภาพ หรือที่เราเรียกกันว่า "มาตรการจับก่อนตัด" จากเทคโนโลยีกล้องดักถ่ายภาพเพื่อข้อมูลอย่างแม่นยำยังมีอีกหลายเทคโนโลยีที่กำลังมีการศึกษาและพัฒนาระบบเพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานการลาดตระเวนเชิงคุณภาพของระบบ เช่น การใช้โดรน เครื่องบินเล็ก การขยายผลการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ทะเล การพัฒนาระบบแอพลิเคชั่น ร่วมกับสมาร์ทโฟนในระบบแอนดรอยด์ กล้องดิจิทัล และ GPS ระบบการส่งข้อมูลผ่านสัญญาณ WiFi ในภาคสนามผ่านระบบดาวเทียมเข้ามายังศูนย์ปฏิบัติการ


กำลังโหลดความคิดเห็น