xs
xsm
sm
md
lg

“ป่าชุมชนบ้านปง” จังหวัดแพร่ “สุดยอดการจัดการป่าแบบบูรณาการและยั่งยืน” คว้ารางวัลชนะเลิศป่าชุมชนตัวอย่างระดับประเทศ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลป่าชุมชนชนะเลิศ และรองชนะเลิศระดับประเทศ รวม 4 รางวัล พร้อมทั้งรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศประเภทป่าชุมชนดีเด่นด้าน “ป่าชุมชน รักษ์น้ำ รักษ์ป่า พัฒนาชีวิต” จำนวน 3 รางวัล ซึ่งในปีนี้ ป่าชุมชน บ้านกุดหมากไฟ จ.อุดรธานี ได้รับรางวัลชนะเลิศ
โครงการ คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2563 ความร่วมมือระหว่าง กรมป่าไม้ และ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประกาศผลการประกวดป่าชุมชนตัวอย่าง ประจำปี 2563 

ปรากฎว่า “ป่าชุมชนบ้านปง” จังหวัดแพร่ ได้รับรางวัลป่าชุมชนชนะเลิศระดับประเทศ ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพราะความเข้มแข็งและศักยภาพของชุมชนที่เชื่อมโยงการจัดการป่าเข้ากับความมั่นคงด้านอาหารและน้ำ คุณภาพชีวิตของชุมชน รวมทั้งมีความตระหนักในการป้องกันและตั้งรับปรับตัวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อดิศร นุชดำรงค์ อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ทุกวันนี้การขับเคลื่อนงานตามภารกิจของกรมป่าไม้ หัวใจสำคัญ คือ ความร่วมมือของพี่น้องประชาชน ซึ่งงานตามนโยบายของรัฐบาลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญๆ ที่กรมป่าไม้ต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ โครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า โครงการรวมใจไทยปลูกต้นไม้เพื่อแผ่นดิน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทย การแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนให้สามารถอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าได้ ตามนโยบายโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) การขยายการจัดตั้งป่าชุมชน เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุลและเกื้อกูลกัน และอีกหลายภารกิจ นับเป็นกลไกสำคัญของการดำเนินงานและการเสริมสร้างบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้สามารถดูแลรักษา สร้างกติกาและใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรในพื้นที่ของตนได้อย่างสมดุล คงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรให้คงอยู่อย่างต่อเนื่อง


“ตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 นับเป็นของขวัญที่รัฐบาลมอบให้พี่น้องประชาชน และเปิดโอกาสให้ประชาชน เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วม ทั้งระดับนโยบาย ระดับจังหวัด และระดับชุมชน นอกจากนี้ สมาชิกป่าชุมชนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง ยังทำหน้าที่เป็น “เจ้าหน้าที่ป่าชุมชน” เปรียบเสมือนเป็น “ป่าไม้ชาวบ้าน” ช่วยกันดูแลรักษาป่า ดังนั้น การประกวดป่าชุมชน นอกจากเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติ สร้างขวัญกำลังใจให้กับชุมชนในการดูแลรักษาป่าแล้ว ยังเห็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเป็นต้นแบบ สร้างแรงบันดาลใจให้กับป่าชุมชนในจังหวัดของตนเอง และพื้นที่ข้างเคียง ตลอดจนมีต้นแบบขยายผลความสำเร็จไปสู่การบริหารจัดการป่าชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นกลไกในการขยายการจัดตั้งป่าชุมชน และขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการจัดการทรัพยากรป่าไม้นำไปสู่กระบวนการพัฒนาประเทศบนฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป” อดิศร กล่าว

ด้าน กิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้สนับสนุนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ ป่าไม้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยได้ขับเคลื่อนร่วมกับกรมป่าไม้ ผ่านโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน เป็นเวลากว่า 13 ปี ปัจจุบันชุมชนมีความตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ด้วยการปกป้องและหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม เพิ่มการปลูกป่า บริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และมีการประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เป็นเครือข่ายเพื่อผนึกกำลังกันดูแล รักษา ฟื้นฟูป่าได้อย่างเข้มแข็ง ตลอดระยะเวลาดำเนินงานของโครงการฯ บริษัทฯ ได้สนับสนุนป่าชุมชนด้วยรางวัลในกิจกรรมประกวดป่าชุมชน รวมจำนวน 1,828 แห่งทั่วประเทศ เป็นมูลค่ามากกว่า 30 ล้านบาท ซึ่งแต่ละป่าชุมชนได้นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการป่าให้อุดมสมบูรณ์และยั่งยืน

“บริษัทฯ ขอขอบคุณป่าชุมชน 1,525 แห่งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในปีนี้ และขอแสดงความยินดีกับ 145 ป่าชุมชนที่ได้รับรางวัล ซึ่งถือเป็นป่าชุมชนที่มีการบริหารจัดการป่าอย่างมีแบบแผน มีการ ผสานวิทยาการสมัยใหม่และภูมิปัญญาท้องถิ่น ทุกภาคส่วนแข็งขันร่วมกันปกป้องดูแลฟื้นฟูป่าจนมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ดิน น้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งยังคำนึงถึงการใช้ประโยชน์บนหลักความพอเพียงและยั่งยืน บริษัทฯ เชื่อมั่นในพลังของชุมชน ซึ่งจะเป็นเกราะที่แข็งแกร่งคุ้มกันป่าไม้ ช่วยพลิกฟื้นผืนป่าให้อุดมสมบูรณ์และยั่งยืน ขยายแนวคิดจิตสำนึกการอนุรักษ์ป่าไม้ในกับสังคม อีกทั้งยังเป็นกำลังสำคัญสนับสนุนภารกิจการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกรมป่าไม้สัมฤทธิ์ผลด้วย” กิจจา กล่าว

ป่าชุมชนบ้านปง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ คว้ารางวัลป่าชุมชนระดับประเทศ

ป่าชุมชนบ้านกุดหมากไฟ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี คว้ารางวัลดีเด่นเฉพาะด้าน “ป่าชุมชน รักษ์น้ำ รักษ์ป่า พัฒนาชีวิต”
สำหรับ ป่าชุมชนบ้านปง ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศปีนี้ มีพื้นที่ป่าชุมชน 3,330 ไร่ ปัญหา “ภัยแล้ง” เป็นแรงผลักดันให้ชุมชนจับมือกันพลิกฟื้นผืนป่านับจากปี 2548 จนปัจจุบัน ป่าผืนนี้ได้รับการฟื้นฟู พัฒนาและปกป้องจนเป็น “ป่าต้นน้ำ” ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอุดมสมบูรณ์วัดจากจำนวนนกยูงในป่าที่เพิ่มขึ้น ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแก้ปัญหาป่าแล้ง ด้วยการประยุกต์ระบบน้ำหยดที่ทำจากกระบอกไม้ไผ่ให้ต้นไม้ในป่า นำ “ศาสตร์พระราชา” เศรษฐกิจพอเพียง และหลักการเข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา มาใช้เป็นแนวทางจัดการพัฒนาป่าชุมชนและแหล่งน้ำอย่างเป็นระบบ มีการสำรวจและวัดการเติบโตของต้นไม้ สำรวจลำห้วยและเส้นทางของน้ำ เพื่อจัดการการใช้น้ำสำหรับครัวเรือนและเกษตรกรรม ส่งเสริมการทำเกษตรแบบ “งูกินหาง” ฟื้นฟูและรักษาป่าด้วยแนวคิดยกป่ามาไว้ในบ้าน โดยให้ทุกบ้านปลูกไผ่ไว้กินหน่อ ส่งเสริมชุมชนผลิตไม้ซี่รั้วแทนไม้ตะเกียบเป็นการเพิ่มมูลค่า และส่งเสริมการ “เลี้ยงหมูหลุม” ด้วยซังข้าวโพด เพื่อแก้ปัญหาการเผาซังข้าวโพดที่สร้างฝุ่นควัน และขยะเศษอาหารของชุมชน นอกจากชุมชนจะมีรายได้เพิ่มจากการจำหน่ายหมูแล้ว ยังมีปุ๋ยอินทรีย์สำหรับทำการเกษตรและจำหน่ายด้วย

ส่วน ป่าชุมชนบ้านกุดหมากไฟ จ.อุดรธานี ได้รับรางวัลดีเด่นด้าน “ป่าชุมชน รักษ์น้ำ รักษ์ป่า พัฒนาชีวิต” มีพื้นที่ป่าชุมชน 500 ไร่ เป็นป่าผสมประกอบด้วยป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ไม้มีค่าสำคัญหลากหลายชนิด โดยเฉพาะไม้พยุง เป็นป่าต้นน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตชาวอุดรธานี ชุมชนตระหนักว่า “ป่าสมบูรณ์ คือกำเนิดของน้ำ” จึงมีการบริหารจัดการป่าอย่างเป็นระบบตั้งแต่การลาดตระเวน การฟื้นฟูป่า การสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของป่า การจัดทำแนวกันไฟ และบูรณาการความร่วมมือกับเครือข่ายป่าชุมชน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในการดูแลรักษาป่า และพัฒนาจนถึงการประเมินศักยภาพความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของป่าชุมชน น้ำที่ได้จากป่าชุมชนจัดการด้วยเครื่องมือ 3 อย่าง คือ ฝาย ห้วย และอ่างเก็บน้ำ ซึ่งน้ำส่วนหนึ่งจะใช้ในชุมชน อีกส่วนปล่อยไหลไปหล่อเลี้ยงชุมชนตามทางน้ำ จนจบที่เขื่อนห้วยหลวง เพื่อหล่อเลี้ยงผู้คนในจังหวัดอุดรธานี น้ำที่ไม่เคยแห้งเหือดจากป่าที่สมบูรณ์ทำให้ชุมชนมีน้ำอุปโภคบริโภค รวมทั้งทำการเกษตรตลอดปีและทุกปี ที่สำคัญยังช่วยให้ชุมชนที่นี่สามารถผลิต “มะม่วงสีทองนอกฤดู” ที่มีราคาสูงส่งออกต่างประเทศ และ “กล้วยหอมสีทอง” ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนอย่างมาก

สรุปผลการประกวดป่าชุมชนชนะเลิศระดับประเทศ ประจำปี 2563


รางวัลป่าชุมชนระดับประเทศ
•ป่าชุมชนชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รับเงินรางวัล 200,000 บาท คือ ป่าชุมชนบ้านปง อำเภอลอง จังหวัดแพร่
•รางวัลรองชนะเลิศระดับประเทศ จำนวน 3 รางวัล จะได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัลแห่งละ 100,000 บาท
-ป่าชุมชนบ้านปางสัก หมู่ที่ 12 ต.แม่เปิน อ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์
-ป่าชุมชนตำบลเจริญสุข หมู่ที่ 1, 12, 14 ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์
-ป่าชุมชนบ้านบางไทร หมู่ที่ 8 ต.มะมุ อ.กระบุรี จ.ระนอง

รางวัลดีเด่นเฉพาะด้าน “ป่าชุมชน รักษ์น้ำ รักษ์ป่า พัฒนาชีวิต”
•ป่าชุมชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ ป่าชุมชนบ้านกุดหมากไฟ หมู่ที่ 1 ต.กุดหมากไฟ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ซึ่งจะได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัลจำนวน 100,000 บาท
•รางวัลรองชนะเลิศ จำนวน 2 รางวัล จะได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัลแห่งละ 25,000 บาท ได้แก่
-ป่าชุมชนบ้านห้วยโป่งใหม่ หมู่ที่ 19 ต.ต้า อ.ขุนตาล จ.เชียงราย
-ป่าชุมชนบ้านวังไทร (บ้านถ้ำพระหอ) หมู่ที่ 6 ต.ถ้ำใหญ่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช

รางวัลป่าชุมชนระดับภาค
•จำนวน 4 รางวัล ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัลแห่งละ 30,000 บาท
รางวัลป่าชุมชนระดับจังหวัด
•จำนวน 67 รางวัล ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัลแห่งละ 25,000 บาท
รางวัลชมเชย
•จำนวน 67 รางวัล ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัลแห่งละ 10,000 บาท