xs
xsm
sm
md
lg

หยุดใช้ประโยชน์จากโลมา!! หาเงินจากกิจกรรมความบันเทิง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเปิดตัวสารคดีสั้น เปิดโปงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่หาประโยชน์จากโลมาในเม็กซิโกโดยเป็นการบันทึกภาพโดยอดีตครูฝึกโลมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเลี้ยงและฝึกโลมาที่เต็มไปด้วยวิธีที่โหดร้าย เพื่อสร้างความบันเทิงให้กับนักท่องเที่ยว



องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกพบว่า โลมาถูกใช้งานเหมือนเป็นกระดานโต้คลื่น ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ตึงเครียด ถูกรายล้อมไปด้วยนักท่องเที่ยวที่เสียงดังและกำลังมองหามุมถ่ายภาพเซลฟี่เพื่อลงโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ สภาพที่อยู่อาศัยก็คับแคบขาดอิสระ การว่ายวนเวียนอยู่ในสระน้ำแคบๆ เทียบไม่ได้เลยกับมหาสมุทรกว้างใหญ่ที่พวกมันควรได้เดินทางอย่างเสรี
โลมาต้องถูกบังคับให้การจำกัดอาหารเพราะเป็นวิธีการฝึกอบรมให้สามารถแสดงโชว์ต่อหน้าฝูงชนและรับอาหารจากนักท่องเที่ยวได้ แม้ว่าโดยธรรมชาติแล้วโลมาจะเป็นสัตว์นักล่าแต่กลับต้องกลายแสดงโชว์เพื่อขออาหารเป็นการตอบแทน
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกระบุว่า เม็กซิโกเป็นแหล่งเพาะพันธุ์โลมารายใหญ่ มีรายได้จากการโชว์โลมาสูงถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 15,000 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบัน สถานที่ท่องเที่ยวบางส่วนในเม็กซิโกเริ่มกลับมาเปิดทำการต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งหลังจากวิกฤติโควิด-19 แต่นักท่องเที่ยวน้อยคนนักที่จะรู้ว่าเบื้องหลังการโฆษณาที่สวยงามและภาพโลมาแสนน่ารักมีความโหดร้ายทารุณตลอดชีวิตของโลมาซ่อนอยู่

นิก สจ๊วต หัวหน้าฝ่ายแคมเปญโลมาระดับโลก องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า “เวลานี้เป็นโอกาสสำคัญในการปกป้องสัตว์ป่าที่ถูกใช้เพื่อความบันเทิง เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศกำลังหยุดชะงักและพยายามฟื้นตัว แต่ก่อนที่ธุรกิจจะมีโอกาสที่จะกลับเปิดตามปกติ เราอยากให้ธุรกิจเหล่านี้หยุดคิดว่า พวกเขากำลังกระตุ้นความต้องการให้สัตว์ป่าต้องถูกกักขังไปตลอดชีวิตเพื่อสร้างความบันเทิงให้นักท่องเที่ยวอย่างไร้มนุษยธรรม”

“รัฐบาลและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่า การท่องเที่ยวสามารถกลับมาเป็นแรงผลักดันในการปกป้องสัตว์ได้ โดยยุติการกักขังที่โหดร้าย ยุติการสนับสนุนการใช้สัตว์ป่าเพื่อความบันเทิงและการค้า เพื่อทำให้สัตว์ป่ารุ่นนี้เป็นรุ่นสุดท้ายที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการสร้างความบันเทิง ทางออกนี้เป็นสิ่งที่ดีทั้งสำหรับสัตว์ มนุษย์ โลกของเรา และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเอง”

งานวิจัยขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกพบว่า ปัจจุบัน ทั่วโลกมีโลมาในบ่อเลี้ยงกว่า 3,000 ตัว และเฉพาะเม็กซิโกประเทศเดียวมีโลมาในบ่อเลี้ยงประมาณ 240 ตัวในสถานที่ท่องเที่ยว 29 แห่ง เช่น Dolphinaris และ Dolphin Discovery เป็นต้น

โยลันดา อลานิซ ปาสินี ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์จาก Conservación de Mamíferos Marinos de Mexico (COMARINO)กล่าวถึงการทำงานเพื่อปกป้องโลมาในเม็กซิโกว่า “ปัจจุบัน เม็กซิโกมีสามกิจกรรมหลักที่สร้างความโหดร้ายกับโลมา คือ การแสดงโชว์เพื่อความบันเทิง การว่ายน้ำร่วมกับปลาโลมาซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างกำไรมหาศาล และการทำกิจกรรมบำบัดด้วยโลมา ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศและนักท่องเที่ยวที่จ่ายเงินเพื่อดูความทุกข์ทรมานของสัตว์”

“ในมุมมองของเรา ปัญหาที่น่ากังวลมานานคือการบังคับให้โลมาผสมพันธุ์ โดยที่สถานที่ท่องเที่ยวมีการขายน้ำเชื้อโลมาให้กับสถานที่อื่นๆ เพื่อจุดประสงค์ทางการค้า สะท้อนให้เห็นว่าฉากหน้าของภาพลักษณ์ที่สวยงามเป็นเรื่องหลอกลวง พวกเขาไม่ได้เพาะพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์ ไม่ได้ปล่อยสัตว์เหล่านี้สู่ธรรมชาติ หรือเพื่อโอกาสในการศึกษาเรียนรู้แต่อย่างใด พวกเขาใช้ประโยชน์จากโลมาเหล่านี้เพื่อหาเงินจากกิจกรรมความบันเทิงเท่านั้น”

นอกจากเม็กซิโก ชะตากรรมของโลมาตามสถานที่ท่องเที่ยวอยู่ในมือของผู้ประกอบการและรัฐบาลในอีกหลายประเทศ เช่น บราซิล คอสตาริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา และนอร์เวย์ ซึ่งประเทศเหล่านี้ต่างมีมาตรการที่เข้มงวดในการห้ามเลี้ยงและกักขังสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเลเพื่อความบันเทิง

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกร่วมกันยุติการค้าสัตว์ป่าทั่วโลก ซึ่งรวมถึงการใช้โลมาและสัตว์ป่าอื่นๆ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและความบันเทิง ตลอดจนเชิญชวนบริษัทท่องเที่ยวทั่วโลกให้คำมั่นสัญญาว่าจะดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสัตว์ป่า ยกเลิกการขายแพ็กเกจท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับความโหดร้ายทารุณต่อสัตว์ป่า แล้วหันมาส่งเสริมถสานที่ท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์ป่าแทน

ชมสารคดีสั้นเกี่ยวกับความโหดร้ายทารุณต่อโลมาในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ที่ https://www.facebook.com/WorldAnimalProtectionThailand/posts/3289623031086575

ร่วมลงชื่อเรียกร้องผู้นำโลกให้ยุติการค้าสัตว์ป่าทั่วโลกได้ที่https://www.worldanimalprotection.or.th/take-action/end-global-wildlife-trade-forever