แม่หมูสามในสี่ทั่วโลกใช้เวลาทั้งชีวิตอยู่ในกรงขังแคบๆ ซึ่งมีขนาดไม่ต่างจากตู้เย็นขนาดมาตรฐาน พวกมันขยับหรือแม้แต่จะกลับตัวยังไม่ได้ ทำหน้าที่เป็นเพียงเครื่องจักรในการขยายพันธุ์ วิธีการเลี้ยงเช่นนี้ได้สร้างความทรมานให้แม่หมูเป็นอย่างมาก แต่แม่หมูในประเทศไทยบางส่วนกำลังจะมีชีวิตที่ดีขึ้น พวกมันจะมีพื้นที่ได้เคลื่อนไหว เข้าสังคมกับหมูตัวอื่นๆ และได้แสดงออกพฤติกรรมตามธรรมชาติ ผ่านวิธีการเลี้ยงแบบรวมกลุ่ม
การพัฒนาสวัสดิภาพหมูในฟาร์มอุตสาหกรรม ไม่เพียงแต่จะทำให้หมูมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ยังหมายรวมถึงสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคด้วย เพราะเมื่อหมูมีสุขภาพที่ดี อัตราเสี่ยงต่อความเจ็บป่วยก็น้อยลง ทำให้ฟาร์มอุตสาหกรรมไม่มีความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างมหาศาลเหมือนในปัจจุบันเพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยของหมู ส่งผลให้ผู้บริโภคเองได้รับประทานเนื้อสัตว์ที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ลดการเกิดเชื้อซูเปอร์บักส์ (Superbugs) หรือแบคทีเรียที่มีฤทธิ์ต่อต้านยาปฏิชีวนะ ซึ่งเชื้อซูเปอร์บักส์นี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของมนุษย์ รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ตลอดเวลาที่ผ่านมาองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกไม่นิ่งนอนใจ พร้อมยังจับตาความก้าวหน้าต่อเนื่อง ด้วยการจัดแคมเปญเพื่อรณรงค์อย่างต่อเนื่องในโครงการเลี้ยงหมูด้วยใจ ผ่านสื่อต่างๆ ที่หลากหลาย ส่งผลให้เกิดแนวโน้มและความต้องการในการบริโภคเนื้อหมูที่มาจากฟาร์มที่ส่งเสริมสวัสดิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยมีผู้บริโภคร่วมลงชื่อสนับสนุนโครงการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการแชร์และแสดงความคิดในวงกว้าง ซึ่งกระแสที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ และติดตามความคืบหน้าในการปรับปรุงสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์ม ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงของการดำเนินธุรกิจในอนาคตของห้างค้าปลีกต่างๆ ในไทย แม้ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่บางแห่งได้มีการเปลี่ยนผ่านสู่เจ้าของธุรกิจรายใหม่ แต่องค์กรฯ หวังว่าห้างค้าปลีกชั้นนำแห่งนั้นจะยังสานต่อนโยบายด้านสวัสดิภาพสัตว์ผ่านพันธสัญญาต่อผู้บริโภค
ด้วยกระแสทั่วโลกที่มีความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งความกังวลในเรื่องโรคโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพยิ่งขึ้น ทางองค์กรฯ พร้อมที่จะนำเสนอข้อมูล องค์ความรู้ต่างๆ และแผนการดำเนินงานที่คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ ตลอดจนใส่ใจถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเสนอเพิ่มเติมต่อภาคธุรกิจอื่นๆ ที่ต้องการคำแนะนำในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตหมู เพราะความรับผิดชอบต่อสุขภาพของผู้บริโภคเป็นภารกิจสำคัญของการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน
นายโชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ฟาร์ม องค์การพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า “เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ห้างค้าปลีกทั้งสองแห่งได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการให้คำมั่นสัญญาต่อผู้บริโภคเพื่อพัฒนาชีวิตหมูในฟาร์มและเพื่ออาหารที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้นต่อผู้บริโภค นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่เราอยากให้ห้างค้าปลีกอื่นปฏิบัติตาม โดยเราจะทำการรณรงค์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง”
เดือนสิงหาคมนอกจากจะเป็นเดือนที่ผู้บริโภคและองค์กรฯ ได้ร่วมแสดงความยินดีกับจุดเริ่มต้นในการพัฒนาสวัสดิภาพแม่หมู ยังคงเป็นช่วงเวลาที่ผู้บริโภคต้องการทราบความคืบหน้าในการดำเนินงานจากห้างค้าปลีกทั้งสองแห่งตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้อีกด้วย
นายโชคดีกล่าวย้ำว่า “เราอยากให้ห้างค้าปลีกทั้งสองแห่งเปิดเผยข้อมูลความคืบหน้าในการดำเนินงานต่อสาธารณะ เพื่อแสดงความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค โดยเรายินดีที่จะให้การสนับสนุนในเชิงเทคนิค เพื่อให้มั่นใจว่าห้างค้าปลีกทั้งสองแห่งจะสามารถบรรลุคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ต่อผู้บริโภคได้”
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกขอชวนร่วมลงชื่อ ได้ที่ www.worldanimalprotection.or.th/mutilation/Raise-Pigs-Right เพื่อเรียกร้องไปยังผู้ผลิต ห้างค้าปลีก และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้หยุดการทรมานสัตว์ โดยการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ม เพื่อสัตว์ทุกตัว เพื่อเราทุกคน