xs
xsm
sm
md
lg

ข้อเสนอ แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ / วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา ซึ่งมีพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เป็นประธานได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม ทำการศึกษาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ว่าใครควรต้องทำอะไร เพื่อให้ความเข้มข้นของ ฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ ลดลงเหลือ 25.5 ไมโครกรัม/ลบ.เมตร ภายใน 5 ปี

เพื่อจะได้บรรลุเป้าหมาย ตามแผนปฏิรูปประเทศ ที่ตั้งใจกันไว้

ผลการศึกษาโดยคณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม ที่มีสว.ดร.บุญส่ง ไข่เกษ เป็นประธานพบว่า

สิ่งที่เเนะนำเร่งด่วนก่อนเลยคือ สองแหล่งกำเนิดฝุ่นของเมืองใหญ่


หมวดแรก จากท่อไอเสียของเครื่องยนต์ดีเซล หมวดนี้แนะนำให้จัดการดังนี้

1.เร่งนำน้ำมันดีเซลเกรดที่มีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm มาใช้เติมรถที่เข้ามาตรฐานยูโร 3 และยูโร 4 ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลทันที เพราะจะช่วยลดฝุ่นร้ายนี้จากปลายท่อไอเสียได้ระหว่าง 16-20%

2.ลดเวลาและลดพื้นที่ๆยอมให้รถดีเซลคันใหญ่ๆเข้าเขตประชากรหนาแน่น โดยอาจห้ามรถเลขท้ายทะเบียนคู่สลับกับเลขท้ายทะเบียนคี่ ไปก่อน ผลคือจะทำให้เหลือรถบรรทุกใหญ่ๆที่ใช้ดีเซลแล่นในเขตที่ประชากรหนาแน่นลงได้ครึ่งหนึ่งทันที จากนั้นค่อยนำไปสู่การห้าม 100%

3.เหลื่อมเวลาทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือให้สามารถทำงานจากนอกที่ตั้งสำนักงาน เพื่อลดการคับคั่งของการจราจร จากนั้นก็ชักชวนภาคเอกชนให้ทำบ้างเช่นกัน

4.ทำให้การจราจรเคลื่อนไหลดีๆ รถเล็กก็ปล่อยฝุ่นมากขึ้นในทุกความติดขัดของการจราจร ดังนั้น รถไฟฟ้า รถไฟขนส่งมวลชน การเดิน การใช้จักรยานก็จะมีส่วนช่วยในเป้าหมายนี้ (แต่ฟุตบาท และฝาท่อต้องดีด้วยนะ)

5.ถ้าพื้นที่ใดมีสภาวะฝุ่นถึงระดับวิกฤติ ก็ควรตัดสินใจใช้ มาตรา 45 ของพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2534 โดยจริงจัง อย่ามัวเงื้อง่าเชียว

6.ในระยะถัดไป ต้องเร่งลดสารกำมะถันโดยเฉพาะในน้ำมันดีเซลให้เหลือไม่เกิน 10 ppmให้หมด ก่อน 1 มกราคม 2567 ตามแผนที่เคยประกาศไว้

7.ใช้มาตรฐาน Euro VI สำหรับรถใหม่ขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุกสิ่งของหรือเป็นรถบัส รถเก็บขยะ รถดีเซลใหญ่ๆของหน่วยงานรัฐ และผลักดันใช้มาตรฐาน Euro6 ในรถใหม่ขนาดเล็ก เพราะจะมีประสิทธิภาพกำจัดมลพิษสูง ส่วนรถเมล์ก็ควรเปลี่ยนเป็นรถใช้ก๊าซธรรมชาติหรือใช้ไฟฟ้าให้ได้ทั้งหมดต่อไปด้วย

8.เพิ่มสถานีขนถ่ายสินค้าชานเมือง รองรับการห้ามรถบรรทุกดีเซลขนาดใหญ่แล่นเข้าพื้นที่ชั้นในของเมือง

9.ปรับแก้กฏกระทรวงตามพ.ร.บ.จราจรทางบก เพื่อห้ามรถที่ตรวจควันดำไม่ผ่านออกมาแล่นต่อจนกว่าจะซ่อมแก้ไข ไม่ใช่เพียงมีค่าปรับหนึ่งพันบาทแล้วปล่อยต่อไปเหมือนที่ผ่านมา ทำให้รถนั้นก็ยังแล่นปล่อยฝุ่นเกินค่าต่อไปเรื่อยๆ

10.ปรับปรุงวิธีตรวจวัดควันดำด้วยการใช้กล้องถ่ายจากระยะห่าง ซึ่งทำให้ไม่ต้องตั้งด่าน ไม่กีดขวางผิวจราจรและสามารถส่งข้อความตามไปแจ้งเจ้าของรถมาทำการตรวจวัดใหม่ได้ด้วย

11.กระชับช่วงเวลาที่เจ้าของรถต้องนำรถไปตรวจสภาพด้านมลพิษจากเกณฑ์ 7 ปี ให้ลดเหลือ 5 ปี และถ้าเป็นรถที่ใช้เพื่อการพาณิชย์ก็ยิ่งควรมีรอบการตรวจที่เร็วขึ้น

12.ใช้มาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมการใช้รถ และการผลิตที่ลดการปล่อยค่ามลพิษลงให้หลากหลาย ส่งเสริมการปรับปรุงรถเก่าไปเป็นรถใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ด้วยการอบรมช่างในพื้นที่ต่างๆให้ทำเป็น และลดอุปสรรคในการจดทะเบียนรถกลุ่มที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงแบบนี้ อันจะเป็นการลดปริมาณซากรถเก่าที่จอดทอดทิ้งให้น้อยลงไปได้ด้วย


ทีนี้ก็มีข้อเสนอแนะในหมวดที่สอง คือลดฝุ่นจากการเผาในที่โล่ง ข้อแนะนำในหมวดนี้มี 6 ประการ

1. ต้องพยายามลดการเผาขยะในที่โล่งเพราะถ้าท้องถิ่นจัดการไม่ทัน ไม่ว่าจะต้องช่วยพาให้มีระบบขนเก็บ การคัดแยกใช้ประโยชน์ และการกำจัดที่ถูกต้อง เผลอแผลบเดียวก็จะเกิดการเผา และถ้าหากไฟติดลามในกองขยะขนาดใหญ่เสียแล้วจะดับยาก แถมควันที่ได้จะเป็นพิษเสียอีกด้วย

2.เร่งรัดทุกท้องถิ่นทั้งในปริมณฑลและกทม. ให้ประกาศเทศบัญญัติท้องถิ่นเกี่ยวกับการเผาในที่โล่ง และดำเนินการบังคับใช้กติกาที่ออกโดยท้องถิ่นเหล่านั้น ด้วยการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงจุดความร้อนสนับสนุนและทำสถิติติดตามทุกวัน

3. ใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์และเกณท์ส่งเสริมการลงทุนจูงใจให้ทำเกษตรกรรมปลอดการเผา ดึงเอาเงื่อนไขปลอดการเผาตอซังมาใช้ในมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร (Good Agriculture Practicesหรือ GAP)

4. ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาและผลิตเครื่องกลในประเทศเพื่อใช้ในการเกษตร ที่ช่วยลดการเผา ไม่ว่าจะเพื่อเตรียมดินหรือเพื่อเก็บเกี่ยว

5.สำหรับกรณีที่ยังจำเป็นต้องมีการเผา ก็ควรมีระบบบริหารเวลา และจัดระเบียบการเผาชีวมวล มีการนำข้อมูลอุตุนิยม ทิศทางลม และการเคลื่อนที่ของหย่อมความกดอากาศมาประกอบการวางระบบ

6. สนับสนุนให้หน่วยงานที่ดูแลเขตทางอย่างกรมทางหลวง การรถไฟ และกรมทางหลวงชนบทมีระบบจัดการดูแลไม่ให้เกิดการเผาในเขตทางที่เข้มงวดขึ้น

ส่วนฝุ่นที่มาจากหมวดอื่นๆ ได้แก่จากโรงงานอุตสาหกรรมนั้น เน้นไปที่ค่ามาตรฐานน้ำมันเตา และหรือถ่านหินที่ควรลดปริมาณสารกำมะถันลง เพราะเมื่อสารกำมะถันถูกเผาจะกลายเป็นซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งพอถูกปฏิกิริยาเคมีในอากาศ มันจะกลายร่างใหม่ เป็นอนุภาคฝุ่นขนาดไม่เกิน PM 2.5

ตลอดจนควรมีการติดตั้งระบบอุปกรณ์ตรวจวัดการระบายมลพิษที่ปลายปล่องอุตสาหกรรมและกำหนดค่ามาตรฐานสากลที่จะยอมให้ปลดปล่อยได้

เคี่ยวเข็ญให้ทำแค่ที่เล่ามานี้นี้ก็ตาลายแล้วใช่มั้ยครับ? นี่แค่กรุงเทพปริมณฑลนะครับ ถ้าจะแก้ฝุ่นของต่างจังหวัด ต้องใช้แผนอีกชุดนึงเลย

ฝุ่น…ไม่ละเว้นใคร รวยหรือจนก็ต้องหายใจทุกคน

ไม่มีพรมแดน ไม่มีกลางวันกลางคืน ไม่มีละเว้นว่าใครจะอยู่อาคารสูงหรือไม่สูง เพราะฝุ่นจิ๋วพวกนี้ลอยตัวได้สูงเกินภูเขาและตึกระฟ้าและต่อให้มีเครื่องปรับอากาศ ฝุ่นจิ๋วพวกนี้ก็เล็ดลอดเข้าระบบจนได้ ต่างกันแค่ว่า หนาแน่นน้อยหรือหนาแน่นมากกว่ากันในแต่ละพื้นที่ และช่วงเวลา

สถิติในต่างประเทศโชว์ออกมาเรื่อยๆว่าฝุ่นมฤตยูนี้ทำให้คนเจ็บป่วย และอายุสั้นลง

ต้นไม้ ช่วยจับละอองฝุ่นไว้ได้ ฝนช่วยลดฝุ่นที่ล่องลอยในอากาศได้
ดังนั้น เราทุกฝ่ายจึงต้องช่วยกันลดภาวะโลกร้อน ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ไม่สนับสนุนเหตุแห่งการเผา และใช้พลังงานสะอาดให้สามารถทดแทนความคุ้นเคยเก่าๆให้ได้มากๆเท่านั้นครับ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา


กำลังโหลดความคิดเห็น