xs
xsm
sm
md
lg

ฝีกทักษะน้องเรียนรู้บริหารจัดการผลผลิตเกษตร สร้างความมั่นคงทางอาหาร “ในโรงเรียนและชุมชน”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ความมั่นคงทางอาหาร" เป็นประเด็นที่ทั่วโลกยกระดับความสำคัญโดยเฉพาะหลังผลกระทบวิกฤตโควิด-19 ในส่วนของประเทศไทย ทุกภาคส่วนตระหนักและให้ความร่วมมือในเรื่องนี้อย่างจริงจัง แม้แต่ในระดับของโรงเรียนที่มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ และทักษะพื้นฐานที่นำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียนผ่านกิจกรรมด้านการเกษตรอยู่ก่อนแล้ว

น้องๆ นักเรียนโรงเรียนวัดอริยวงศาราม (หนองน้ำขาว) ตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียน 150 คน จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีโอกาสได้เรียนรู้และฝึกทักษะงานด้านเกษตร จากการที่โรงเรียนเป็น 1 ใน 80 โรงเรียน ที่เข้าร่วม "โครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต" โครงการที่มุ่งมั่นมีส่วนร่วมส่งเสริมเด็กและเยาวชนไทยเข้าถึงอาหาร และยกระดับโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านโภชนาการและอาหารของชุมชน ซึ่งสนับสนุนโดยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ

ผลผลิตเห็ดนางฟ้าจากโรงเรือนเพาะเห็ด ผักบุ้งจีน ผักกวางตุ้ง และผักคะน้า จากแปลงผักบนดิน ถูกส่งเป็นวัตถุดิบเพื่อประกอบอาหารกลางวันของนักเรียน ผลผลิตเหล่านี้มาจากสถานีการเรียนรู้ 5 สถานีในโรงเรียน ประกอบด้วย สถานีแปลงผักบนดิน สถานีอุโมงค์ผัก สถานีเพาะเห็ด สถานีปุ๋ยหมัก และสถานีเลี้ยงไก่ไข่ ที่มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์บกราชบุรีของซีพีเอฟ นำขีดความสามารถขององค์กรและความรู้ในด้านการผลิตอาหารที่สะอาด ปลอดภัย มีคุณภาพด้านการเกษตรมาประยุกต์ใช้ ต่อยอดสู่ชุมชนที่สนใจประกอบวิชาชีพด้านการเกษตร


วันนี้..น้องๆ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ ปีที่ 6 ซึ่งได้รับมอบหมายให้ช่วยกันรับผิดชอบโรงเรือนเพาะเห็ด เก็บผลผลิตเห็ดนางฟ้าได้มากกว่า 10 กิโลกรัม ซึ่งมากกว่าทุกๆ วัน เด็กๆ นำผลผลิตส่วนหนึ่งส่งเข้าโครงการอาหารกลางวัน ที่เหลือนำใส่ถุงเพื่อจำหน่ายให้ผู้ปกครองนักเรียนและชุมชน ถุงละครึ่งกิโลกรัม ราคา 20 บาท ผลผลิตอีกส่วนหนึ่งนำมาแปรรูปเป็นเมนูต่างๆ เช่น เห็ดนรก เห็ดสวรรค์ น้ำพริกเห็ด เมนูที่เด็กๆ ได้เรียนรู้วิธีการทำมาจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านดอนกระเบื้อง

ความร่วมมือเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ยังมีหน่วยงานในพื้นที่ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี อาทิ เกษตรตำบลให้คำแนะนำเรื่องการปลูกผัก ปศุสัตว์ตำบลมอบอุปกรณ์ทำวัคซีนในการเลี้ยงไก่ สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดราชบุรีและหมอดินอาสาให้ความรู้การทำปุ๋ยหมักบำรุงดิน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านดอนกระเบื้องสอนเรื่องการแปรรูปอาหารเพื่อถนอมอาหาร เป็นต้น

ในด้านของซีพีเอฟนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เสริมกิจกรรมต่างๆ เช่น การให้น้ำเพาะเห็ดด้วยการติดตั้งระบบรดน้้ำอัตโนมัติควบคุมการทำงานด้วยความชื้น ในกรณีที่ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 80% ปั๊มก็จะทำงานโดยอัตโนมัติ ช่วยแก้ปัญหาก้อนเห็ดเน่าเสียไวจากการรดน้ำผ่านสายยาง และในวันหยุดที่ไม่มีคนรดน้ำเห็ด หรือในกิจกรรมปุ๋ยหมักซึ่งได้รับคำแนะนำจากปราชญ์ชาวบ้าน โดยที่ซีพีเอฟ ประยุกต์ใช้ท่อ PVC เจาะรูใส่ในกองปุ๋ย เพื่อที่จะไม่ต้องเสียเวลากลับกอง จากเดิมที่ต้องคอยกลับกองทุกๆ 7 วัน และกิจกรรมแปลงผักซึ่งซีพีเอฟช่วยวางระบบท่อ ติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมเวลาการทำงานของปั๊มน้ำ โดยตั้งเวลารดน้้ำครั้งละ 10 นาที ช่วงเวลา 08.00 น.และ 16.00น. เป็นต้น

ครูเอ็ม-คุณครูกุลชญา ชั้นเล็ก คุณครูผู้รับผิดชอบโครงการปลูกผัก เพาะเห็ด เลี้ยงไก่ไข่ และแปรรูปอาหาร เล่าว่า เด็กๆ ได้เรียนรู้ทักษะอาชีพจากการลงมือปฏิบัติจริงและนำไปใช้ได้จริง จากสถานีการเรียนรู้ทั้ง 5 สถานี ซึ่งมีซีพีเอฟและหน่วยงานในพื้นที่ให้การสนับสนุน โดยหลังเปิดภาคการศึกษา ทางซีพีเอฟได้นำก้อนเชื้อเห็ดชุดใหม่จำนวน 1,000 ก้อน ทดแทนก้อนเชื้อชุดเดิมที่หมดเชื้อ และไม่มีผลผลิตแล้ว รวมทั้งเข้ามาซ่อมแซมโรงเรือนเพาะเห็ดให้พร้อมอยู่ในสภาพที่ใช้งาน จากที่โรงเรียนเข้าร่วมโครงการซีพีเอฟ อิ่มสุข ปลุูกอนาคต ทำให้โรงเรียนผลิตอาหารได้เอง และสามารถจัดเมนูอาหารกลางวันที่มีวัตถุดิบจากผัก เห็ด และไข่ไก่เป็นส่วนผสม เช่น ต้มยำเห็ด ผัดเห็ด เห็ดทอด ยำเห็ด ต้มยำ บะหมี่น้ำ สุกี้น้ำ นักเรียนเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย จำนวนเด็กที่มีภาวะโภชนาการสมวัยตามเกณฑ์ คือ มีน้ำหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์มีแนวโน้มมีจำนวนเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ เด็กๆ ได้เรียนรู้การบริหารจัดการผลผลิต ไม่ให้มีผลผลิตเหลือทิ้ง หรือนำผลผลิตเห็ดที่เหลือมาแปรรูปอาหาร สร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ มีทั้ง เมนูเห็ดสวรรค์ เห็ดนรก และน้ำพริกเห็ด ขนาดจำหน่ายกระปุกละ 20 บาท และขนาดจำหน่าย 3 กระปุก ราคา 100 บาท ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของโรงเรียน จะถูกนำมาใช้ต่อยอดกิจกรรมและโครงการต่างๆ ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

ด.ญ.ชาลิสา มาแดง อายุ 12 ปี นักเรียนชั้น ป.6 ซึ่งเป็นประธานนักเรียน เล่าว่า หนูได้รับมอบหมายให้ช่วยดูแลรดน้ำผัก ดูแลโรงเรือนเพาะเห็ด เก็บผลผลิตเห็ด โดยจะแบ่งเวรกันกับเพื่อนๆ หนูเป็นเวรวันจันทร์และพฤหัสบดี เวลาที่ไปเก็บผลผลิตเห็ดก็จะมีเพื่อนๆ อีก 2 คนไปช่วยกัน เราแบ่งหน้าที่กันดูแลว่าในโรงเรือนมีเห็ดที่เน่าเสียหรือเปล่า ส่วนอีก 2 คนก็ช่วยกันเก็บผลผลิตเห็ด การที่พวกเราได้ร่วมรับผิดชอบดูแลโรงเรือนเพาะเห็ด ทำให้มีทักษะต่างๆ เช่น วิธีการเปิดปากก้อนเห็ด การแคะก้อนเห็ดและการเก็บเห็ดอย่างถูกวิธีที่นำไปใช้เป็นอาชีพต่อไปได้

ด้าน ด.ญ.กุลชา โชคชัยอัมรินทร์ หรือน้องแตงโม นักเรียนชั้น ป. 5 เล่าว่า เธอได้ช่วยพี่ๆ ชั้นป.6 เก็บผลผลิตเห็ด เก็บเห็ดที่เหี่ยวและเสียไปทิ้ง จากนั้นก็จะไปรดน้ำผักที่แปลงผัก เป็นกิจกรรมที่เธอได้รับมอบหมายให้ช่วยพี่ๆ ทุกวันอังคารและพุธ แตงโมบอกว่าพวกเราได้บริโภคผักปลอดสารที่สะอาด ปลอดภัยจากผักที่เราปลูกเอง และยังได้เรียนรู้เรื่องการถนอมอาหารจากผลผลิตเห็ด ซึ่งแตงโมมีหน้าที่ ล้างเห็ด หั่นเห็ด และทอดเห็ด นอกจากนี้ เห็ดสดที่แยกใส่ถุงขายให้กับผู้ปกครองและชุมชน นักเรียนต้องทำบัญชีรายรับและรายจ่ายแต่ละวันที่มีการจำหน่าย

วันนี้..น้องๆ โรงเรียนวัดอริยวงศาราม (หนองน้ำขาว) มีวัตถุุดิบที่ผลิตได้เองเพื่อนำไปประกอบอาหารกลางวันอย่างเพียงพอ และยังมีประโยชน์ไปถึงชุมชนได้บริโภคผลผลิตที่สะอาด ปลอดภัย แถมมีราคาถูกกว่าท้องตลาดอีกด้วย