วันนี้ ‘ประหยัด ปานเจริญ’ เจ้าของสวนผลไม้กว่า 80 ไร่ ในพื้นที่ชุมชนบ้านหัวอ่าว อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม หนึ่งในเกษตรกรอินทรีย์ต้นแบบของสามพรานโมเดล สามารถนำพาชุมชนทำเกษตรอินอินทรีย์จนประสบความสำเร็จ ล่าสุดได้รับคัดเลือกจากกรมการค้าภายใน เป็น “หมู่บ้านอินทรีย์” หรือออร์แกนิกวิลเลจ
“ย้อนหลังไปกว่า 10 ปี ก่อนจะก้าวข้ามเคมีได้ เราต้องฝ่าอุปสรรคกันนานมาก มาวันนี้เราอยู่อย่างมีความสุขด้วยการผลิตอาหารอินทรีย์ให้กับผู้บริโภค และยังมีโอกาสได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับสังคม ป้าเองถือว่าได้สร้างกุศลที่ยิ่งใหญ่แล้ว”
เสียงสะท้อนจากหัวใจของ “ประหยัด ปานเจริญ” ที่เคยตกเป็นทาสการทำเกษตรแบบเคมี จนเกิดหนี้สินมากมาย ก่อนตัดสินใจแบบหักดิบเคมีมาทำเกษตรอินทรีย์ และต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วน แต่ด้วย “หัวใจ” ที่มุ่งมั่น ในที่สุดเธอพาครอบครัว “ปานเจริญ” หลุดพ้นจากวงจรเคมี หวนคืนสู่วิถีอินทรีย์จนประสบผลสำเร็จ
เกษตรกรที่ต้องพึ่งพายาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมี นอกจากจะเป็นการซ้ำเติมให้เกษตรกรไทยเจ็บป่วยมากขึ้น ยังอาจจะก่อหนี้สิน หากว่าเกษตรกรรู้ไม่เท่าทัน และบานปลายจนกระทั่งสูญเสียที่ทำกินไปอีก
ป้าประหยัด คำเรียกที่คุ้นเคยของทุกคนในชุมชน เข้ามาสู่วิถีเกษตรอินทรีย์แบบเต็มตัว โดยเป็นหัวหน้ากลุ่มเกษตรอินทรีย์บางช้าง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม หนึ่งในสมาชิกของโครงการสามพรานโมเดล ซึ่งขับเคลื่อนโดยมูลนิธิสังคมสุขใจ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
เธอให้รายละเอียด ตั้งแต่วันที่เธอและครอบครัวเลือกเดินบนทางสายอาหารเคมี ว่าหลังแต่งงาน ก็ตัดสินใจทำอาชีพเกษตรเคมีแบบเต็มตัว ด้วยคิดว่า ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง จะช่วยทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น และได้ราคาสูงขึ้น แต่เมื่อหันหน้าเข้าสู่เกษตรเคมี ทั้ง บริษัทยา บริษัทปุ๋ย ก็เข้ามาชวนเชื่อ อวดอ้างสรรพคุณข้อดีจากผลิตภัณฑ์ กันครึกโครม หลายบริษัทเสนอเงื่อนไขพิเศษ ทั้งลดแหลกแจกแถม ทองคำเอย เครื่องใช้ไฟฟ้าเอย ทีวี วิทยุ รวมถึงรถมอเตอร์ไซค์ ที่ต่างหยิบยื่นให้ในฐานะลูกค้า แต่สิ่งตอบแทนเหล่านั้น แทนที่จะทำให้ครอบครัวเรากินอยู่อย่างสุขสบายมากขึ้น กลับยิ่งสร้างภาระทำให้เป็นหนี้เป็นสินเพิ่มขึ้นไปอีก
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต ป้าประหยัด เริ่มต้นขึ้นเมื่อมีโอกาสได้ทบทวน เปรียบเทียบวิถีเกษตร ที่เธอกำลังทำ กับการทำเกษตรแบบพึ่งพาธรรมชาติ ครั้งสมัยปู่ ย่า ทำนา ทำสวน ประกอบกับการแพ้สารเคมีของสามี และหนี้ธนาคาร 700,000 บาท ที่กู้มาซื้อยา ซื้อปุ๋ย ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะลด
“นั่งไตร่ตรองจนพบว่า ทุกข์ที่ตัวเธอและครอบครัวกำลังประสบ เหตุก็มาจากผลพวงการทำเกษตรเคมี ที่นับวันรายจ่ายเพิ่มทวีขึ้น ได้หารือคู่ชีวิตเพื่อหาทางออกให้หลุดพ้นห้วงแห่งทุกข์นี้ แม้แรกๆ สามีจะไม่เห็นด้วย แต่ป้าก็ตัดสินใจหักดิบ หยุดทำเกษตรเคมีทันที ทั้งที่ไม่รู้อนาคต”
“ตอนนั้นไม่มีทางเลือกอื่น เพราะถ้าเรายังขืนทำเกษตรเคมีต่อไป วันนี้เราคงไม่มีที่ให้ทำกิน เพราะไม่มีเงินส่งดอกเบี้ยให้ธนาคาร แต่ละเดือนๆ ต้องเสียเงินซื้อปุ๋ยเคมี ซื้อยาฆ่าแมลงจำนวนมาก หักลบแล้วแทนที่จะเหลือใช้หนี้ กลับต้องเป็นหนี้เพิ่มขึ้นอีก แถมสุขภาพก็จะยํ่าแย่ลง”
แม้อานิสงส์จากการหักดิบครั้งแรก จะไม่ทำให้รํ่ารวยทันตาเห็น แต่ป้าประหยัดบอกว่า อย่างน้อยที่สุดการทำเกษตรอินทรีย์ก็ไม่ทำให้เป็นหนี้มากขึ้น และกว่า 3 ปี ที่ลองผิดลองถูกท่ามกลางการจับตามองและเสียงดูถูกดูแคลนจากสังคมเกษตรเคมี
“ตอนนั้นกว่า 10 ปีมาแล้วนะ ปัญหาเรื่องตลาด และผู้บริโภคเองยังขาดความรู้เรื่องประโยชน์จากผักอินทรีย์ แต่ก็ไม่เคยท้อใจ และไม่คิดว่าจะหวนกลับไปทำเกษตรเคมีแบบเดิมนะ กระทั่งมีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการสามพรานโมเดล ภายใต้การนำของ คุณอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ สามพราน ริเวอร์ไซด์ และเลขาธิการมูลนิธิสังคมสุขใจ ที่เข้ามาช่วยเรื่องตลาดด้วยความจริงใจ และเป็นกระบอกเสียงสื่อถึงผู้บริโภคให้เข้าใจวิถีของเกษตรอินทรีย์ ทำให้เราเองมองเห็นถึงโอกาส มีกำลังใจและเชื่อมั่นในวิถีอินทรีย์มากขึ้น"
ช่วงต่อมาผลผลิตของป้าประหยัดและของสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งมีทั้ง มะม่วง มะพร้าวนํ้าหอม ฝรั่ง ชมพู่ ถูกส่งเข้าห้องอาหารของโรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ เพื่อไว้บริการสำหรับลูกค้า ส่วนหนึ่งเอาไปวางจำหน่ายที่ตลาดสุขใจ (วันเสาร์-อาทิตย์) และออกตลาดสุขใจสัญจรทุกเดือนไปตามย่านธุรกิจในเมือง อาทิ SCB สำนักงานใหญ่ SCG สำนักงานใหญ่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะฝรั่งจะขายดีมาก ทั้งแบบชั่งกิโลและคั้นนํ้าสดๆ สร้างรายได้แต่ละครั้ง 20,000-30,000 บาท เลยทีเดียว และเป็นช่องทางให้ป้าประหยัด ซึ่งเป็นเกษตรกรต้นนํ้า มีโอกาสได้สื่อสารกับผู้ซื้อ (ปลายนํ้า) โดยตรง
“ช่วงแรกๆ หลายคนพูดเหมือนๆ กันว่า ฝรั่งไม่สวยเลย แต่เมื่อลองได้ชิมแล้ว ทุกคนก็จะพูดเหมือนกันอีกว่า ฝรั่งอินทรีย์รสชาติหวาน กรอบ อร่อยกว่าฝรั่งที่เคยกิน ยิ่งผู้บริโภคเข้าใจ และสัมผัสวิถีอินทรีย์ หลายคนยิ่งเห็นคุณประโยชน์ของผัก ผลไม้อินทรีย์ และยินดีจ่ายโดยไม่ต่อรองราคาเลยสักคำ”
ป้าประหยัด บอกว่าอินทรีย์ไม่ได้เปลี่ยนชีวิต แต่วิถีอินทรีย์ทำให้ชีวิตของป้าไม่เป็นหนี้เพิ่มขึ้น และยังมีที่ทำกิน ที่สำคัญทำให้สุขภาพของคนในครอบครัวดีขึ้นด้วย สิ่งแวดล้อมก็ดี ทุกวันนี้ระบบนิเวศในสวนกลับมาสมบูรณ์ สังเกตได้ว่าแมลงบางชนิดซึ่งหายไปนาน อย่างหิ่งห้อย กลับมาอาศัยหมือนเมื่อสมัยก่อน
ทุกวันนี้ ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ที่ได้เพิ่มพูนจากโครงการสามพรานโมเดล ทำให้ป้าประหยัด มีองค์ความรู้มากพอจนเปิดสวนของตัวเองเป็นศูนย์เรียนรู้ พร้อมถ่ายทอดประสบการณ์ ให้ผู้ที่สนใจมาศึกษาด้วย “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านหัวอ่าว” หมู่ที่ 5 ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม แห่งนี้ ต่อมาช่วยสร้างแรงบันดาลใจ เติมความเชื่อมั่นในการทำเกษตรอินทรีย์ให้กับเกษตรกรที่เข้ามาสัมผัสและเรียนรู้
ปัจจุบันพื้นที่ 80 ไร่ ของ “สวนปานเจริญ” เต็มไปด้วยผลไม้ ทั้งฝรั่ง มะพร้าว มะม่วง และชมพู่ ที่ปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ ภายใต้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์นานาชาติ หรือ IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movements) และยังได้รับเครื่องหมายการันตีอาหารปลอดภัย จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทย (มกท.) จนล่าสุดได้รับคัดเลือกจากกรมการค้าภายใน เป็น “หมู่บ้านอินทรีย์” หรือออร์แกนิกวิลเลจ ของจังหวัดนครปฐม