xs
xsm
sm
md
lg

ชี้รอยเสือโคร่ง! เยือนบ้านเขาเขียว ประสาเสือรุ่นจึงคึกคะนองออกมาดูโลกกว้าง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ไม่ต้องทายให้เมื่อยว่าไหนเสือโคร่ง ไหนหมา รอยที่ถ่ายไว้เมื่อสายวันที่ 9 กันยายน ที่บ้านเขาเขียว เสือโคร่งรุ่น (ล่าง) น้องหมาไทยเต็มวัย (บน) ภาพถ่ายโดยทีมชุมชนคนขยันแห่งเขตฯ ห้วยขาแข้ง (น้องโอ๊ต จารุณี อัมพราม)
เมื่อวานนี้ (12 กันยายน 2563) เพจเฟซบุ๊ก ห้วยขาแข้งสืบสาน โพสต์อัปเดตสถานการณ์วันที่ห้าของหมู่บ้านเขาเขียว หลังจากการพบร่องรอยเสือโคร่ง และสุนัขชาวบ้าน 2 ตัว ที่ถูกลากหายไปในไร่ข้าวโพด ยังมีการเฝ้าระวังจากเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ร่วมด้วยทีมวิจัยเสือโคร่ง เนื่องจากไม่ใช่สถานการณ์ที่คุ้นเคย หรือเกิดขึ้นบ่อย ขณะที่เพจ Thailand Tiger Project DNP คาดการณ์จากรอยเสือว่าเป็นเสือโคร่งวัยรุ่น จึงแสวงหาพื้นที่เพื่อใช้หากิน สร้างครอบครัว

เส้นทางผ่านไร่ กลางหมู่บ้านเขาเขียว ด้านทิศเหนือ ไม่ไกลจากจุดที่เสือโคร่งออกจากป่าห้วยขาแข้งมาให้เห็น ภาพนี้ตอนต้นฤดูฝน ถั่วกำลังเก็บเกี่ยว ข้าวโพด มันสำปะหลังเพิ่งเริ่มปัก

หมู่บ้านภูเขาล้อม ภาพจากดาวเทียม Google Earth ที่แสดงถึงภูมิประเทศของหมู่บ้านขนาดกลาง พื้นที่หลายร้อยไร่ในวงล้อมของเขาเขียว ตอนเหนือ และเขาภักดี ถัดลงมาด้านซ้ายล่างของภาพ จุดที่เสือเข้ามา คือตำแหน่งเกือบเหนือสุดของหมู่บ้าน

เจ้าหน้าที่จากสำนัก 12 เขตฯห้วยขาแข้ง และทีมเขานางรำ สำรวจรอยริมไร่ข้าวโพดที่ตอนนี้สูงเกือบมิดหัวแล้ว ทำให้การติดตามร่องรอยค่อนข้างยาก
เหตุเกิดที่บ้านเขาเขียว วันที่เสือโคร่งมาเยือน

มันเป็นสถานการณ์ที่แปลกไปจากที่เคย ....
กองไฟลุกโชนกระจายไปทั่วตลอดแนวไร่ เรือนหลายหลังเปิดไฟตามไว้ทั้งคืน เหมือนมีงาน แต่บรรยากาศหัวค่ำนั้นกลับสงัด วังเวง ไม่มีแสงไฟรถเครื่อง หรือใครหน้าไหนออกมาเดินส่องไฟหาปลาหากบ

นี่คือบรรยากาศในวันที่ห้าแล้ว หลังจากพบรอยเสือโคร่ง ใกล้ไร่ข้าวโพดทางตอนเหนือของหมู่บ้านเขาเขียว นอกแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ถึง 1 กม.เศษ

แสงไฟ เป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ นั่นคือ ทำในสิ่งที่เสือโคร่งไม่ชอบ ....
ปกติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีแนวปฏิบัติ และทีมเจ้าหน้าที่พร้อมในสถานการณ์สัตว์ป่าออกมาหากินนอกพื้นที่อย่างเร่งด่วนอยู่แล้ว โดยมากก็เป็นช้าง หรือวัวแดง ซึ่งมักจะเห็นตัวกันได้จะจะ แล้วก็หาทางผลักดันให้กลับเข้าไปในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือมีมาตรการลดความเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่ง

แต่กับเสือโคร่ง ไม่ใช่สถานการณ์ที่คุ้นเคย หรือเกิดขึ้นบ่อย
นอกจากชุดลาดตระเวนของเขตฯ ที่เข้ามาช่วยหาทางผลักดัน และให้ชาวบ้านเบาใจ งานติดตามพฤติกรรมโดยทีมวิจัยเสือโคร่ง โดย ดร.อัจฉรา ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 12 และ สมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ และลูกทีมวิจัยเสือโคร่งมือดีที่สุดของเมืองไทย ก็ให้ความสำคัญ

นอกจากหมาของชาวบ้าน 2 ตัว ที่มีร่องรอยถูกลากหายไปในไร่ข้าวโพด ในคืนวันที่ 8 และ 10 กันยายน ที่ผ่านมาแล้ว รอยตีนที่ทิ้งไว้ ขนาด 7.5 ซม. ชัดเจนพอที่จะยืนยัน

บ้านเขาเขียว มีลักษณะที่ต่างไปจากหมู่บ้านอื่นในพื้นที่กันชนห้วยขาแข้ง โซนตะวันออก ในเขต ต.ระบำ อ.ลานสัก ก็คือ หมู่บ้านเป็นที่ราบ มีภูเขาล้อมไว้ทุกด้านเกือบ 360 องศา และประชิดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งตลอดแนวยาวเหนือ-ตะวันตก จรดใต้ สัตว์ป่าออกมาหากินตามแนวเขต เข้ามาตามชายหมู่บ้าน ก็เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี

แม้แต่เสือโคร่งเอง ก็มีร่องรอยอยู่ในป่ารอบนอกหมู่บ้านในช่วงเวลาที่ถูกรบกวนจากการหาเห็ดหนาแน่นทางด้านใต้แถวๆ ทุ่งแฝก ทับเสลา แต่ไม่เคยมีรายงานเสือโคร่งที่ห้วยขาแข้งเข้ามาถึงในเขตหมู่บ้าน ซ้ำยังจับหมาไปกินด้วย

อย่างน้อยก็ตั้งแต่แปรสภาพจากชุมชนถางป่าเป็นไร่ จนได้รับ ส.ป.ก.กว่ายี่สิบปีมาแล้ว
“ไม่เคยพบ” ไม่ได้แปลว่า ไม่มีทางเกิดขึ้น เพราะเป็นหมู่บ้านติดป่ามรดกโลกทางธรรมชาติ และเป็นป่ามรดกโลกที่ยอมรับว่าเป็นธนาคารพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต

ชาวบ้านเขาเขียวเองแม้จะไม่ได้ตื่นกลัว แต่ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวัง
และเป็นใครก็คงอยู่ไม่เป็นสุขได้ ถ้ารู้ว่ามีเสือมาซุ่มเดินอยู่แถวๆ หมู่บ้าน
แม้จะเป็นหมู่บ้าน ที่หลายปีก่อนเคยมีช้างป่าเข้ามาเดินอยู่กลางหมู่บ้านก็ตาม ตอนนี้ ชาวบ้าน บอกว่า
“ให้ช้างเข้ามา ยังดีกว่าเสือ”

มาตรการที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และทีมวิจัยใช้ปฏิบัติ นั้นนับว่าดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว คือ การลาดตระเวน เฝ้าระวัง และตรวจสอบหาทางผ่านเข้าออกเพื่อจะได้ผลักดันให้กลับคืนป่าโดยเร็ว พร้อมกับแจ้งหลักปฏิบัติที่ปลอดภัยกับชาวบ้าน โดยมีพื้นฐานมาจากการติดตามจนเข้าใจพฤติกรรมของเสือโคร่งในธรรมชาติที่ไม่ชอบการรบกวนจากเสียงดัง แสงไฟ เจ้าหน้าที่จึงมีทั้งโทรโข่ง และแนะนำให้ชาวบ้านก่อไฟ หรือเปิดตามไฟไว้ที่นอกบ้าน และงดการขับขี่จักรยานยนต์ในช่วงพลบค่ำ
“ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นเสือโคร่งตัวไหน”

หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ บอกสั้นๆ มีความจำเป็นต้องติดตามเพื่อเป็นข้อมูล เพราะไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น คือเสือโคร่งออกมาไกลจากแนวเขต และจัดการกับหมา

เราอาจจะคาดการณ์ไปต่างๆ นานา เพราะรู้เลาๆ ว่า ในโซนตะวันออกค่อนเหนือของเขตฯห้วยขาแข้ง จากเหนือสุดลงไปจนถึงทุ่งแฝก ทับเสลา เป็นเขตบ้านของเอื้อง เสือโคร่งตัวเมียที่มีลูกวัยใกล้ออกไปหาบ้านแล้ว 2 ตัว

แรงผลักดันตามสัญชาตญาณ ทำให้เสือโคร่งต้องเดินทางรอนแรมไปหาลู่ทางสร้างเขตบ้าน ตัวผู้อาจจะต้องไปหาไกลหน่อย และการรอนแรมหาบ้านของเสือหลายตัว ในหลายๆ ครั้งที่เคยเกิดขึ้น เส้นทางนั้นผ่านทั้งหมู่บ้าน ไร่ หรือแม้แต่ต้องข้ามถนนลาดยางด้วยซ้ำไป

เป็นไปได้ไหมว่า เจ้าตัวที่โผล่ที่เขาเขียว คือ ลูกของแม่เอื้องตัวใดตัวหนึ่ง

ทีมวิจัยเสือ ไม่ยืนยันใดๆ ในเรื่องนี้ อย่างน้อย ก็จนกว่าจะพบเห็นตัว มีหลักฐานแน่ชัด ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดก็จะค่อยๆ คลี่คลายลง ทั้งตัวตน ตลอดจนพฤติกรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นหนึ่งในข้อมูลของการศึกษาวิจัยเสือโคร่งในพื้นที่ที่นับวันพรมแดนของสิ่งมีชีวิตทั้งสอง คือ “เสือ” กับ “คน” ได้ขยับเข้ามาใกล้กันมากขึ้นทุกทีๆ

ขณะเดียวกัน มาตรการที่ใช้แก้ปัญหาในขณะนี้ก็มีความเป็นอารยะ อยู่บนฐานของวิชาการมากขึ้นอย่างน่าดีใจ
ในทางหนึ่ง แม้จะเป็น “เสือโคร่ง” ที่ใครๆ ก็ต้องกลัว แต่ก็อีกมีแง่มุม ในเชิงความผูกพันนั้นน่าสนใจทีเดียว ถ้าเจ้าเสือโคร่งตัวที่พบที่บ้านเขาเขียวในวันนี้ มีปูมหลังที่เรารู้จัก “สาแหรก” ที่มาของเธอว่า แท้ที่จริงก็เป็นผลผลิตจากความอุดมสมบูรณ์ของป่าห้วยขาแข้งของเรานั่นเอง

แม่เอื้อง และยายบุปผา ก็เกิดที่นี่ ไม่ใช่สัตว์ร้าย ไร้ที่มา พลัดหลงเข้ามาสร้างความเดือดร้อนให้กับมนุษย์ พร้อมด้วยมาตรการที่ดี และข้อแนะนำการปฏิบัติที่ปลอดภัยในสถานการณ์เฉพาะหน้า ....

บางทีเราไม่ได้หวังสูงเกินไปใช่ไหมว่า ชาวบ้านเขาเขียวเอง หรือใครก็ตาม .... การเผชิญหน้า ความรุนแรงระหว่างคนกับสัตว์ป่า แม้จะเป็นเสือโคร่งก็ตาม จะไม่เกิดขึ้นอีกแน่นอน .....

นี่ยังไม่นับว่า มีช่างภาพอยากถ่ายภาพเสือ สอบถามผ่านเพจเข้ามาหลายรายทีเดียวว่า เป็นไปได้ไหมหนอที่จะไปซุ่มถ่ายรูปเสือโคร่งสักครั้งหนึ่งในชีวิต!!!

สัตว์ป่าเหรอ ก็คุ้นกันดี ช้างป่าบ้าง วัวแดงบ้าง แต่เสือนี่ ขอที ... แนวรั้วกั้นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า กับแปลงที่ดินของชาวเขาเขียวด้านใต้สุด ช่วยอะไรไม่ได้ ถ้าพี่ช้างจะมาตอนหน้าแล้ง ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านหลายรายจึงค่อยๆ ปรับเปลี่ยนจากพืชไร่มาเป็นพืชอื่นที่ช้างไม่สนใจ

แนวไผ่ และดงป่าผลัดใบลิบๆ หลังกออัญชัญของบ้านป้าใจนี่แหละเป็นเขตป่าห้วยขาแข้ง ใต้ลงไปจากจุดนี้ไม่เท่าไหร่ที่เป็นทางผ่านเข้ามาของเสือรายนี้
ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก Thailand Tiger
Project DNP
โพสต์ถึงเรื่องนี้ว่า

“ตามประสาวัยรุ่น”
พฤติกรรมหนึ่งของเสือโคร่งเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น
คือการ แสวงหา พื้นที่ เพื่อใช้หากิน สร้างครอบครัว
ซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยรู้
จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หาก สื่อ จะบอกว่า
“ชาวบ้าน ผวา “เสือที่มาประชิดบ้าน

ได้มีโอกาสอธิบายตอบคำถามผู้บริหาร
ว่า รอยตีนเสือโคร่งที่พบที่ชุมชน
ที่มีขนาดความกว้างอุ้งตีนหน้าแค่ 7.5 ซม.
เจ้าของรอยควรเป็นเสือวัยรุ่น พเนจร
ที่ จร มา ตามประสาอยากรู้โลกกว้าง
อยากรู้ว่า นอกบ้านแม่ที่อยู่ประจำ
ยังมีตรงไหนที่จะมันจะปักหลักได้บ้าง

ผู้บริหาร คิ้วขมวด เลยเดาว่า ไม่เข้าใจ
จึงสำทับต่อไปว่า
ผอออ ลองนึกย้อนสมัยที่ท่านเป็นวัยรุ่นสิ
ว่า อารมณ์ ความอยากรู้ ความเฮี้ยว ขนาดไหน
ผอออ ขมวดคิ้วหนักกว่าเดิม อีก ครานี้
คงยกตัวอย่างผิดไปสิเรา
ฝั่งชายร่างดำที่อ้างว่าเป็นนักข่าว
ก็สงสัยสิ่งที่อธิบาย แล้วถามว่า
ในป่ามันไม่มีอะไรกินรึป่าว

ตอบไปว่า “หมา” ไม่ใช่อาหารหลักของเสือ
และโปรดช่วยย้ำในสาระข่าวให้ด้วยว่า
มันเป็นพฤติกรรมเสือวัยรุ่น
จบนะข่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น