xs
xsm
sm
md
lg

ทส. ปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ สืบสานพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดโครงการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ “ส่งสัตว์ป่าคืนวนา เพื่อป่าสมบูรณ์” ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธานในการอนุรักษ์สัตว์ป่าของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ร่วมด้วย จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ บริเวณทุ่งกะมัง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ

ทั้งนี้ เพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์แท้และเพิ่มความหลากหลายทางชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว มีสัตว์ป่าที่จะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้แก่ ละองหรือละมั่งพันธุ์ไทย จำนวน ๗ ตัว เนื้อทราย จำนวน 20 ตัว เก้ง จำนวน 10 ตัว นกยูงไทย จำนวน 23 ตัว ไก่ฟ้าพญาลอ จำนวน 200 ตัว และ ไก่ฟ้าหลังขาว จำนวน 100 ตัว รวมทั้งสิ้น 360 ตัว ซึ่งได้คัดเลือกสัตว์ป่าจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียว ที่มีสุขภาพสมบูรณ์เป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่และมีการเตรียมความพร้อมปรับสภาพให้สัตว์ป่าสามารถดำรงชีวิตในธรรมชาติได้ พร้อมทั้งได้เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจโรค การติดเครื่องหมายประจำตัวสัตว์เพื่อศึกษาและติดตามตัวและพฤติกรรมสัตว์ป่าหลังปล่อยคืนสู่ธรรมชาติด้วย


วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่พื้นที่แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จมาทรงปล่อยเนื้อทรายคืนสู่ธรรมชาติจนในปัจจุบันได้สืบต่อสายพันธุ์และกระจายออกไปมากขึ้น ซึ่งการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาตินอกจากจะเป็นวิธีที่จะช่วยอนุรักษ์สัตว์ป่าแล้ว ยังเป็นการให้อิสรภาพแก่สัตว์ที่เพาะเลี้ยงไว้ให้สามารถดำรงชีพได้ตามธรรมชาติ และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่ระบบนิเวศให้ผืนป่าแห่งนี้ต่อไป

ด้าน ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เป็นพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ทั้งที่เป็นสัตว์ป่าดั้งเดิมของพื้นที่และสัตว์ป่าที่เกิดจากการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ โดยเฉพาะเนื้อทรายที่อดีตเคยถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503 เนื่องจากไม่มีรายงานการพบในพื้นที่ป่าธรรมชาติ ซึ่งต่อมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์เนื้อทรายในกรงเลี้ยงจนสามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว โดยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในขณะนั้นดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงปล่อยเนื้อทราย จำนวน 4 ตัว และในปี พ.ศ.2535 ทรงปล่อยเนื้อทราย จำนวน 10 ตัว 

ที่สำคัญในปี พ.ศ.2530 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะนั้นดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามกุฎราชกุมาร ทรงปล่อยเนื้อทราย จำนวน 6 ตัว ซึ่งในปัจจุบันพบว่าเนื้อทรายที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัย สืบต่อสายพันธุ์และกระจายออกจากบริเวณที่ปล่อยไปยังพื้นที่ข้างเคียงมากขึ้น และยังได้มีการปล่อยเนื้อทรายในพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง จนเนื้อทรายถูกถอดชื่อออกจากบัญชีสัตว์ป่าสงวน ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติเพื่อฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่า หายากและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น