จากปัญหาที่พบในเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาซึ่งได้รับความเสียหายค่อนข้างมากจากโรคเหงือกเน่าในปลา โดยไม่มีวิธีการรักษา เป็นแรงบันดาลใจให้ สพ.ญ.สิริกร กิติโยดม นิสิตปริญญาเอก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พัฒนางานวิจัยเพื่อแก้ไขและป้องกันโรคเหงือกเน่าให้กับเกษตรกร
จึงเป็นที่มาของงานวิจัย “วัคซีนแช่นาโนแบบเกาะติดเยื่อเมือกต้านโรคเหงือกเน่าในปลา" ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศระดับดีเด่น และเหรียญทองจากการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา 2563 และรางวัลระดับดี การประกวดข้อเสนอโครงการนวัตกรรมสายอุดมศึกษา 2563 กลุ่มการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร จากการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2563 จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
สพ.ญ.สิริกร เปิดเผยว่าผลงานนวัตกรรมนี้เป็นความร่วมมือระหว่างคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาจากอาการเหงือกเน่าในปลา ซึ่งทำลายระบบการหายใจ ทำให้ปลาตายและเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก ซึ่งในขณะที่ปลาป่วย การใช้ยาหรือสารเคมีไม่สามารถช่วยรักษาปลาได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาวัคซีนเพื่อใช้ในการป้องกัน
สพ.ญ.สิริกร กล่าวถึงจุดเด่นของผลงานวิจัยที่ทำให้ได้รับรางวัลว่า เป็นนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ได้จริง
โดย กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา ซึ่งสามารถช่วยป้องกันและลดความเสียหายได้ อีกทั้งมีการใช้นาโนเทคโนโลยีมาพัฒนาทำให้สามารถใช้ได้ง่ายมาก เพียงแค่ใส่ลงไปในน้ำแช่ปลา 30 นาที ตัววัคซีนก็สามารถให้ผลในการป้องกันปลาจากโรคเหงือกเน่าได้ ซึ่งต่างจากวัคซีนปลาในรูปแบบเดิมที่จะต้องทำการฉีดให้กับปลาทีละตัว
“งานวิจัยนี้ช่วยพัฒนาในเรื่องของอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลา ช่วยลดความเสียหายกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา นอกจากนี้ยังทำให้ผู้บริโภคเนื้อปลาได้รับประทานปลาที่ไม่มีสารตกค้างจากการใช้ยาหรือสารเคมี โดยใช้วัคซีนป้องกันแทนการรักษาด้วยยาหรือสารเคมีต่างๆ รวมถึงยังช่วยในเรื่องของสิ่งแวดล้อมในเรื่องของน้ำเน่าเสียที่เกิดจากปลาตายด้วยโรคเหงือกเน่า และยังช่วยลดการใช้ยาหรือสารเคมีในแหล่งน้ำอีกด้วย” สพ.ญ.สิริกร กล่าว
สำหรับการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยในอนาคต สพ.ญ.สิริกร เผยว่าจะพัฒนาเพื่อให้สามารถนำวัคซีนชนิดนี้ไปใช้กับปลาชนิดอื่นๆ ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลา โดยมีภาคเอกชนได้ขออนุญาตนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลาขนาดใหญ่แล้ว นอกจากนี้จะพัฒนาวัคซีนเพื่อขยายให้ครอบคลุมไปถึงเชื้อ Aeromonas และ Streptococcosis เพื่อให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงปลามีวัคซีนป้องกันโรคได้ทั้งหมด ซึ่งในขณะนี้กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงปลากะพง ปลาสวยงามให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากในบ้านเรานอกจากปลาที่นำมาบริโภคแล้ว ยังมีการส่งออกปลาสวยงามต่างๆ อีกด้วย
สพ.ญ.สิริกร ฝากทิ้งท้ายถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ว่า “การวิจัยให้ประสบความสำเร็จต้องมีความตั้งใจ หลายครั้งที่ในการวิจัยต้องพบเจอปัญหาต่างๆ มากมาย ความตั้งใจเท่านั้นจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความสำเร็จได้ รวมถึงทีมงานร่วมวิจัยก็มีส่วนสำคัญที่จะให้งานราบรื่นและประสบความสำเร็จ”