xs
xsm
sm
md
lg

กูรูช้างไทยเปิดเวทีเสวนา “ก้าวใหม่ช้างไทยหลังภัยโควิด-19” ฝ่าวิกฤตช้างตกงาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลำปาง - คนวงการช้างทั่วไทยร่วมเวทีประชุมช้างแห่งชาติ-เสวนา “ก้าวใหม่ช้างไทยหลังภัยโควิด-19” หาทางแก้ปัญหาช้างตกงาน-สุขภาพช้าง

นายสุรัตน์ชัย อินทร์วิเศษ ผอ.สำนักสถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (คนกลาง) และคณะทำงานจัดงานประชุมช้างแห่งชาติ
นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้เปิดงานประชุมช้างแห่งชาติ 2563 ที่จัดขึ้นระหว่าง 20-21 ส.ค.นี้ ณ สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) โดยมีสัตวแพทย์ ควาญช้าง ปางช้างต่างๆ และผู้ที่มีส่วนร่วมและสนใจในการแก้ปัญหาเรื่องช้างของประเทศไทย เข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหาทางออกให้แก่ปัญหาช้างไทยที่กำลังเผชิญกับผลกระทบโควิด-19 และปัญหาเรื่องสุขภาพช้าง

นายสุรัตน์ชัย อินทร์วิเศษ ผู้อำนวยการสำนัก สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า งานประชุมช้างแห่งชาตินี้จะจัดขึ้นช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี เพื่อให้คนในวงการช้างได้มีโอกาสมาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยในปีนี้มีการจัดประชุมเสวนาและเวทีทางวิชาการเรื่องปัญหาสุขภาพช้างด้วย โดยได้รับความร่วมมือจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้สนับสนุนการจัดงานประชุมช้างแห่งชาติเป็นอย่างดีมาตลอดหลายปีแล้ว

น.สพ.ดร.ทวีโภค อังควาณิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ และ รศ.น.สพ.ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ร่วมจัดงานประชุมช้างแห่งชาติ 2563
และในงานประชุมช้างแห่งชาติ 2563 ยังได้จัดให้มีเวทีพูดคุยเรื่องของปัญหาที่เกิดจากวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้ส่งผลกระทบหลายๆ วงการทั้งในระดับชาติและระดับโลก ซึ่งวงการช้างไทยก็ได้รับผลกระทบที่รุนแรงเช่นกัน

น.สพ.ดร.ทวีโภค อังควาณิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ผู้ดำเนินการจัดงานประชุมช้างแห่งชาติ 2563 เปิดเผยว่า การประชุมช้างครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายให้คนที่รักและเป็นห่วงช้างไทยได้มีเวทีพูดคุยและหารือหาทางออกให้แก่ปัญหาช้างไทยในภาวะวิกฤตจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และสุขภาพ

ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะแก้ไขลุล่วงไปได้ในทันที ทุกอย่างคงไม่สามารถจะจัดการให้จบลงได้ภายในเวทีครั้งนี้ แต่จะเป็นการกรุยทางเพื่อการทำงานในการแก้ไขปัญหากันต่อไป เพื่อช้างไทยและชาวไทยทุกคน ซึ่งตนก็มีความหวังว่าในอนาคตวงการช้างไทยที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจะสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ไปได้ด้วยดี ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สามารถสร้างรายได้ที่เลี้ยงตัวเองได้ และสร้างคุณค่าทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม มโนธรรม เพื่อความสวยงามของวงการช้างไทยเราต่อไป

นายไกรสร เครือจันทร์ ควาญช้างผู้มากประสบการณ์แห่งสถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ
นายไกรสร เครือจันทร์ ครูฝึกช้างและควาญ สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ควาญผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับพฤติกรรมช้าง กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ทำงานเป็นควาญช้างมาตั้งแต่สมัยนำช้างไปรับจ้างทำไม้ในเขตรัฐฉาน พม่า (สาธารณรัฐสหภาพพม่า) จนมาเป็นครูฝึกช้างและควาญที่ อ.อ.ป.นี้ก็ไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงอย่างนี้มาก่อน กิจกรรมต่างๆ แทบจะหยุดชะงักไปหมด

แม้ว่างานในส่วนที่ตนทำอยู่ดูแล้วอาจจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรนัก เพราะ อ.อ.ป.เป็นรัฐวิสาหกิจ ต่างกับปางช้างเอกชนที่อาจจะมีการลดค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆ ซึ่งควาญช้างอาจจะต้องลำบากกันบ้างในช่วงนี้ ส่วนของตนที่เจอก็คือช้างทำงานที่นี่ก็ว่างงานลง จากที่เคยทำงานต้อนรับนักท่องเที่ยว ได้เดินออกกำลังกาย มีการทำงาน ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ทำให้ช้างมีสุขภาพกายและใจที่ดี แต่ช่วงที่ผ่านมาที่นักท่องเที่ยวผู้มาเยี่ยมชมหายไป ก็ทำให้ช้างมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ดูเงียบเหงาไปบ้าง

“ผมก็ได้แต่หวังว่าทุกอย่างจะกลับมาปกติดีในเร็ววัน หวังว่าเวทีการประชุมช้างแห่งชาติในครั้งนี้จะสามารถระดมความคิดนำพาไปสู่การแก้ปัญหาจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้เป็นอย่างดี”

มาลาตี จันทรเมธากุล ผู้ริเริ่มโครงการเคียงคู่ช้าง
นางสาวมาลาตี จันทรเมธากุล นักธุรกิจสาวผู้บริหารบริษัท แอสซิส อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ทำโครงการ Share for Chang เคียงคู่ช้าง องค์กรการกุศลเพื่อช่วยเหลือช้างไทย ซึ่งเคยจัดงานวิ่งเพื่อช้าง Share for Chang Half Marathon ฮาล์ฟมาราธอนเคียงคู่ช้าง หารายได้มอบแก่โรงพยาบาลช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ กล่าวว่า มาร่วมงานประชุมช้างแห่งชาติ 2563 นี้เพราะส่วนตัวรักและผูกพันกับช้าง รู้สึกเป็นห่วงมากในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ครั้งนี้ จึงได้มาร่วมประชุมเพื่อรับฟังแนวทางนำไปคิดต่อยอดช่วยช้างไทยต่อไป

ส่วนตัวเริ่มเข้ามาสู่วงการช้างเพราะเนื่องมาจากได้ติดตามข่าวสารเรื่องช้างป่วยต้องได้รับการรักษาตัวเมื่อหลายปีก่อน ก็รู้สึกเป็นห่วงจึงได้นำเงินส่วนตัวซึ่งเป็นเงินจากการทำธุรกิจไปมอบให้คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่โรงพยาบาลช้างของสถาบันคชบาลแห่งชาติที่นี่ และได้มีการติดต่อสื่อสารกันมาตลอด จนได้มาจัดกิจกรรมวิ่งฮาล์ฟมาราธอนเพื่อหารายได้มอบแก่สถาบันคชบาลแห่งชาติเพื่อรักษาช้างเจ็บป่วย ทำให้ได้มองเห็นปัญหาของช้างไทยในอีกหลายๆ มุม ทั้งในเรื่องของการโจมตีวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างไทยว่าเป็นการทารุณกรรมช้าง จึงอยากสร้างความรู้ความเข้าใจในจุดนี้ ซึ่งตนก็ได้มีการจัดทำเว็บไซต์เพื่อสื่อสารไปในวงกว้างทั้งในมุมของการช่วยเหลือช้างและให้ความรู้เกี่ยวกับช้าง ในชื่อ www.shareforchang.org

นางสาวมาลาตีกล่าวต่อไปว่า แม้ตนจะเป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ ของสังคมที่ทำงานเพื่อช้าง ซึ่งก็มีหลายหน่วยงานที่ช่วยกันดูแลช้างไทยอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องทีดี และได้มีโอกาสมาพบปะกันในงานประชุมช้างแห่งชาติในครั้งนี้ก็รู้สึกดีใจที่จะได้ร่วมกันทำงาน ขอเป็นฟันเฟืองเล็กๆ เพื่อที่จะทำงานช่วยเหลือช้างไทยของพวกเราชาวไทยต่อไป เพราะช้างเป็นสัตว์สำคัญ เป็นสัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทยเรา
กำลังโหลดความคิดเห็น