xs
xsm
sm
md
lg

อิเมจิน ไทยแลนด์ ผนึก สสส. ชวนศิลปินแห่งชาติ ปราชญ์ ปัญญาชน “ปลุกคุณค่าสังคมอายุยืน”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การเรียนรู้ร่วมกันจะนำไปสู่การถ่ายทอดภูมิปัญญา
จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีสัญญาณแสดงถึงการเป็นสังคมอายุยืน (longevity society) โดยจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในปี 2560 มีคนไทยมากกว่า 9 พันคนที่อายุมากกว่า 100 ปี และมากกว่า หนึ่งแสนหกหมื่นคนที่มีอายุระหว่าง 90-99 ปี ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ไม่ถูกมองเป็นภาระ แต่สามารถนำองค์ความรู้ ประสบการณ์อันยาวนาน มาใช้สร้างประโยชน์ให้สังคม และถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่

ซึ่งเป็นที่มาของการริเริ่ม “โครงการ ศิลปินแห่งชาติ ปราชญ์ ปัญญาชน สร้างพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเยาวชนเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง” โดยได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส)

ดร.อุดม หงส์ชาติกุล

ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน
ชวนศิลปินแห่งชาติ ปราชญ์ ปัญญาชน
สร้างพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเยาวชนเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง

ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางสังคม (ประเทศไทย) และผู้นำการขับเคลื่อน Imagine Thailand Movement เปิดเผยว่า เป็นที่น่ายินดี ที่ขณะนี้ มีศิลปินแห่งชาติ ศิลปินพื้นบ้าน ปราชญ์ ปัญญาชน และเยาวชน รวมกว่า 40 คน ได้ตอบรับมาร่วมโครงการ โดยต่างเห็นความสำคัญของการถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ การมีพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อให้เยาวชนห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่นเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด การพนัน หรือสิ่งเร้าต่างๆ ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาทางสังคม ตลอดจนปัญหาอาชญากรรม และอุบัติเหตุต่างๆ

ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน ศิลปินแห่งชาติด้านศิลปะการแสดงปี 2557 กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของเยาวชนคือ การไม่มีเพื่อน พ่อแม่ไม่มีเวลาไม่รู้จะเลี้ยงลูกอย่างไร ครูก็ไม่มีความทุ่มเทเหมือนสมัยก่อน ทำให้เด็กเหงา จึงอาจถูกชักจูงไปในทางที่ผิดและอันตรายได้ง่าย ทั้งยาเสพติด อุบัติเหตุ เด็กจำนวนมากยังค้นหาตัวตนไม่เจอ ไม่มีเวลาค้นหาเพราะมัวแต่ตามเพื่อนไปโน่นนี่ ทั้งที่จริงแต่ละคนก็มีความสามารถ ดังนั้นทำอย่างไร ประเทศไทยจะมีพื้นที่กลาง มี Community Center ในชุมชน ให้พวกเขามาเรียนรู้ด้วยกัน และมีผู้สูงอายุที่อยากทำประโยชน์ให้สังคมมาคอยช่วยส่งต่อ ถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ให้เขาเรียนรู้ฝึกฝน สร้างอาชีพได้
ด้าน ดร.ศักดิ์ ประสานดี ผู้อำนวยการมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้สูงอายุยังมีบทบาทช่วยเหลือเยาวชนน้อยมาก เพราะไม่มีเครื่องมือ หรือการสนับสนุนที่เพียงพอ ในส่วนตัวได้ไปสอนเยาวชนเรื่องการละเล่นพื้นบ้าน รำโนราห์ แต่ก็เป็นความพยายามแบบตามมีตามเกิด

ขณะที่ ดร.วินัย พันธุรักษ์ ศิลปินแห่งชาติ กล่าวว่า สังคมสมัยนี้เป็นสังคมที่มีความรุนแรงอันตรายมากขึ้น เราจะต้องช่วยกันปลูกฝัง หล่อหลอม แนะนำในสิ่งที่ดีงาม ในด้านประเพณี วัฒนธรรมที่ดีต่างๆ ให้ลูกหลานเรา ต้องแนะนำให้เขาเคารพกฏหมาย ไม่ทำในสิ่งที่ไม่สมควร มีจิตสำนึกรับผิดชอบ ซึ่งสามารถใช้เพลง หรือกิจกรรม มาเป็นสื่อโน้มน้าว ให้เยาวชนเห็นตัวอย่างที่ดี ได้ข้อแนะนำที่ดีได้

เช่นเดียวกับ ป้าหมี พัฒนกุล ทวีสาคร ปราชญ์ชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย ซึ่งเป็นห่วงเยาวชนเรื่องยาเสพติด ดีใจที่การถ่ายทอดภูมิปัญญาทำเรือกระทงจากกาบมะพร้าวหนึ่งเดียวของประเทศ ที่ตนสืบทอดมา ทำให้เด็กในชุมชนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ใครชอบ อยากทำเป็นอาชีพ ก็สอนให้ทุกขั้นตอน

สำหรับกิจกรรมแรกของโครงการคือ กิจกรรมห้องปฏิบัติการทางสังคม (Social lab) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 สิงหาคม เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ที่จะทำให้ทุกคนเห็นประเด็นปัญหา ความท้าทาย และโอกาสสร้างการเปลี่ยนแปลง และมาเชื่อมโยง หนุนเสริม มาเป็นเครือข่ายกัน ในการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเยาวชนเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง ซึ่งป้าประหยัด ปานเจริญ ปราชญ์เกษตรอินทรีย์ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านหัวอ่าว ตำบลบางช้าง จ.นครปฐม กล่าวว่า การเรียนรู้ข้ามศาสตร์ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์จะเกิดความรู้ใหม่ๆ “ถ้ามีปราชญ์สัก 10 คน เราก็จะได้มาอีก 10 เรื่อง เพราะว่าคนเรารู้ไม่เท่ากัน พอเราได้มาเจอกัน เราจะได้รู้เรื่องราวของแต่ละคน และอาจจะมีทางที่เราจะเดินต่อ เพื่อไปให้ความรู้กับคนรุ่นใหม่ได้ดีขึ้น”

ผู้สนใจมีส่วนร่วมโครงการศิลปินแห่งชาติ ปราชญ์ ปัญญาชน สร้างพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเยาวชนเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง” กับทาง Imagine Thailand Movement สามารถดูรายละเอียดได้ที่ Facebook: https://www.facebook.com/imaginethailandmovement/ หรือ ติดต่อส่วนงานสื่อสารสังคมฯ ที่เบอร์โทรศัพท์ 082-995-1415 หรือ Line @ : https://lin.ee/C17rI97

ดร.วินัย พันธุรักษ์

ป้าหมี พัฒนกุล ทวีสาคร