xs
xsm
sm
md
lg

“โครงการหวงแหนกระบี่” ผนึกทุกภาคส่วนร่วมปกป้องรักษา “ทุนธรรมชาติ” อันล้ำค่า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ - ล่องเรือหัวโทง
“โครงการหวงแหนกระบี่” ผนึกทุกภาคส่วนร่วมปกป้องรักษา “ทุนธรรมชาติ” อันล้ำค่า

จากวิกฤติระดับโลกอย่างการแพร่ระบาดของ “โควิด 19” ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้คนทั่วโลก

แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนทั้งโลกได้ประจักษ์คือ “ธรรมชาติ” ยังมีพลังที่จะฟื้นฟูตัวเองได้ เราได้หายใจในอากาศที่ดีขึ้น ได้เห็นท้องทะเลที่สวยงาม สัตว์ที่หายากกลับมาปรากฎตัว สิ่งที่เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้ กลับมาเป็นไปได้ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน

“จังหวัดกระบี่” นับเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีทุนทางธรรมชาติอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวติดอันดับโลกของทะเลฝั่งอันดามัน ประกอบด้วยแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่ที่มีความสำคัญต่อสิ่งแวดดล้อมที่โดดเด่น ล้ำค่า และมีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศที่หลากหลาย อีกทั้งวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นับเป็นสมบัติล้ำค่ายากจะหาสิ่งใดมาทดแทน จังหวัดกระบี่จึงได้ริเริ่มความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการและคนในชุมชนเพื่อร่วมกันปกปักรักษากระบี่ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน

ภาพ - พ.ต.ท.หม่อมหลวง กิติบดี ประวิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่
อย่างไรก็ตาม การรักษาสมดุลระหว่างการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์ทุนทางธรรมชาติ นับเป็นความท้าทายที่จังหวัดกระบี่ต้องเผชิญ จังหวัดกระบี่จึงผนึกกำลังทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการพัฒนาโมเดลธุรกิจการท่องเที่ยวที่สามารถสร้างความยั่งยืน และสร้างประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งทุกแนวปฏิบัติที่หน่วยงานต่างๆ ได้ริเริ่ม แสดงให้เห็นถึงการมีเป้าหมายร่วมกันคือ การรักษาทุนทางธรรมชาติของกระบี่ด้วยการปกป้องในวิถีแห่งความยั่งยืน และผลักดันให้จังหวัดกระบี่ก้าวสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกอย่างเต็มภาคภูมิ

เช่นเดียวกับ “โครงการหวงแหนกระบี่” (Cherish Krabi) ที่ต้องการสร้างจิตสำนึกและสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกระดับ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้เห็นความสำคัญของจังหวัดกระบี่ สร้างความเข้าใจและเชิญชวนสังคมร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจหวงแหนกระบี่ หาแนวทางอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ผ่านบทบาทของตัวเองเพื่อร่วมสร้างคุณค่าให้แก่แหล่งท่องเที่ยว ชุมชนวัฒนธรรมพื้นถิ่น และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ภาพ - หาดนพรัตน์ธารา
พ.ต.ท.หม่อมหลวง กิติบดี ประวิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า “กระบี่มีต้นทุนทางธรรมชาติที่ประเมินค่าไม่ได้ ทั้งสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้และที่มนุษย์สร้างขึ้น มีระบบนิเวศหลากหลายทั้งภูเขาและป่าอันอุดมสมบูรณ์ ทะเลสวยงาม ถ้ำและภาพเขียนโบราณ เป็นสิ่งที่คนกระบี่รักและหวงแหน อยากให้สิ่งเหล่านี้คงอยู่ไปนานๆ”

“ถามว่าในอนาคตอยากเห็นกระบี่เป็นอย่างไร ก็อยากเห็นกระบี่คงความสวยงามอย่างนี้ แต่มีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น เป็นระบบ มีมิติทางธรรมชาติ มิติทางวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม รวมถึงเพิ่มเรื่องความปลอดภัย การคมนาคมสะดวกและเอื้อต่อการท่องเที่ยว สิ่งที่เรากำลังมุ่งพัฒนาคือการบริการที่มีความคุ้มค่า ช่วยพัฒนาชุมชนเรื่องการให้บริการที่ดี ดูแลเหมือนญาติ เหมือนเพื่อน เพราะการเป็นเจ้าบ้านที่ดีเป็นหัวใจสำคัญต่อการจะขับเคลื่อนให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเกิดความประทับใจ และช่วยกันรักษาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของจังหวัดให้คงอยู่ได้อย่างยั่งยืน”

นายเนรมิต สงแสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา เล่าว่า “อุทยานแห่งนี้เปรียบเสมือนหลังคาของกระบี่ เป็นจุดสูงสุดของจังหวัด เป็นที่ตั้งของป่าต้นน้ำ แหล่งกำเนิดน้ำที่หล่อเลี้ยงคนกระบี่และจังหวัดใกล้เคียง พันธกิจของอุทยานมี 3 ส่วนงาน คือ การดูแลป้องกันอนุรักษ์ผืนป่า การศึกษาวิจัยพื้นที่ผ่านงานวิชาการ และการเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวนันทนาการ ซึ่งสามส่วนนี้ต้องทำงานสร้างความร่วมมือทุกส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่เป็นส่วนสำคัญเพราะชุมชนมีการตั้งถิ่นฐานก่อนการประกาศพื้นที่อุทยาน ต้องสร้างความเข้าใจ ทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ร่วมกันอนุรักษ์และร่วมกันรับผลประโยชน์”

ภาพ -  นายวรพจน์ ล้อมลิ้ม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี (บน) นายดำรงค์ และเหล็ม ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวประมงพื้นบ้านอ่าวน้ำเมาไร่เล (ล่าง)
“การหวงแหนกระบี่ก็เหมือนการหวงแหนทรัพยากรบนโลกใบนี้ เพราะกระบี่มีทรัพยากรที่เป็นตัวแทนเกือบทั้งหมดของประเทศ ทั้งภูเขาจนถึงทะเล นักท่องเที่ยวที่มาควรปฏิบัติตามข้อกำหนด มีหัวใจสีเขียว มาท่องเที่ยวเสมือนว่าพื้นที่นี้เป็นบ้านของเรา เราจึงจะรักและหวงแหน ไม่ทำลายทุนที่ธรรมชาติให้มา และมีทรัพยากรที่ใช้ประโยชน์ได้ต่อไปจนถึงคำว่ายั่งยืน”

นายวรพจน์ ล้อมลิ้ม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี กล่าวว่า ขอเชิญชวนทุกคนมาหวงแหนกระบี่ด้วยการท่องเที่ยวอย่างมีจิตสำนึก อุทยานฯ มีหน้าที่ดูแลและสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ และเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวให้ทุกคนทั้งชาวไทยและต่างชาติได้มาสัมผัส ทุกคนในฐานะเจ้าบ้านควรร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อให้ความสวยงามนี้คงอยู่ต่อไป

ภาพ - แหล่งท่องเที่ยว ท่าปอม คลองสองน้ำ (บนขวา) น้ำตกที่อุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา (บนซ้าย) ป่าชายเลน (ล่างซ้าย) ประมงพื้นบ้าน บ้านไหนหนัง (ล่างขวา)
ในส่วนของภาคชุมชนและผู้ประกอบการนั้นมีความเข้มแข็ง มีการประกอบอาชีพควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของจังหวัดกระบี่ตามบทบาทของตนเอง นายดำรงค์ และเหล็ม ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวประมงพื้นบ้านอ่าวน้ำเมาไร่เล บอกว่า “ผมเกิดที่นี่ จังหวัดกระบี่เป็นความภาคภูมิใจสำหรับผม เรือหัวโทงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของจังหวัดกระบี่ ทำให้ผมมีอาชีพที่ยั่งยืน ได้ทำมาหากินจนถึงปัจจุบัน เรือหัวโทงไม่ใช่แค่เรือโดยสารที่พานักท่องเที่ยวไปยังสถานที่ท่องเที่ยว แต่ทำหน้าที่สร้างความเข้าใจ ให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม และผู้ประกอบการเรือหัวโทงเองก็ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เก็บขยะระหว่างการเดินเรือ เพื่อดูแลให้จังหวัดกระบี่น่าอยู่ขึ้น ผมรักจังหวัดกระบี่และอยากให้คนที่มาเที่ยวช่วยกันรักและดูแลจังหวัดกระบี่ด้วย”

นายดลหล้อ เหมพิทักษ์ กรรมการประมงพื้นบ้านบ้านไหนหนัง เล่าว่า “บ้านไหนหนังคือพื้นที่ผสมผสานวัฒนธรรมไทย-มุสลิม แต่เดิมชื่อว่าสุไหงกาหนัง สุไหงหมายถึงคลอง กาหนังหมายถึงสุขสบาย เมื่อก่อนการทำประมงที่นี่ใช้เครื่องมือที่ผิดกฎหมายกันเยอะ มีการล่าปลาโดยใช้อวนรุน อวนลากที่ทำลายลูกสัตว์น้ำมากมาย จึงมาคิดถึงการอนุรักษ์ทั้งการประมงและป่าชายเลน มีการทำ “ชันชี” ภาษาชาวบ้านหมายถึงข้อตกลงการอนุรักษ์ที่ควบคู่กับการใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน ตั้งกติกาจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เช่น การกำหนดพื้นที่จับปลา การทำบ้านปลา การเปลี่ยนเครื่องมือหาปลา สร้างจิตสำนึกให้กับชาวบ้านในการช่วยกันหวงแหน เพราะที่กระบี่ไม่ใช่แค่ท้องทะเลที่สวยงาม แต่ยังมีการท่องเที่ยวชุมชน ความหวงแหนนั้นก็เกิดมาจากคนในชุมชนอยากเห็นสิ่งเหล่านี้คงอยู่ได้นานๆ ถ้าเราไม่อยู่แล้วลูกหลานต่อไปก็จะได้อยู่อย่างสุขสบายเหมือนชื่อบ้านไหนหนัง ต้องสร้างจิตสำนึกจากจิตใจ ในการอยู่ร่วมกัน มีผู้ให้และมีความเมตตาต่อกัน”

ภาพ -  นายเนรมิต สงแสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา (บนขวา) นายดลหล้อ เหมพิทักษ์ กรรมการประมงพื้นบ้านบ้านไหนหนัง (บนซ้าย) นายอนันต์ ข้อยี่แซ่ มัคคุเทศก์นำทางเส้นทางเรือคายัค อ่าวท่าเลน (ล่างขวา) นายสุธีร์ ปานขวัญ ประธานวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้ง บ้านไหนหนัง (ล่างซ้าย)
นายสุธีร์ ปานขวัญ ประธานวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้ง บ้านไหนหนัง เล่าว่า “ชุมชนแห่งนี้มีการเลี้ยงผึ้งในพื้นที่ป่าชายเลน เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน นอกจากการทำสวนยาง สวนปาล์ม และการประมง และร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง คำว่าหวงแหนนั้น ต้องมองให้ลึก เหมือนกลุ่มเลี้ยงผึ้ง เราต้องหวงแหนและดูแลทั้งทรัพยากร ชื่อเสียง และรายได้ 3 ส่วนตรงนี้ต้องทำไปพร้อมๆ กัน สิ่งที่เราทำวันนี้ ต้องคิดถึงคนที่มาทำต่อไปในวันข้างหน้า ถ้าวันนี้มีทรัพยากรนี้อยู่ ลูกหลานของเราก็ต้องมีทรัพยากรนี้อยู่เหมือนเดิม เวลาเราทำสิ่งต่างๆ นั้นผมอยากให้ทุกคนเอาสถานที่เป็นตัวตั้ง กระบี่เป็นบ้านเกิด กลุ่มเลี้ยงผึ้งก็เอาบ้านไหนหนังเป็นตัวตั้งและค่อยขยายออกไปจนถึงระดับประเทศ ถ้าเราตั้งค่าแบบนี้จะไม่มีอะไรขวางกั้นเราได้ หากเราเอาบุคคลเป็นที่ตั้ง เมื่อเราไม่พอใจกับบุคคลเราอาจหมดกำลังใจที่จะทำ ถ้าเราอนุรักษ์หวงแหนกระบี่ที่เป็นบ้านเกิดให้คงอยู่แบบนี้ไปตลอด กระบี่ก็จะเป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยว พูดถึงกระบี่แล้วจะนึกถึงความสุขสบายที่ได้มาเยือน”

นายอนันต์ ข้อยี่แซ่ มัคคุเทศก์นำทางเส้นทางเรือคายัค อ่าวท่าเลน เล่าถึงบทบาทของตนเองว่า “คนนำทางทำกิจกรรมพายเรือคายัคมีส่วนช่วยรักษาระบบนิเวศ กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวมีส่วนรักษาธรรมชาติ เวลาเราพายเรือไปเจอขยะหรือขวดพลาสติกก็เก็บกลับมาทิ้งที่ฝั่ง เพื่อให้ธรรมชาติสวยงามได้โชว์ให้ทุกคน ได้มาสัมผัส ได้มาเห็น เก็บเอาความประทับใจกลับไป คำว่าหวงแหนกระบี่นั้นไม่สามารถวัดได้หรือ บอกเป็นหน้าตาได้ ต้องเกิดจากความรู้สึกลึกๆ ภายในจิตใจ คือต้องเกิดความรักก่อน เมื่อคนเราเกิดความรักแล้ว เราจึงเกิดคำว่าหวงแหนขึ้นมา ไม่อยากทำลายและไม่อยากสูญเสีย จึงต้องรักษาไว้ นี่คือคำว่าหวงแหนครับ”

เพราะทุนที่ธรรมชาติให้กับพวกเรามา ถือเป็นสมบัติอันล้ำค่า เราทุกคนต้องร่วมกันหวงแหน ร่วมปกป้อง ด้วยบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน