ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรม กำลังสร้างบทบาทเด่นด้านการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมเชิงรุก รับไม้ต่อจากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ให้ดำเนินกิจกรรมจิตอาสา ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพน้ำ ในแหล่งน้ำสาธารณะและลุ่มน้ำสายหลักของประเทศ เพื่อให้โรงงานและชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน
กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าที่ดำเนิน 3 โครงการสำคัญ ได้แก่
โครงการ “จิตอาสาคลองสวยน้ำใสที่ลัดหลวง 10 คลอง เฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสพระราชพิธีบรมราชาภิรวจเษก"
โครงการ “จิตอาสาสำรวจ ออกแบบ จัดหา และติดตั้งชุดกรองน้ำเสียในคลองเปรมประชากร เฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “
โครงการ “จิตอาสาพัฒนาแหล่งน้ำสายหลักของประเทศ เฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “ เพื่อเทิดพระเกียรติเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิร เกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ครบรอบ 68 พรรษา
วรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสา ชี้แจงว่า ได้ร่วมบูรณาการกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักและคูคลองที่สำคัญของประเทศ เช่นในพื้นที่เทศบาลเมืองลัดหลวง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ได้จัดทำโครงการ “10 คลองสวยน้ำใส ร้อยด้วยใจจิตอาสา เทศบาลเมืองลัดหลวง”เป็นหนึ่งในโครงการนำร่องที่ประสบความสำเร็จ สามารถเป็นตัวอย่างขยายผลในพื้นที่อื่นต่อไป
ตลอดเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นเดือนพระบรมราชสมภพของรัชกาลที่ 10 กระทรวงอุตสาหกรรมจึงจัดกิจกรรมจิตอาสาทุกสัปดาห์ ในพื้นที่ คลองเปรมประชากร คลองแสนแสบ และคลองลำต้นไทร ในเขตกทม.และคลองสี่วามหาสวัสดิ์ ในจังหวัดสมุทรสาคร รวมทั้ง 10 ครองในพื้นที่เทศบาลเมืองลัดหลวง ที่สมุทรปราการ
นอกจากนี้ได้วางแผนทำโครงการ “ จิตอาสา รักษ์แม่น้ำ “ ในลุ่มน้ำที่มีน้ำเสียระดับวิกฤต และมีกลุ่มโรงตั้งอยู่มาก
ดังนั้นเพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จึงได้สั่งการให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทุกแห่งลงสำรวจพื้นที่ และนำเสนอเป็นโครงการจิตอาสา เพื่อดำเนินการอีกอย่างน้อย 12 จุดทั่วประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2564
ขณะเดียวกัน ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการจิตอาสา ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการมอบถังดักไขมันให้กับเทศบาลเมืองลัดหลวงนำไปแจกแก่ร้านค้าและครัวเรือนริมคลอง รวมทั้งการบำบัดน้ำเสียในคลองสาธารณะ ด้วยเครื่องบำบัดน้ำเสียเคลื่อนที่ โดยได้รับความช่วยเหลือด้านเทคนิคการจัดทำจากเครือ SCG
ส่วนที่จะดำเนินการเพิ่มเติมคือ การจัดทำและติดตั้งเครื่องดักจับขยะในคลองสาธารณะรวม 5 ชุดเพื่อลดปัญหาขยะที่ลอยมาตามน้ำ ป้องกันขยะไหลลงสู่แม่น้ำและทะเล ซึ่งแต่ละชุดสามารถรองรับขยะได้ 250 กิโลกรัม
ขยะที่เก็บได้เหล่านี้มีแผนที่จะจัดการตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน( Circular Economy ) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่า ที่สำคัญคือมีการรณรงค์สร้างจิตสำนึกการรักษาความสะอาดแม่น้ำลำคลอง ให้เกิดขึ้นในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
“ทั้งนี้ภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ติดคลองจะเป็นแกนนำ ที่จะทำให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น น้ำทิ้งจากโรงงานต้องมีคุณภาพดีกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เลิกทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงคลองจะมีการจัดกิจกรรม 5 ส เพื่อลดความเสี่ยงของขยะพี่จะหลุดลอดลงคลองสาธารณะ และทัศนวิสัยทางน้ำของ 10 คลองต้องดีขึ้นกว่าเดิม เราหวังให้เกิดความยั่งยืนด้วย” ผู้อำนวยการศูนย์จิตอาสากล่าวอย่างมั่นใจ
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ ยังมีการลงนามความร่วมมือระหว่างอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรม จังหวัดสมุทรสาคร และผู้บริหารโรงงานในพื้นที่คลองสี่วาพาสวัสดิ์และคลองสาขา จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 50 โรงงาน จะร่วมกันทำกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปัญหามลพิษในพื้นที่ และร่วมกันปลูกจิตสำนึก ให้ตระหนักในการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมค่านิยมการมีจิตสาธารณะ เพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อไป
นอกจากนี้ยังมีการจัดฝึกอบรมเครือข่ายในพื้นที่คลองสี่วาพาสวัสดิ์และคลองสาขา ในจังหวัดสมุทรสาคร ให้มีความรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมแก่ผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นกลไกเบื้องต้นในการฟื้นฟูคุณภาพน้ำ ของคลองต่างๆ
ข้อคิด….
เป็นที่รับรู้กันว่า กระทรวงอุตสาหกรรม พยายามส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ ให้พัฒนาสู่ความเป็น “ อุตสาหกรรมสีเขียว“ ( Green Industry ) คือมีการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตและบริหารจัดการให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืนพี่ต่อเนื่อง
ระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่มีสัญญาณที่ดีด้านการพัฒนา "ความเก่ง” ในการบริหารด้วยระบบที่ทันสมัยและมีผลประกอบการที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่มีปัญหา “ความดี" ที่สร้างผลกระทบทางลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นกลยุทธ์ 3 ประสานที่กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินโครงการ "จิตอาสา” จึงหวังว่าการสื่อสารในยุคดิจิทัล จะมีผลให้ความร่วมมือของภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม เกิดความตระหนักรู้เห็นความจำเป็น และนี่ไม่ใช่แค่การพูดจาภาษาดอกไม้ หรือเป็นเพียงกิจกรรมเพื่อให้ ”ดูดี”
โดยเฉพาะโครงการจิตอาสา ที่จุดประกายความคิดจากวาระที่เป็นมงคล เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เป็นการแสดงออกเชิง "ปฏิบัติบูชา"
ซึ่งจะส่งผลลัพธ์ที่ดีต่อกิจการในระยะยาว ยืนยันได้ว่าอุตสาหกรรมที่ดีสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนยังเป็นสุขและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน
suwatmgr@gmail.com