“เทคโนโลยี” และ “นวัตกรรม” เข้ามามีบทบาทชัดเจนมากขึ้น กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสกัดกั้นและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และอำนวยความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตของผู้คน ซึ่งในการต่อสู้กับโรคนั้น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้เป็นด่านหน้ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีอาวุธครบพร้อมรับมือ เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา รวมทั้งป้องกันความเสี่ยงไม่ให้ติดเชื้อจากการรักษาผู้ป่วย
“เอสซีจี” เป็นหนึ่งองค์กรที่พร้อมนำความเชี่ยวชาญ นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่มีอยู่ไปร่วมกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเร่งพัฒนานวัตกรรมป้องกัน COVID-19 ที่หลากหลาย ตอบโจทย์ และทันต่อความต้องการ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันได้อย่างดีที่สุด
จุดเริ่มต้นสร้างสรรค์นวัตกรรมที่อาศัยความ “เร็ว” แข่งกับ “เวลา”
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีให้ความสำคัญกับการพัฒนา “นวัตกรรม” มาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา มุ่งเน้นตอบโจทย์ให้ผู้บริโภคมีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้น แต่ในช่วงวิกฤต COVID-19 แพร่ระบาดรุนแรง ภาพที่เห็นคือ บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนักมากในการต่อสู้กับโรคระบาด ท่ามกลางความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทำให้โจทย์ของเอสซีจีเปลี่ยนไป หันมาคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ในทุกขั้นตอนการทำงาน เริ่มตั้งแต่การตรวจคัดกรองผู้ป่วย การตรวจหาเชื้อ จนถึงขั้นตอนการรักษา โดยยึดหลักต้องทำได้ “เร็ว” เพราะสถานการณ์ขณะนั้นเวลาเป็นสิ่งสำคัญมาก เชื้อโรคมีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว
“จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้ต้องทำงานแข่งกับเวลา เราคิดว่าถ้าหมอติดเชื้อใครจะดูแลผู้ป่วย โดยสิ่งที่เอสซีจีมีคือเทคโนโลยี ที่สำคัญความพร้อมของเราคือ ทำได้เร็ว แม้ค่าใช้จ่ายจะแพง แต่มองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ถ้าสามารถทำเรื่องนี้ได้เร็วกว่าคนอื่น ก็คิดว่าลองทำดูแล้วกัน จึงเริ่มต้นลงมือทำก่อให้เกิดนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อมาช่วยลดความเสี่ยงป้องกันไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ ซึ่งเรามีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพมาระดับหนึ่ง รู้จักบุคลากรด้านนี้พอสมควร และยังมีผู้เชี่ยวชาญช่วยเสนอแนะในการแก้ปัญหา รวมทั้งมีเทคโนโลยีอยู่แล้ว เมื่อทุกอย่างประกอบกันลงตัว จึงนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมห้องปลอดเชื้อ ห้องตรวจเชื้อความดันลบ หรือ Negative Pressure Chamber ผมเข้าใจว่าในเบื้องต้นคิดจะลองทำมอบให้โรงพยาบาลสัก 20 แห่งในกรุงเทพฯ แต่ตอนนี้กระจายไปหลายโรงพยาบาล” รุ่งโรจน์กล่าว
วชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Living Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวเสริมว่า “การทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็วนับจากได้รับไฟเขียวจากผู้บริหารของเอสซีจีก็ตั้งทีมขึ้นมาเดินหน้าทันที เพราะทุกคนรู้ว่าต้องแข่งกับเวลา เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้ากำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่อุปกรณ์สำหรับป้องกันมีไม่เพียงพอความต้องการ ทำให้ขวัญและกำลังใจมีปัญหา ยิ่งมีโอกาสได้เข้าไปเห็นการทำงานและพูดคุยกัน ทำให้เข้าใจสถานการณ์มากขึ้น คิดกันว่าจะต้องรีบทำให้เร็วที่สุด ถือเป็นการทำงานแบบ New Normal คือ ทำงานเร็วขึ้นจากปกติ โดยใช้เวลาไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ก็สามารถสรุปแบบได้ลงตัว จึงทำให้ภายในช่วงระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา สามารถผลิตและกระจายไปให้โรงพยาบาลได้ถึง 34 โรงพยาบาล”
ร่วมมือทำงานกับทีมแพทย์เพื่อ “เข้าใจ” ความต้องการตอบโจทย์ใช้งานได้จริง
นอกจากต้องทำงานให้เร็วแข่งกับเวลาแล้ว อีกหนึ่งหัวใจสำคัญคือ ต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานได้จริง ซึ่งต้องผสมผสานองค์ความรู้ทั้งทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และแพทย์ศาสตร์เข้าด้วยกัน โดย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การรับมือกับโรคระบาดนั้น หนึ่งสิ่งสำคัญคือ บุคลากรทางการแพทย์ต้องมีความพร้อม แต่ปรากฏว่าในช่วงวิกฤตโควิดอุปกรณ์ชุดป้องกันไม่เพียงพอ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีความเสี่ยงในการทำงาน ซึ่งเป็นจังหวะดีมากที่มีโอกาสไปบรรยายให้ผู้บริหารและบุคลากรของเอสซีจีฟังเกี่ยวกับโรคระบาด เพื่อให้เตรียมตั้งรับเศรษฐกิจที่ชะลอลง เพราะเห็นแล้วว่าเหตุการณ์นี้ยืดเยื้อไม่จบง่ายและหนักหน่วง รวมทั้งได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เรื่องพื้นที่การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ
“ในช่วงที่โควิดระบาดหนัก ผมคิดจิตนาการไปถึงกรณีฉุกเฉินเหมือนที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ว่าประเทศไทยพร้อมแค่ไหนหากต้องสร้างโรงพยาบาลพันเตียงอย่างรวดเร็ว คงมีบริษัทใหญ่ ๆ ไม่กี่แห่งที่ทำได้ และเอสซีจีเป็นหนึ่งในนั้น ตอนแรกยังนึกไม่ออกว่าจะให้เอสซีจีช่วยอย่างไร ผมไม่รู้หรอกว่าต้องสร้าง ต้องทำกันอย่างไร แต่บอกได้แค่ว่าทุกอย่างต้องประสานศาสตร์ร่วมกัน เพราะแพทย์ไม่รู้เรื่องวิศวกรรม ส่วนวิศวกรก็ไม่รู้เรื่องทางการแพทย์ บางอย่างจึงต้องอินทิเกรตเข้าด้วยกัน เมื่อได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันเห็นเลยว่า ต้องทำห้อง Negative Pressure เพราะต้องแยกคนไข้ติดเชื้อออกไปอยู่ในห้องที่อากาศออกมาไม่ได้ ตรงข้ามกับห้องปลอดเชื้อ หรือ คลีนรูม ต้องเป็นห้องความดันอากาศบวก หรือ Positive Pressure Room จะสลับกัน และผมให้ทีมเอสซีจีได้ไปเห็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในโรงพยาบาลว่าเป็นอย่างไร และจะพัฒนาต่อไปอย่างไร ซึ่งในอดีตการสร้างแต่ละห้องต้องใช้ระยะเวลา แต่ในยามวิกฤตทุกอย่างต้องรวดเร็วแข่งกับเวลา” ศ.นพ.ยงกล่าว
“ลงพื้นที่” พูดคุยเพื่อเก็บข้อมูลจากผู้ใช้งานจริง
วชิระชัย กล่าวว่า แม้จะเป็นหน่วยงานที่มีการพัฒนาเรื่องนวัตกรรมใหม่อยู่แล้ว แต่ในการทำงานก็ต้องขอข้อมูลจากอาจารย์หมอ ศึกษาเกี่ยวกับระบบการทำงานดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ ที่สำคัญมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากผู้ที่ต้องใช้งาน และเห็นภาพขั้นตอนการทำงานจริงตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็ต้องทำงานให้เร็วแข่งกับเวลา ซึ่งโชคดีที่หน่วยงานของเอสซีจีที่อยู่ภายใต้การดูแลมีอยู่หลากหลายหน่วยงานทำงานในลักษณะแตกต่างกัน แต่สามารถนำมาประกอบกันได้ เช่น ธุรกิจ Modular ก่อสร้างบ้าน SCG HEIM ได้รวดเร็ว ทีมศึกษาการควบคุมสภาพอากาศในอาคาร ทีมที่ปรึกษาอาคารเขียว รวมทั้งทีมสถาปนิกออกแบบเกี่ยวกับพื้นที่ต่างๆ ให้เหมาะกับผู้สูงอายุ มีโอกาสไปร่วมกับโรงพยาบาลมาแล้ว ทำให้การรวมตัวกันทำงานตามคำแนะนำของอาจารย์หมอ เช่น การกั้นแยกพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน การกั้นระหว่างผู้ป่วยกับบุคลาการทางการแพทย์ เป็นไปได้รวดเร็ว
“โชคดีที่ได้เจอและได้รับคำแนะนำจากคุณหมอยง ขณะที่เอสซีจีมีทีมงานที่รู้เรื่องทางด้านวิศวกรรม เรื่องการระบายอากาศ ซึ่งคุณหมอยงพูดว่าต้องใช้หลายศาสตร์มาผสมผสานกัน ไม่ใช่แค่ความรู้ด้านสุขภาพหรือการแพทย์อย่างเดียว พร้อมทั้งยังไม่รับการสนับสนุนอย่างดีจากคณะกรรมการของเอสซีจี เพราะให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ และออกนโยบายให้ร่วมมือและทำงานในรูปแบบเดียวกัน ทั้งในส่วนธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจเคมิคอลส์ และธุรกิจแพคเกจจิ้งที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน ทำให้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์ได้ง่ายและเร็ว ถือเป็นเรื่องที่ดีที่สามารถต่อยอดจากองค์ความรู้ที่คุณหมอแนะนำ มีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจหลายอย่าง สามารถส่งไปช่วยเหลือในต่างประเทศได้ด้วย” รุ่งโรจน์กล่าว
หัวใจสำคัญของการพัฒนานวัตกรรม คือ เทคโนโลยี และเข้าใจลูกค้า
รุ่งโรจน์ กล่าวถึงเส้นทางการพัฒนานวัตกรรมของเอสซีจีว่า เอสซีจีให้ความสำคัญกับการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) อย่างมาก มีการวางรากฐานไว้เป็นอย่างดี มีการทุ่มงบประมาณในการดำเนินงานร่วมกับมหาวิทยาลัยอย่างไม่จำกัดจนเริ่มรู้เรื่องเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์แล้ว อีกด้านหนึ่งก็ไปดูความต้องการจริงของคนใช้งาน เพราะบางทีการวิจัยอาจไม่ได้แก้ปัญหาได้ตรงจุด หรืออาจจะช้า ในช่วงหลังจึงเริ่มเข้าไปดูในศาสตร์เรื่องการตอบโจทย์ลูกค้า ซึ่งเมื่อมีประสบการณ์ในเรื่องเทคนิค เอนจีเนียริ่ง บวกกับสิ่งที่เรียกว่า customer centric คือ ความเข้าใจลูกค้าอย่างชัดเจน เมื่อสามอย่างมาประกอบกันก็ทำให้เกิดนวัตกรรมได้ มาถึงจุดนี้เอสซีจีได้พัฒนามาได้ระดับหนึ่งแล้ว
“ในช่วงโควิด เราได้เห็นหลายอย่าง โดยเฉพาะคำว่า Essential คือ สิ่งที่จำเป็นจริง ๆ โควิดเป็นตัวเปิดให้เห็นเรียลดีมานด์ หรือ ความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าคืออะไร โควิดยังเป็นตัวที่บอกว่าเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ผมคิดว่าเราทำด้านหนึ่งเชื่อว่าได้ประโยชน์กับสังคม แต่อีกด้านหนึ่งทำให้เรานำองค์ความรู้ตรงนี้กลับมาใช้ในการพัฒนานวัตกรรมของเราในอนาคต เราจะเข้าใจผู้บริโภคที่แม่นยำ ตรงจุดขึ้น”
ต่อยอดตอบโจทย์สังคมที่ท้าทายถัดไป
รุ่งโรจน์ กล่าวด้วยว่า การต่อยอดของเอสซีจี เพื่อตอบโจทย์สังคมหลังโควิดมองในเรื่องสุขภาพ และความเป็นอยู่ของผู้คน เพราะชัดเจนว่าสิ่งที่จะอยู่แน่นอนหลังโควิดผ่านไปคือ ความปลอดภัยด้านอาหาร และความเป็นอยู่ ซึ่งเอสซีจีคงจะเข้าไปรองรับอุตสาหกรรมด้านอาหาร หรือความเป็นอยู่ของผู้คนในเรื่องอาหาร เช่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหาร เพราะปัจจุบันคนสั่งอาหารออนไลน์มากขึ้น โดยการมาร่วมมือกันทุกหน่วยธุรกิจของเอสซีจีพัฒนานวัตกรรมป้องกันโควิด ทั้งธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจเคมิคอลส์ และธุรกิจแพคเกจจิ้ง ทำให้แต่ละธุรกิจมองเห็นเส้นทางที่กว้าง และชัดเจนมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะธุรกิจเคมิคอลส์ และธุรกิจแพคเกจจิ้งที่ต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คน ตอนนี้สามารถต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ที่สามารถนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นส่งไปช่วยเหลือในต่างประเทศด้วย นอกจากอาศัยองค์ความรู้ และรวดเร็วในการพัฒนานวัตกรรมแล้ว สิ่งสำคัญที่จะทำให้ประสบผลสำเร็จมากไปกว่านั้น คือการร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญนอกเหนือจากที่เอสซีจีมี เพื่อทำให้เกิด Open Innovation ซึ่งตรงนี้จะสามารถผลักดัน ทำให้นวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างรวดเร็ว และตอบโจทย์สังคมได้มากยิ่งขึ้นต่อไป
ด้าน ศ.นพ.ยง กล่าวเสริมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่มีประโยชน์มาก เช่น ห้องไบโอเซฟตี้ที่เป็น Negative Pressure ซึ่งห้องปฏิบัติการในในเมืองไทยยังมีแค่ระดับสามเท่านั้น แต่เอสซีจีมีความพร้อม มีความรู้เรื่อง Negative Pressure ระบบการระบายอากาศ อาจจะพัฒนาขึ้นไปถึงระดับสี่ในอนาคต ซึ่งจากประสบการณ์ครั้งนี้ เอสซีจีสามารถสร้างมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ เพราะส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะใช้บริษัทต่างประเทศ จึงเป็นเรื่องดีที่คนไทยสามารถผลิตเทคโนโลยีต่าง ๆ ขึ้นมาเองได้ และในอนาคตหากมีสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ไม่ว่าที่ไหนเอสซีจีก็จะเข้าไปมีบทบาทด้วย