‘ช้างป่า’ สัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนมที่กินพืช สำคัญยิ่งต่อระบบนิเวศของผืนป่าทุกแห่งในโลก แม้แต่ “มูลช้าง” หรือขี้ของเขาก็ยังเป็นอาหารต่อห่วงโซ่ให้กับสัตว์อื่นๆ รวมถึงประโยชน์คณานักต่อการฟื้นฟูป่าที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง เมื่อมูลช้าง คือแปลงต้นอ่อนชั้นดีของต้นอ่อน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ Weerasak Kowsurat เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงการอนุรักษ์ช้างป่า โดยอธิบายถึง “มูลช้าง” ว่าคือ เหล่าพืชผลของต้นไม้ที่ถูกย่อย แต่มักมีเมล็ดที่ยังย่อยไม่หมดติดออกมาด้วย
มูลช้างจึงเป็นแปลงเพาะต้นอ่อนชั้นดี ด้วยที่มีความชื้น มีโครงสร้างหลวมๆ มีธาตุอาหารที่อุดม เมื่อช้างย่ำผ่านป่าดิบจะทำให้เกิดทางป่าที่สัตว์อื่นๆ ได้ใช้เป็นเส้นทางกันต่อ
ป่าดิบฝนเขตร้อนชื้น มักมีต้นไม้หนาแน่นจนแดดส่องแทบไม่ถึงพื้น..ทำให้พืชแข่งกันส่งเรือนยอดขึ้นแย่งแดด ทำให้บ่อยครั้งลำต้นอ่อนบาง ไม่ทนลมแรง แต่ด้วยความสูงใหญ่ ช้างจึงเดินเบียดกิ่งที่สัตว์อื่นเอื้อมไม่ถึงจนหักเป็นทางทำให้พืชอื่นเข้าถึงแดดและได้พื้นที่โตใหม่บ้าง
ช้างจึงทำหน้าที่ปลูกและจัดกระจายพืชพรรณโดยการเดินกินไปเรื่อยๆ เมล็ดพันธ์ไม้ใหญ่ถูกทำให้มีรอยแตกเล็กน้อยด้วยฟันช้างระหว่างบดเคี้ยว หากเราเข้าใจว่าเมล็ดของไม้ยืนต้นหลายชนิดจะงอกได้ก็ต่อเมื่อมีการแตกของเปลือกหุ้มก่อน ธรรมชาติออกแบบให้แตกด้วยการตกจากต้นแม่สูงๆ เมล็ดที่เปลือกแข็งสมบูรณ์จะแทบไม่มีโอกาสงอก
คงเห็นว่า เวลาชาวบ้านจะปลูกไม้ยืนต้นใหญ่ๆ จึงเอาเมล็ดมาทุบๆก่อน เมล็ดที่ช้างกลืนผ่านลำไส้เท่ากับได้หมักไว้กับความอุ่นชื้นๆ ข้ามคืน เมื่อช้างกินแล้วก็เดินไปเรื่อยจึงส่งเมล็ดไปไกลจากต้นแม่ได้สบาย
ในช่วงฤดูฝน ดินนิ่มอ่อน หลุมรอยเท้าช้างจะยิ่งลึก มูลช้างที่มีเมล็ดพันธุ์พร้อมงอกตกลงในหลุม จะกักเก็บน้ำเอาไว้ในหลุมได้นานกว่าปกติ
เมื่อ เมล็ด+หลุม+กากใย+ ปัสสาวะซึ่งเป็นปุ๋ยยูเรีย + น้ำ = ต้นไม้งอกงาม
ในขณะเดียวกัน น้ำที่กักเก็บในหลุมเท้าช้างยังมักเป็นที่วางไข่ของแมลงต่างๆ เช่น แมลงปอ รวมถึงกบก็มาวางไข่จนเป็นลูกอ๊อด แม่กบบางตัววางไข่ในแอ่งน้ำเปิดและต้องแสงแดดทั่วไป หากโชคร้ายฝนทิ้งช่วง แอ่งแห้งลง ลูกอ้อดก็แห้งตายหมด
ส่วนลูกอ๊อดในหลุ่มเท้าช้างจะโชคดีเพราะอยู่ในที่ร่ม น้ำหนักย่ำแรงกดสูงจะขังน้ำได้ดีเหมือนหม้อดินเหนียวเก็บน้ำได้นานพอให้ลูกอ๊อดพัฒนาปอดและขาจนพร้อมกระโดดออกมาโตข้างนอกได้
ช้างป่า..จึงเป็นสัตว์เบิกทางให้ป่า ให้พันธุ์พืชและให้สัตว์อื่นอย่างสำคัญ
หมายเหตุ ช้างป่า ถือว่าเป็น “พี่ใหญ่” ผู้เบิกนำทางแห่งป่า ถ้าหากมนุษย์สามารถอนุรักษ์ช้างได้ ทุกคนก็จะสามารถอนุรักษ์สัตว์ได้อีกหลายชนิด รวมถึงช่วยฟื้นฟูป่าไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ สอดคล้องกับแนวทางของโครงการสิ่งแวดล้อมสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม ในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ (Bio Diversity) อันเป็นผลมาจากปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงระดับโลกอย่างประเทศออสเตรเลีย และป่าอเมซอน หรือแม้กระทั่งไฟป่าที่ภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งกลายเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ความแปรปรวนของสภาพอากาศทั่วโลก และคุณภาพชีวิตที่แย่ลงของสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะคน สัตว์ หรือพืช
ส่วนจำนวนช้างป่าในประเทศไทย ที่เป็นเรื่องยากที่จะนับจำนวนประชากรช้างป่า เพราะถิ่นที่อยู่อาศัยในป่า แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้ประมาณว่ามีจำนวนอยู่ที่ 2000-3000 ตัว