กว่า 60 ปี ที่อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นแรงผลักดันสำคัญของเศรษฐกิจไทย จากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า สู่การเป็นฐานการผลิต และเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกที่สำคัญของผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกจำนวนมาก
ความสำเร็จดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นโดยความบังเอิญ แต่เกิดขึ้นได้เพราะการวางแผนกำหนดทิศทางอย่างมียุทธศาสตร์ของภาครัฐ กอรปกับความสามารถและความร่วมแรงร่วมใจของภาคเอกชนที่ทำให้ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์ที่มีปริมาณการผลิตติดลำดับหนึ่งในสิบของโลก และเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของภูมิภาคอาเซียน
อย่างไรก็ดี มีคำกล่าวว่า “การเป็นที่หนึ่งไม่ยากเท่าการรักษาตำแหน่งที่หนึ่งนั้นไว้” ในขณะที่ประเทศไทยพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศ ประเทศเพื่อนบ้านต่างเร่งสร้างขีดความสามารถแข่งขันเพื่อต้องการเป็นที่หนึ่งแทนประเทศไทย เนื่องด้วยอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่การผลิตยาว อันจะก่อให้เกิดผลิตและบริการในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เกิดการจ้างงานและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล
ในขณะที่โลกของการผลิตและการค้าอยู่ในสภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ในอีกด้านหนึ่งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ กำลังเผชิญกับวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมอันเป็นผลจากใช้ทรัพยากรเพื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าว โดยการใช้งานยานยนต์เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิดก๊าซเรือนกระจกจนทำให้สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้ประเทศต่างๆ รวมทั้งผู้ผลิตยานยนต์ตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน รัฐบาลประเทศต่างๆ ประกาศมาตรการลดก๊าซเรือนกระจก โดยกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษและอัตราการใช้พลังานของยานยนต์ที่เข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ผู้ผลิตยานยนต์ได้พัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ให้ปลดปล่อยมลพิษต่ำและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
กับอีกทางเลือกสำคัญ คือการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ ยานยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อการขับเคลื่อน (Motor driven)
ดังนั้น เพื่อให้สอดรับการกับเปลี่ยนแปลงทั้งทางการแข่งขันทางการค้าและการรักษาสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยจึงมีนโยบายส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติให้อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ให้เป็นหนึ่งใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต จากนั้นในปี พ.ศ. 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และต่อมาภายใต้แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประเด็นด้านอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาให้มีการผลักดันการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบ ไปสู่อุตสาหกรรมยานนไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือพลังงานทางเลือกอื่นๆ โดยจัดทำแนวทางการพัฒนาต่อยอดจากฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของโลก
ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจากรถที่ใช้เครื่องยนต์ไปสู่รถที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งด้านการผลิต การใช้งาน โครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ปัจจุบันไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทำได้ไม่ง่ายนัก แม้ว่าจะมีความพยายามจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่ดำเนินการหรือมีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าแล้วก็ตาม
นอกจากนี้ เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ มิใช่มีเพียงยานยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงยานยนต์ที่สามารถเชื่อมต่อกับสิ่งต่างๆ (Connected vehicle) หรือยานยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตนเอง (Autonomous vehicle) ด้วย รวมทั้งแนวโน้มการใช้งานยานยนต์ของผู้คนจะเปลี่ยนไปสู่การใช้ยานพาหนะร่วมกัน (Shared mobility) มากยิ่งขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีนโยบายหรือแผนงานใดๆ ที่ครอบคลุม เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ทั้งหมดนี้ ซึ่งหากประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวได้ทั้งหมด จะสามารถลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ความแออัดด้านการจราจร ลดอุบัติเหตุ และช่วยทำให้ผู้คนสามารถเคลื่อนที่ไปยังที่ต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น เมื่อวันที่ 2 กันยายน ปีที่ผ่านมา สถาบันยานยนต์ ได้นำเสนอ “วิสัยทัศน์ประเทศไทยต่อยานยนต์อนาคต” ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน พร้อมนำเสนอมาตรการเพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย และดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ยานยนต์สมัยใหม่จะมีความซับซ้อนมากขึ้นกว่ายานยนต์ปัจจุบัน ทั้งในด้าน เทคโนโลยี ห่วงโซ่มูลค่า รูปแบบการดำเนินธุรกิจ การควบคุมและกำกับดูแล เป็นต้น และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศเป็นอย่างมาก การบรรลุเป้าหมายตามแผนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจำต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งต้องทำงานสอดคล้องและประสานกัน การจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งชาติจึงเป็นความสำคัญเร่งด่วนลำดับแรก เพื่อให้มีหน่วยงานที่คอยประสานงานและมีอำนาจในการผลักดัน ขับเคลื่อน และติดตามแผนงานฯ และประเมินผล เพื่อให้เป็นไปตามแผน
ข้อเสนอของสถาบันยานยนต์ดังกล่าวสอดคล้องกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผลให้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 38/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีการบูรณาการทำงานร่วมกันให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย
1) นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่มอบหมาย ประธานกรรมการ 2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรรมการ3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กรรมการ4) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กรรมการ5) ปลัดกระทรวงการคลัง กรรมการ6) ปลัดกระทรวงคมนาคม กรรมการ7) ปลัดกระทรวงพลังงาน กรรมการ8) เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรรมการ9) เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการ10) ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรรมการ11) ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กรรมการ12) นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กรรมการ13) นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ14) นายวีระเชษฐ์ ขันเงิน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ15) นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ16) นายยศพงษ์ ลออนวล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ17) ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรรมการและเลขานุการ18) ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ19) ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
โดยมีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้
1. กำหนดทิศทางและเป้าหมายในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง2. พิจารณาและให้ความเห็นชอบแผนงาน แผนปฏิบัติการ และโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวกับการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าให้สอดคล้องกันยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง3. บูรณาการและติตตามประเมินผลการตำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าตามแผนงานและกรอบแนวทางที่กำหนดไว้ รวมทั้งให้คำแนะนำ และให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้นโยบายการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรี4. แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการได้ตามความเหมาะสม5. ปฏิบัติภารกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive Industry Development Committee: AIDC) มาแล้วครั้งหนึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2512-2520 มีหน้าที่กำหนดนโยบายและวิธีการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่อการผลิตอย่างแท้จริง โดยมาตรการที่สำคัญคือการกำหนดปริมาณการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ ซึ่งส่งผลทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทานการผลิตชิ้นส่วนที่แข็งแกร่งกระทั่งปัจจุบัน ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ จึงจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งจะเป็นอีกจุดเปลี่ยนหนึ่งที่จะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยรักษาความเป็นผู้นำในภูมิภาคไว้ได้ และเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจไทยต่อไป
สถาบันยานยนต์ เตรียมเปิดห้องห้องปฏิบัติการทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ในปี 2564
สถาบันยานยนต์ในฐานะหน่วยงานหนึ่งซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีความสามารถแข่งขันในระดับสากล ได้เตรียมแผนการทำงานเพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล โดยภายในปี พ.ศ. 2563 เตรียมเปิดห้องปฏิบัติการทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ณ ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา
โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม และบริษัท ทูฟ ซูด จำกัด ห้องปฏิบัติการฯ แห่งนี้จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และประหยัดเวลา สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบยังต่างประเทศ โดยในระยะแรกสามารถให้บริการทดสอบแบตเตอรี่ได้ทันที 5 รายการ จาก 9 รายการทดสอบ ตามมาตรฐานสากล UNECE R100 ได้แก่ ชุดทดสอบความแข็งแกร่งของโครงสร้างชุดแบตเตอรี่ (Mechanical integrity Test) ชุดทดสอบการลัดวงจร (External short circuit protection) ชุดทดสอบระบบป้องกันการชาร์จเกิน (Overcharge protection) ชุดทดสอบระบบดิสชาร์จเกิน (Over-discharge protection) และชุดทดสอบการป้องกันอุณหภูมิเกิน (Over-temperature protection Test) และสามารถให้บริการทดสอบครบทุกรายการภายในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งจะทำให้เป็นห้องปฏิบัติการทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่สามารถทดสอบอย่างเต็มรูปแบบและครบวงจรที่สุดในอาเซียน
ไม่เพียงแต่จะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในประเทศสามารถผลิตสินค้าได้ตามมาตรฐานสากลเท่านั้น แต่ยังช่วยสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ของผู้ประกอบการในประเทศ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้อีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง ศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ แผนกวิจัยอุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์