xs
xsm
sm
md
lg

ส่อง 3 มุมมอง New Normal ทางการตลาดหลังโควิด-19 /ดร.เอกก์ ภทรธนกุล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานการณ์โควิด–19 ได้เข้ามาเปลี่ยนโลกธุรกิจและวิถีชีวิตคนไทยอย่างรุนแรง ทำให้เกิดเป็นความปกติใหม่ที่รู้จักกันในชื่อ New Normal ซึ่งไม่เพียงแต่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่หากมองในมุมมองการตลาด พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปก็คือความท้าทายใหม่ของธุรกิจเช่นกัน


หากผู้ประกอบการต้องการจะอยู่รอดในเกมธุรกิจหลังโควิด-19 New Normal ทางการตลาดก็ย่อมเป็นกุญแจสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม


'ดร.เอกก์ ภทรธนกุล' อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาด้านแบรนด์ที่มีชื่อเสียง ได้ให้ 3 มุมมอง New Normal ทางการตลาดที่คาดการณ์ว่าจะได้เห็นในอนาคต ไว้ดังนี้


1. การลดบทบาทของ Experiential Marketing
ทุกวันนี้ การตลาดยุคใหม่มักมาควบคู่กับ Experiential Marketing หรือ กลยุทธ์ในการเชื่อมสัมพันธ์กับลูกค้าโดยใช้ประสบการณ์เป็นตัวเชื่อม กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกร่วม เช่น การที่ลูกค้าเลือกดื่มกาแฟของ Starbucks แทนร้านอื่นที่มีราคาถูกกว่า เพราะแบรนด์ได้สร้างบรรยากาศร้านให้ลูกค้ารู้สึกอบอุ่น พนักงานในร้านมีความเป็นกันเอง ใส่ใจรายละเอียดของลูกค้า ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจต่อแบรนด์ เป็นต้น แต่เมื่อโควิด–19 อุบัติขึ้น ผู้คนต่างลดกิจกรรมที่ต้องใกล้ชิดกัน หลีกเลี่ยงการไปซื้อของที่ห้างหรือดื่มกาแฟที่ร้าน การสั่งสินค้าออนไลน์กลับหันมาเป็นที่นิยม นั่นส่งผลให้ Experiential Marketing หรือการตลาดเชิงประสบการณ์อาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้เพื่อสร้างคุณค่าให้กับสินค้าหรือบริการเหมือนที่ผ่านมา


2. สังคมปัจเจกชน (Individualism)
จากงานวิจัย “Geert Hofstede Cultural Dimension” ซึ่งแสดงถึงมิติความแตกต่างทางวัฒนธรรมและสังคมของแต่ละประเทศ ได้จัดอันดับความเป็นสังคมแบบกลุ่มชนนิยม (Collectivism) ของประเทศไทยไว้ในอันดับที่ 20 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนไทยชอบมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น นิยมอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และชอบพบปะสังสรรค์กัน แต่เมื่อโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้การรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เป็นสิ่งจำเป็น และเมื่อการสังสรรค์และงานสังคมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก ผู้คนก็ย่อมไม่มีความจำเป็นต้องใช้สิ่งของ อย่างรองเท้า กระเป๋า หรือนาฬิการาคาแพง ที่ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สถานะทางสังคม ดังนั้น การโฆษณาสินค้าโดยเน้นภาพลักษณ์หรือสถานะทางสังคมเป็นหลักอาจจะไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป


3. ผู้คนหันมาวางแผนอนาคต
ในปัจจุบันเป็นยุคแห่ง Generation Y หรือคนที่มีอายุระหว่าง 24 – 39 ปี ซึ่งจัดเป็นผู้มีพฤติกรรมแบบ Now – oriented คือ ชอบสร้างความสุขให้ตัวเองในทันที และไม่ลังเลที่จะซื้อความสุขให้ตนเองแม้ต้องแลกมาด้วยราคาแสนแพง จากพฤติกรรมนี้ ทำให้คนใน Gen Y ไม่มีเป้าหมายทางการเงินในระยะยาว และขาดการบริหารจัดการเงินที่ดี ด้วยความเชื่อว่าตนเองยังอยู่ในวัยทำงานและยังมีโอกาสในการสร้างรายได้อีกมาก อย่างไรก็ตาม วิกฤติครั้งนี้จะส่งผลให้คน Gen Y เริ่มกลับมามองชีวิตระยะยาวและวางแผนการใช้ชีวิตบนโลกที่เต็มไปด้วยความผันผวนไม่แน่นอน เช่น การหันมาลงทุนในธุรกิจที่เน้นประโยชน์ระยะยาว อย่างการฝากเงิน ประกันสุขภาพ ฯลฯ จึงส่งผลให้ธุรกิจเหล่านี้อาจมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นในอนาคต


หลังวิกฤตโควิด-19 สิ้นสุดลง New Normal จะเกิดขึ้นในทุกอุตสาหกรรมอย่างแตกต่างกัน ผู้ประกอบการจึงต้องหยิบประเด็นเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ จับตาทุกความเปลี่ยนแปลง และปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภค


ข้อมูลอ้างอิง เพจเฟซบุ๊ก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น