xs
xsm
sm
md
lg

9 สิ่งที่ผู้นำในภาวะวิกฤต ไม่ควรทำ!!! / ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในภาวะที่สังคมโลกต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นแบบไม่คาดคิดมาก่อน โดยเฉพาะกับภาวะวิกฤตไวรัสโคโรนา หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ โควิด-19 โรคระบาดที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและอยู่เหนือการควบคุมของมนุษยชาติอย่างในปัจจุบันนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์นี้ทำให้เราได้เห็นภาวะผู้นำและวิสัยทัศน์ ของผู้นำทั่วโลกผ่านการบริหารประเทศ ผ่านการแก้ปัญหากันมาไม่น้อย แต่สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งไม่น้อยไปกว่าการพยายามแก้ปัญหาคือ ผู้นำควรมีวุฒิภาวะ มีคุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่ดี เป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง สามารถสร้างขวัญและกำลังใจ ในการนำพาประชาชน องค์กร หรือพนักงาน ฝ่าวิกฤตไปด้วยกันได้อย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพ

ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานที่ปรึกษา บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด กูรูด้านประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า “หน้าที่ของผู้นำ คือ ต้องสามารถกอบกู้ความเสียหาย หรือสิ่งที่มีผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน ต่อการดำเนินธุรกิจ ต่อองค์กร ต่อครอบครัว ให้กลับมาสู่วิถีปกติให้ได้รวดเร็วที่สุด ให้มีผลกระทบน้อยที่สุด (Back to business หรือ Back to normal) หัวใจสำคัญของผู้นำคือจะต้องสร้างขวัญและกำลังใจ เป็นที่เชื่อถือ เป็นที่ไว้วางใจของคนในสังคม คำสำคัญของภาวะผู้นำคือ การเป็นที่ไว้วางใจ หรือ (Trust) “Without Trust Nothing Can Happen” เพราะถ้าไม่เป็นที่ไว้วางใจแล้วอะไรก็เกิดขึ้นได้ยาก หรือทำได้อย่างลำบากมาก”

ดังนั้น 9 สิ่งที่ผู้นำไม่ควรทำในภาวะวิกฤต ได้แก่

1.ผู้นำไม่ควรที่จะพูดอย่างทำอย่าง ผู้นำต้อง Lead by Example โดยเฉพาะเมื่อมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีการขอความร่วมมือออกมาแล้ว ในนามของรัฐบาล ขององค์กรต่าง ๆ ผู้นำซึ่งเป็นผู้ประกาศนโยบายนั้น ๆ จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ประกาศอย่างไรแล้วต้องทำอย่างนั้น

2.ผู้นำไม่ควรแสดงความเห็นส่วนตัวที่ไม่ได้มีการยืนยันทางด้านการแพทย์ ด้านวิทยาศาสตร์ หรือมีหลักฐานรองรับ เช่น การที่ประธานธิบดีสหรัฐฯ พูดว่าสามารถเอายาฆ่าเชื้อที่ใช้สำหรับทำความสะอาดทั่วไปฉีดเข้าร่างกายเพื่อฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ ทำให้เกิดความโกลาหล คนอเมริกันก็อยากรู้ว่าสิ่งที่ประธานาธิบดีพูดนั้นจริงหรือเปล่า การแสดงความเห็นส่วนตัวแบบนี้เป็นสิ่งที่ห้ามทำ

3. สร้างความแตกแยก แต่ต้องสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต้องสร้างความเป็นทีม ต้องไม่กล่าวหา ต่อว่า ผู้อื่น เช่น ประเทศไทยเราจะเห็นว่าหน่วยงานราชการยังมีการสร้างความขัดแย้งกันเอง มีการฟ้องร้องกันเอง ในภาวะวิกฤตแบบนี้จะทะเลาะกันเองไม่ได้ แต่ต้องมีความเหนียวแน่น เป็นปึกแผ่น และที่สำคัญต้องเป็นที่พึ่งให้กับประชาชน

4. ไม่ควรโจมตีรายงาน ผลการสำรวจ ผลการวิจัย แต่ควรยอมรับ เผชิญหน้า และหาวิธีการในการแก้ไขสิ่งที่เป็นข้อสรุปของรายงานนั้น ๆ ยกตัวอย่างผู้นำสหรัฐ ครั้งหนึ่งมีนักข่าวไปถามว่า มีหัวหน้าทางการแพทย์ได้ไปสำรวจ โรงพยาบาล 333 แห่งในสหรัฐ ปรากฏว่าโรงพยาบาลไม่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไม่มีหน้ากากอนามัย ไม่มีเครื่องช่วยหายใจเพียงพอที่รองรับผู้ป่วยโควิด-19 แทนที่ผู้นำสหรัฐจะให้ความสนใจกับข้อสรุปจากโรงพยาบาล กลับไปถามว่าใครเป็นคนทำวิจัยเรื่องนี้ ได้รับตำแหน่งในสมัยประธานาธิบดีคนก่อนหรือเปล่า แทนที่จะสนใจเรื่องโรงพยาบาลแต่กลับไปพุ่งเป้าฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง เป็นต้น

5. ไม่ควรเอาประโยชน์ส่วนตน เหนือประโยชน์ส่วนรวม ไม่ควรเอาอีโก้ อัตตา ตัวตนของตัวเองเป็นศูนย์กลางกับการจัดการภาวะวิกฤต เพราะถ้าเราทำเช่นนั้น จะทำให้เราไร้ซึ่งสติสัมปชัญญะ ไร้ซึ่งวุฒิภาวะ ความเป็นผู้นำจะด้อยลงไป

6. แถลงข่าวถี่เกินไป ใช้เวทีแถลงเป็นเครื่องมือในการหาเสียง แย่งซีนผู้เชี่ยวชาญ ในภาวะวิกฤติประชาชนต้องการข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ภาวะนี้ผู้ที่ควรออกหน้าในเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ ผู้ที่ควรออกมาเป็นโฆษกควรเป็นแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ แต่การที่ผู้นำออกมาทุกครั้งๆ เสียเวลาไปมากมายไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ที่สำคัญทำให้คะแนนนิยมถดถอยไปเรื่อย ๆ ทำให้ตัวเองเริ่มเสื่อมความนิยมลงไปด้วย

7.แถลงข่าวนอกประเด็น ไม่อยู่ในสคริปต์ หรือไม่อยู่ในวัตถุประสงค์ของการแถลงข่าวในวันนั้น เพราะการออกนอกประเด็นจะทำให้เป็นการเปิดช่องโหว่ในประเด็นอื่นที่ไม่จำเป็นขึ้นมา หรือในบางกรณีก็หากผู้นำอ่านตามสคริปต์มากเกินไปก็ทำให้ขาดจิตวิญญาณ ขาดพลัง ขาดความมุ่งมั่นในการสื่อสาร ได้ เพราะภาษากายมีความสำคัญ ภาษาพูดก็สำคัญ Content is King but context is Queen สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้นำจะต้องระมัดระวังในภาวะวิกฤต

8.ไม่ควรสื่อสารออกมาแบบไร้ทิศทาง หรือสื่อสารไม่ไปในทิศทางเดียวกัน (mixed messages) หมายถึงท่านหนึ่งพูดอย่างหนึ่งอีกท่านหนึ่งพูดอย่างหนึ่ง หรืออีกวันหนึ่งพูดอีกอย่าง ความสับสนของอเมริกาเกิดขึ้นจากเหตุนี้บ่อยมาก ๆ เช่น เรื่องโควิด-19 ไม่ใช่เรื่องจริง เป็นการกุข่าวของฝั่งตรงข้าม หรือ ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง วันหนึ่งออกมาประกาศว่าไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย อีกวันบอกไม่ต้องใส่ การสื่อสารทำให้เกิดความสับสน ผู้นำประเทศต้องทำงานร่วมมือประสานกันต้องสื่อสารไปในทิศทางเดียวกัน ต้องมี consistents message และ single message

9.ไม่ควรเรียงลำดับความสำคัญผิด เน้นเศรษฐกิจ การเมือง เหนือชีวิตประชาชน ตัวอย่างของสหรัฐที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสุขภาพ และชีวิตของประชาชนทำให้ตอนนี้ตัวเลขการตายเพราะโควิด-19 ของเขาสูงกว่าผู้เสียชีวิตในรอบสิบกว่าปีตอนที่มีสงครามเวียดนามอีก เพราะสหรัฐไปให้ความสำคัญของเรื่องเศรษฐกิจ และเรื่องคะแนนเสียงของเขาเป็นหลัก ในภาวะวิกฤติ สิ่งแรกที่ควรให้ความสำคัญคือชีวิตของคน สุขภาพจิต สุขภาพกายเป็นอย่างไร รองลงมาจึงเป็นเรื่องเศรษฐกิจซึ่งต้องให้ความสำคัญในภาพรวมไปด้วย

...นอกจากนั้น 9 สิ่งนี้ ยังเป็นบทพิสูจน์ว่าผู้นำเก่งจริงหรือไม่ หรือเก่งในระดับไหน?? อีกด้วย

รับชมคลิป 9 สิ่งที่ผู้นำในภาวะวิกฤต ไม่ควรทำ!!! ได้ที่ https://youtu.be/iZOxDyhqjXY และสามารถติดตามชมรื่องราวดี ๆ อีกมากมายได้ที่ยูทูปช่อง “ธรรมดี Life มีความสุขทุกลมหายใจ”


กำลังโหลดความคิดเห็น