‘วราวุธ’ เตรียมมาตรการสั่งปิดอุทยานแห่งชาติทั้ง 157 แห่งทุกปี ยกเคสปิดช่วงโควิด 2 เดือน ธรรมชาติ ทั้งสัตว์ป่า สัตว์ทะเลหายากออกมาให้ยลโฉม ล่าสุดอยู่ระหว่างศึกษาหาช่วงเวลาที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่อุทยานฯ
หลังจากสถานการณ์โรคโควิด-19 แพร่ระบาดมากขึ้น ต่อมาทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตัดสินใจประกาศปิดการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติและวนอุทยานทุกแห่ง ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และนักท่องเที่ยว จนเวลาผ่านไปราว 2 เดือน ซึ่งยังไม่มีกำหนดเปิดอุทยานฯ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายกับหลายประเทศ เมื่อพบเห็นสัตว์ป่า สัตว์ทะเลที่หาตัวได้ยากตามปกติ ออกมาปรากฏให้เห็น ทำให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ บันทึกภาพหายากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
อย่างเช่น เลียงผา สัตว์ป่าสงวนออกมาเดินหากินบนหน้าผาอย่างสบายใจ หมีควายสัตว์ป่าคุ้มครองปีนต้นไม้ หรือหมีหมาเดินผ่าถนนแบบไม่สนใจใคร ละมั่งสัตว์ป่าสงวนออกมายืนกลางป่า ฝูงกระทิงออกมาเล็มกินหญ้ากันเป็นครอบครัวตามพื้นที่ชายป่า ยิ่งเป็นโขลงช้างป่าออกมาให้เห็นบ่อยกว่าปกติ แม้แต่นกเงือกซึ่งสะท้อนถึงความสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าก็พบ เช่นเดียวกับสัตว์ทะเลหายาก เมื่อเจ้าหน้าที่ได้พบฝูงปลาโลมาอิรวดี ใกล้เกาะช้าง ปลาฉลามหูดำออกมาว่ายในบริเวณเกาะห้อง
เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่แนวคิดที่ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หารือร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในการเร่งทำตารางกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับปิดอุทยานแห่งชาติทั้ง 157 แห่ง สำหรับการฟื้นฟูความสมบูรณ์ของผืนป่า สัตว์ป่า สัตว์ทะเลเป็นเวลา 3 เดือน
“ภาพรวมช่วงเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา หลังปิดอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ เราพบแต่เรื่องดีๆ เกิดขึ้น มีสัตว์ป่าออกมาหาอาหารและออกมารวมฝูงนอกพื้นที่มากขึ้น เช่นเดียวกับสัตว์ทะเลเพราะไม่มีมนุษย์เข้าไปรบกวนถิ่นที่อยู่อาศัย”
รมว.ทส.ยกตัวอย่างกรณีปิดอ่าวมาหยา ตั้งแต่ 1 มิ.ย.2561 ซึ่งขยายเวลาปิดยาวถึงปี 2564 ที่นี่เคยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวมากถึงวันละ 4,000 คน ทั้งที่มีศักยภาพรองรับได้เพียงวันละ 375 คน ทำให้แนวปะการังเสียหายจากการโดนเหยียบย้ำและสมอเรือ แต่พอมาถึงวันนี้เราได้พบฝูงฉลามหูดำกว่า 60 ตัวกลับมาอาศัย มีปูลมตามชายหาด ปะการังอ่อนเริ่มแตกหน่ออีกครั้ง
ด้าน ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่าได้มีการประชุมและมีข้อสรุปว่าให้แต่ละอุทยานทั่วประเทศ จัดทำแผนการปิดอุทยานตามนโยบายของ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้พิจารณาปิดไม่ต่ำกว่า 2 เดือนต่อปี หรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่
อีกนโยบายที่จะนำมาพิจารณาควบคู่กัน คือ การจำกัดนักท่องเที่ยวไม่ให้มากจนเกินไป แม้ที่ผ่านมาจะมีรายได้มาก โดยเฉพาะอุทยานทางทะเล แต่จะพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวมากจนเกินไป ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบาย ดังนั้น นอกจากปิดแล้วจะจำกัดปริมาณด้วย เพราะอุทยานไม่ได้ต้องการรายได้เป็นหลัก แต่เน้นการฟื้นฟูของทรัพยากรธรรมชาติด้วย
ตามปกติอุทยานทางทะเลจะปิดตามหน้ามรสุมอยู่แล้ว เช่น ฝั่งอันดามันจะเริ่มปิดตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.จนถึง ก.ค. ฝั่งอ่าวไทยจะปิดช่วงเดือน พ.ย.ถึง ธ.ค. ซึ่งแต่ละที่ปิดยาวไม่เท่ากัน และหลังจากนั้นให้แต่ละอุทยานพิจารณาว่าจะปิดเพิ่มเติมมากกว่านั้นหรือไม่ตามความเหมาะสม แต่อุทยานทางทะเลจะปิดไม่น้อยกว่าปกติที่ปิดอยู่แล้วในหน้ามรสุม แต่อาจจะปิดมากกว่าด้วยบางแห่ง
ส่วนอุทยานทางบกก็เช่นเดียวกันจะปิดไม่น้อยกว่า 2 เดือน แต่บางแห่งอาจจะปิดมาก 3-4 เดือน เช่น อุ้มผาง ทีลอซู เพราะเป็นพื้นที่ฝนมาก ซึ่งแต่ละแห่งจะมีการหารือกับคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้พิจารณาโดยอิงหลักวิชาการด้วย
"เราได้เห็นว่าช่วงโควิดมีสัตว์ป่าออกมาให้เห็นมากมายทั้งทางบกและทางทะเล ไม่ว่าฉลามหูดำ ฉลามวาฬ โลมา เสือ กระทิง ช้าง ฯลฯ ดังนั้น ผมจึงให้แต่ละอุทยานถ่ายภาพก่อนและหลังการปิด เพื่อจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน เพราะบางแห่งไม่เคยปิดเลย" ธัญญา กล่าว