ช่วงที่วิกฤตโรคโควิด-19 ยังไม่จบ หลายคนยังใช้ชีวิตอยู่กับบ้าน ไม่ว่าจะเรียน ทำงานอยู่ที่บ้าน ( Work From Home) โดยเฉพาะคนอาศัยอยู่ในเมืองอย่างกรุงเทพฯ ซึ่งนิยมบริโภคอาหารโดยการสั่งอาหาร Delivery ที่สะดวก แต่ก็อาจจะไม่รู้ว่าทำให้เกิดขยะที่บ้านมากขึ้น
เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” โดยเครือข่าวเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) ร่วมด้วยภาคี 24 องค์กร มีความตระหนักถึงการจัดการขยะพลาสติก และต้องการให้ผู้บริโภค “แยกที่บ้าน ฝากทิ้งที่เรา” จึงนำไอเดียมานำร่องใช้จริงโดยการตั้งจุดรับทิ้งขยะพลาสติก 10 จุด บนถนนสุขุมวิทในกรุงเทพฯ เพื่อนำกลับไปรีไซเคิล
สิ่งที่โครงการนี้ต้องการมากกว่าขยะ คือให้ผู้บริโภคได้ความรู้ในการคัดแยกขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง แล้วนำไปใช้ในชีวิตวิถีใหม่ เพื่อยกระดับการเพิ่มความปลอดภัยให้กับซาเล้งและพนักงานเก็บขยะ รวมถึงลดปริมาณขยะพลาสติกสู่บ่อฝังกลบ ซึ่งทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ยิ่งไปกว่านั้นแนวทางแยกขยะที่บ้าน แล้วมาฝากทิ้งเป็นการเพิ่มการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ที่จะไปผ่านกระบวนการ recycle/upcycle ของบริษัทเอกชน เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Cicular economy) เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ขณะนี้ได้เริ่มต้นนำร่องใช้จริงแล้ว กำหนดเวลาไว้ 2 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2563 ด้วยการตั้งจุดรับพลาสติก จำนวน 10 จุด ได้แก่
1) Singha Complex ถนนสุขุมวิท 21 (อโศก) บริเวณ Retail บันไดเลื่อน ฝั่ง Lobby ชั้น G2) Emporium ถนนสุขุมวิท 24 ชั้น 4 บริเวณ Food Hall ตรงลิฟต์ ที่ติดกับ สตาร์บัคส์ (บริเวณเดียวกับ ที่ตั้งตู้คืนขวดพลาสติก)3) EmQuartier ถนนสุขุมวิท 35 อาคาร B ชั้น B บริเวณ Food Hall ตรงบันไดเลื่อน ที่ขึ้นไปจะเจอ Sephora4) A Square ถนนสุขุมวิท 26 บริเวณลานพลาซ่าติดกับร้านเสวย5) Bambini Villa ถนนสุขุมวิท 26 บริเวณทางเข้า ฝั่งที่จอดรถด้านหลังโครงการ ติดกับตู้กดน้ำดื่มอัตโนมัติ6) Broccoli Revolution ถนนสุขุมวิท 49 บริเวณข้างในร้านอาหาร7) Tesco Lotus อ่อนนุช ถนนสุขุมวิท 50 บริเวณหน้าทางเข้า ตรงลานจอดรถฝั่งร้านแมคโดนัลล์8) The Commons ถนนสุขุมวิท 55 ซอยทองหล่อ 17 ชั้น 1 บริเวณระหว่างร้าน Earth Mart และร้าน Ban Joo9) CP freshmart ถนนสุขุมวิท 39 (เพชรบุรี 38/1)10) Veggiology ถนนสุขุมวิท 41
สำหรับขยะพลาสติกที่รับทิ้งตามจุด Drop Point ทั้ง 10 จุดดังกล่าว มี 2 ประเภทด้วยกัน คือ พลาสติกยืดและพลาสติกแข็ง ซึ่งลักษณะของขยะที่ทิ้งจะต้องแห้งและทำความสะอาดแล้วเพื่อการนำไปรีไซเคิลได้ทันที ดังนั้น ขยะที่ผู้บริโภคจะนำไปทิ้งจะต้องคัดแยกก่อนทิ้ง ทุกคนเพียงเริ่มแยกขยะง่าย ๆ หากขยะพลาสติกเปียกปนเปื้อนอยู่ก็ล้างให้สะอาด แล้วตากให้แห้งเสียก่อน
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมาเป็นประธานเปิดโครงการนี้ กล่าวว่า “ปัญหาขยะพลาสติกล้นเมือง ล้นประเทศจะลดลง เราต้องหาวิธีทำให้เป็น Full Circular economy อย่างโครงการนี้ ข้อสำคัญได้แสดงให้พวกเราเห็นว่า ทั้งฝ่ายภาครัฐ ภาคประชาชน หากมาช่วยกันเพื่อให้อนาคตท้องทะเลจะได้ไม่มีพลาสติก สัตว์ทะเลก็ไม่ต้องกินพลาสติกเป็นอาหาร ย่อมจะเป็นการช่วยรักษาโลกไว้ให้กับคนรุ่นหลังต่อไป”
ด้าน พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย เสริมว่า “ การจะทำให้ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” เกิดได้จริง ทำคนเดียวคงยาก ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชนหลายๆ บริษัทตลอดห่วงโซ่พลาสติก ที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในการคัดแยกพลาสติกที่ต้นทาง ความร่วมมือกันในครั้งนี้ จะนำพลาสติกใช้แล้วจากผู้บริโภคเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อแปรรูปแล้วส่งกลับไปเป็นผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคใช้อีกครั้ง หรือเรียกว่า ปิด loop”