Imagine Thailand Movement โดย ดร. อุดม หงส์ชาติกุล หัวหน้าโครงการพัฒนารูปแบบความร่วมมือเพื่อการขับเคลื่อนสุขภาวะที่ดีของเยาวชนไทย สนับสนุนโดย สสส. ได้ริเริ่มการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เรียกว่า New Normal ที่ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม วิถีการดำเนินชีวิตทั้งในระดับสังคม และระดับปัจเจกบุคคล ที่เรียกว่า New Me ที่ต่างตื่นตัวเรื่องสุขภาพเพื่อร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาด ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย ใช้เจลแอลกอฮอลล์ล้างมือบ่อยๆ พยายามอยู่บ้าน หยุดการประชุม หรือลดกิจกรรมร่วมกับคนหมู่มาก ทำให้ส่วนใหญ่มีเวลาอยู่บ้านอย่างไม่มีเคยมีมาก่อน นำไปสู่โอกาสการสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ สำหรับตนเอง ครอบครัว และชุมชนอย่างมากมาย
ที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้อะไรบ้าง และได้ใช้สถานการณ์นี้สร้างโอกาสกันแบบไหน ในการเสวนาออนไลน์ Imagine Thailand Live Talk: New Normal New Me : โอกาสในวิกฤต เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ร่วมเสวนาได้สะท้อนไว้ดังนี้
ดร.ภิญโญ รัตนาพันธุ์ (ผู้ก่อตั้ง AI Thailand)
เป็นโอกาสที่ทั้งครอบครัวได้สำรวจ ได้มาคุยกัน ปกติลูกสาวไปเรียนที่กรุงเทพฯ ตอนนี้กลับมาขอนแก่นแล้ว พอลูกกลับมาช่วงนี้มีความสุขมาก ได้เดินรอบสระน้ำใหญ่ในหมู่บ้าน ได้คุยกับเขา นั่งฟังเขา ชีวิตนี้ไม่รู้จะได้ฟังลูกพูดได้ยาวนานขนาดนี้ไหม เราเองก็เหมือนได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย อนาคตที่ทำนายไม่ได้ต้องสร้างมันออกมา วิธีการทำนายอนาคตที่ดีที่สุดคือการสร้างมันขึ้นมา ยุคนี้ไม่มีใครทำนายได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็เริ่มกลับมาถามตัวเองรัก Enjoy อยากส่งมอบความสุขอะไรให้โลก ตอนนี้มีโอกาสมองเห็นความทุกข์ของคนมหาศาล อะไรที่เราจะเติมเขาได้สิ่งที่ Good Business ความมั่นคงมาจากตัวเราเอง โลกรอเราอยู่
อาจารย์ปณัฐ เนรมิตตกพงศ์ (Social Lab Project Manager)
“เวลาเราคาดการณ์อะไรเป็น New Normal อย่าพึ่งไปติดกับดักว่าเป็นพฤติกรรมที่เราเห็นปัจจุบัน จะกลายเป็น New Normal มันยังไม่ได้อยู่ในระยะเวลาที่นานพอที่จะเปลี่ยนพฤติกรรม และเปลี่ยนเป็นนิสัยของคนได้ เราอาจจะต้องค่อยๆตามดูพฤติกรรมเหล่านี้ไปเรื่อยๆ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ในช่วงต้นที่โควิดระบาดทุกคนมีคำพูดติดปากกันเลยว่า ฉันติดหรือยัง? ตอนนี้ติดหรือเปล่า? ตอนนั้นมีความวิตกกังวลมาก เราป้องกันตัวเราเต็มที่ แต่ตอนนี้เริ่มมีประกาศคลายล็อคดาวน์ออกมา คนเริ่มรู้สึกว่ามันเริ่มผ่อนตรงนี้ได้ แล้วพฤติกรรมบางอย่างก็จะถอยลงไป ดังนั้นเราต้องติดตามดูว่าสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปส่งผลให้พฤติกรรมเปลี่ยนอย่างไรแล้วเราค่อยๆ ตามดูพฤติกรรมเหล่านั้นเราจะเจอ New Normal”
อาจารย์นิพัฒน์ ชัยวรมุขกุล (ที่ปรึกษา ธุรกิจคิดฉลาด)
“เดือนเมษายน 30 วันที่ผ่านมา ทดลองอะไรเยอะมาก อยู่บ้านไม่ได้ออกไปไหน ทุกวันเป็นวันทดลองอยากชวนคนไทยที่คิดว่า new life new me เราคนใหม่ในวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร ไม่ต้องคิดถึงว่าหลังโควิด new me พรุ่งนี้เราจะทำอะไรใหม่กว่าวันนี้บ้าง การทดลองเรื่อย ๆ กลายเป็นอุปนิสัยไปเอง”
พิมพร ศิริวรรณ (นักสื่อสารสังคม)
“เป็นโอกาสที่ทำให้เราทำอะไรใหม่ๆ วิกฤตโควิด-19 ทำให้พบว่า จริงๆ แล้ว สิ่งที่มนุษย์กลัวหรือต้องการคือความปลอดภัย เมื่อเรามีเวลามากขึ้น ก็เริ่มเข้าใจลูกมากขึ้น ทำไมเขาอยู่ในห้องไม่ยอมออกมาข้างนอก ข้างนอกอาจจะไม่ปลอดภัยสำหรับเขาหรือเปล่า คือโดนเราดุเรื่องนั้นเรื่องนี้ เราก็จะเปลี่ยนตัวเองเป็น New Me ก่อนแล้วค่อยๆ เปลี่ยนลูกเรา โควิด-19เข้ามา ได้ใช้โอกาสนี้ในการเข้าใจตัวเองในการเป็น New Me เราก็ช่วยคนใกล้ตัวให้เขาเป็น New Me ขึ้นใช้จากความรู้ที่เรามีช่วยเขา”
อมรรัตน์ วิโล (นักขับเคลื่อนการสื่อสาร)
“คนจะมีมาตรฐานในการดูแลตัวเองมากขึ้น เรื่องความใกล้ชิดคนรอบข้าง หรือใช้ของร่วมกับผู้อื่น อาจจะมีการพกของใช้ส่วนตัวมากเอง ระวังเรื่องกิจกรรมที่เป็นส่วนรวมมากขึ้น ส่วนตัวก็ได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น ทำอาหารทานเอง ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวกับทำงานสื่อสารมากขึ้น ได้เรียน ทดลอง มากขึ้น”
มณฑิตา ดวงแก้ว (Researcher & Management / Assistant)
“โอกาสคือเปลี่ยนไปเยอะ ไปตลาด ไปไหนก็ต้องใส่แมสก์ ตอนนี้เราก็เริ่มชิน ตอนนี้ที่จังหวัดน่านยังไม่มีผู้ติดเชื้อ แต่เราก็ใส่แมสก์ เป็นความเคยชินไปแล้ว ได้พัฒนาตัวเอง ได้ทดลองใช้โปรแกรม IOS จะมีโปรแกรมที่ติดตัวเรามานานแล้ว ฟรีด้วย ตอนนี้ได้ทดลองใช้ทำอินโฟกราฟฟิก เขาจะมีสัญลักษณ์ รูปแบบหลายๆ อย่าง เอามาปรับ เอามาวาดเป็นของเราได้ ตอนนี้ความรู้เราเปิดกว้าง เราสามารถหาความรู้ได้ ในYouTubeมีเยอะ แอพ TikTok ก็ให้ทั้งความบันเทิง ความรู้ มีสอนภาษาหลายๆ อย่าง อยู่ที่เราเลือกที่จะรับ”
ในภาพรวม “New Normal : โอกาส ในวิกฤติ” จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 “ดร. อุดม หงส์ชาติกุล” ยังได้ชี้ให้เห็นถึงมุมบวก อันเป็นผลมาจากวิกฤตว่า “ในทุกๆ วิกฤตเราจะเห็นความร่วมมือ ความเอื้ออารี ความมีจิตใจที่แบ่งปัน และหลายโอกาส ได้เห็นทุกคนลุกมาแบ่งปันสิ่งที่เขามีให้คนที่ไม่มี เห็นความเป็นคนไทยที่มีวิถีความโอบอ้อมอารี การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน คำว่าเข้าใจผู้อื่นเริ่มจากการที่เราเปิดใจเรียนรู้และเข้าใจผู้อื่น อะไรที่เราจะแบ่งปันกันได้เราก็ยินดีที่จะทำ ขณะเดียวกันเพื่อให้สังคมนี้เป็นสังคมสุขภาวะ อย่างที่ทุกคนต้องการเห็น เป็นสังคมที่ลุกขึ้นมาแบ่งปันจากสิ่งที่เรามี ให้กับผู้อื่นเป็นสังคมที่พึ่งตนเองได้”
แต่ละท่านได้ใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสอย่างไร และอยากเห็นสังคมไทยเป็นอย่างไร สามารถแบ่งปันมุมมองความคิดเห็นของท่าน กับทาง Imagine Thailand Movement ด้วยการเพิ่มเป็นเพื่อนผ่าน Line Official Account คลิ๊ก Link https://lin.ee/C17rI97 หรือร่วมพูดคุยผ่านFB:https://fb.me/imaginethailandmovement นี้