xs
xsm
sm
md
lg

‘พลาสติก’ วัสดุสู้วิกฤตโควิด-19 เคียงข้างบุคลากรทางแพทย์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"พลาสติก" เริ่มเข้ามาในวงการแพทย์ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930 ด้วยคุณสมบัติโดดเด่นที่หลากหลายและตอบโจทย์วงการแพทย์ ทั้งในด้านความแข็งแรง ทนทานและเหนียว แตกหักได้น้อยกว่าแก้วหรือเซรามิก อีกทั้งยังป้องกันของเหลวซึมผ่านได้ดี มีน้ำหนักเบา ช่วยลดความเมื่อยล้าจากการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นเวลานานต่อเนื่อง จึงเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้มากยิ่งขึ้น


นอกจากนี้ พลาสติกยังสามารถขึ้นรูปเป็นชิ้นงานที่มีความซับซ้อนได้ด้วยต้นทุนที่ไม่สูง และที่สำคัญคือ ทนต่อสารเคมีและผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยรังสีได้โดยไม่เกิดการกัดกร่อนเหมือนโลหะ รวมถึงสามารถสังเคราะห์และใส่สารเติมแต่งเพื่อปรับแต่งคุณสมบัติได้ตามความต้องการ


ในวงการแพทย์ พลาสติกจึงเข้ามาทดแทนวัสดุประเภทอื่น ๆ อย่างโลหะ เซรามิก และแก้ว ได้อย่างมีประสิทธิภาพในราคาที่ถูกลง และกลายเป็นวัสดุสำคัญในการผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ต่าง ๆ ทั้งแบบที่มีความซับซ้อนสูง และอุปกรณ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะเทียม เครื่องมือผ่าตัด ไหมเย็บ ถุงบรรจุเลือด ท่อดูด ไปจนถึงถุงมือผ่าตัด และหลอดฉีดยา ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงการรักษาได้ทั่วถึงมากขึ้น เนื่องจากสามารถขนส่งได้สะดวกไปยังที่ห่างไกลได้โดยไม่แตกหักเสียหายระหว่างการเดินทาง

ห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่

อุปกรณ์ป้องกันตนเองทางการแพทย์ หรือ Personal Protective Equipment (PPE) ล้วนมีพลาสติกเป็นองค์ประกอบหลักเช่นเดียวกัน โดยอาศัยคุณสมบัติที่แตกต่างกันของพลาสติกแต่ละประเภท และที่สำคัญคือสามารถป้องกันของเหลวซึมผ่านได้เป็นอย่างดี


หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ และหน้ากาก N95 ต่างมีวัตถุดิบหลักเป็นเส้นใยสังเคราะห์จากพลาสติกประเภทพอลิโพรพิลีน (PP) มีความต่อเนื่องของเส้นใยและสามารถควบคุมช่องว่างได้ดี ตัวหน้ากากมีหลายชั้น ซึ่งพลาสติกในแต่ละชั้นมีหน้าที่แตกต่างกันออกไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อจากการสูดละอองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ


แว่นครอบตา (Goggles) และกระบังป้องกันใบหน้า (Face Shield) เป็นส่วนสำคัญในการป้องกันใบหน้าและดวงตาจากละอองสารคัดหลั่งระหว่างทำหัตถการหรือใกล้ชิดผู้ป่วย ส่วนมากผลิตจากพลาสติกประเภทพอลิคาร์บอเนต (PC) เพื่อความแข็งแรงทนทาน ทนรอยขีดข่วน แต่ยังมีความใส และน้ำหนักเบา เพื่อความสบายในการสวมใส่


ชุดหมี (Coverall) และชุดกาวน์ (Medical Gown) ช่วยป้องกันผู้สวมใส่จากของเหลวหรือของแข็งที่ติดเชื้อ รวมถึงการซึมผ่านของสารเคมีและเชื้อโรคต่าง ๆ ตั้งแต่ศีรษะและลำตัวไปจนถึงข้อมือและข้อเท้า ชุดหมีทำจากเส้นใยพลาสติกประเภทพอลิโพรพิลีน (PP) และเคลือบด้วยสารกันน้ำ จึงกันน้ำ และระบายอากาศได้ ส่วนชุดกาวน์ซึ่งใช้สวมทับชุดหมีนั้น ทำจากพลาสติกพอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำเชิงเส้น (LLDPE) ที่มีเนื้อนิ่มแต่เหนียว ชุดจึงแนบไปกับลำตัวโดยไม่พอง และไม่มีเสียงก๊อบแก๊บเวลาขยับตัว อีกทั้งยังสามารถระบายอากาศได้ดีอีกด้วย


เมื่อใช้งานอุปกรณ์ PPE เหล่านี้เสร็จแล้ว จะต้องมีการถอดอย่างถูกวิธี เพื่อเลี่ยงการสัมผัสเชื้อ และจะต้องนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งอุปกรณ์ส่วนมากจะเป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง จึงจำเป็นต้องมีสำรองไว้ใช้ในโรงพยาบาลให้มากพอกับความต้องการที่อาจเพิ่มขึ้นตามปริมาณผู้ติดเชื้อ


ในประเทศไทย มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อไปแล้วถึง 103 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 26 เมษายน 2563) ซึ่งเป็นการติดเชื้อจากการดูแลรักษาผู้ป่วยถึง 28 คน และอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถระบุสาเหตุและที่มาของการติดเชื้อได้ หรือการที่ต้องสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวในขณะที่ไม่ได้สวมอุปกรณ์ป้องกันอย่างเต็มยศ

ห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่

แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบขนาดเล็ก สำหรับเข้าเครื่อง CT Scan
นวัตกรรมช่วยดูแลแพทย์ ในวันที่แพทย์ดูแลเรา
ด้วยตระหนักถึงอันตราย ความยากลำบาก และความเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี จึงมีแนวคิดที่จะสร้างเกราะคุ้มกันให้บุคลากรทางการแพทย์ปลอดภัยจากการติดเชื้อ โดยนำความเชี่ยวชาญทั้งในด้านวัสดุพลาสติก วิศวกรรมศาสตร์ และการออกแบบนวัตกรรม ผสมผสานกับความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของทีมแพทย์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยเน้นไปที่การป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อจากผู้ป่วย และทำให้นวัตกรรมนี้สามารถเข้าถึงได้ในทุกพื้นที่แม้ในที่ห่างไกล จึงเป็นที่มาของ “นวัตกรรมป้องกันโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ หรือ Mobile Isolation Unit” ที่นอกเหนือจากความสะดวกในการขนส่ง ติดตั้งง่าย น้ำหนักเบาแล้ว ยังช่วยลดภาระในการจัดหาและสวมใส่ PPE ได้เป็นจำนวนมาก แพทย์สามารถทำงานได้อย่างอุ่นใจและคล่องตัว แม้ต้องเผชิญหน้ากับศึกใหญ่

“อุ่นใจ” แม้ต้องสัมผัสผู้ป่วย
ในขั้นตอนการตรวจคัดกรองโรค บุคลากรทางการแพทย์มีโอกาสได้รับเชื้อผ่านการทำหัตถการ (Swab) เอสซีจีจึงได้ออกแบบนวัตกรรม “ห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่ (Negative/Positive Pressure Isolation Chamber)” เพื่อแยกบุคลากรทางการแพทย์ออกจากคนไข้ โดยมีลักษณะเป็นทรงกระบอกขนาดเล็กสำหรับคน 1 คน มีช่องให้สอดมือเพื่อตรวจคนไข้ได้อย่างสะดวก สามารถมองเห็นและติดต่อสื่อสารกันได้
เช่นเดียวกันกับ “ห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ (Negative Pressure Isolation Room)” ที่มีลักษณะคล้ายเต็นท์ เหมาะสำหรับจัดวางในพื้นที่ที่ต้องการควบคุมการฟุ้งกระจายของเชื้อโรค เช่น ห้องฉุกเฉิน ห้องไอซียู และห้องพักผู้ป่วยทั่วไป ออกแบบให้ติดตั้งรื้อถอนได้ง่าย สามารถเปลี่ยนที่ติดตั้งได้ตามต้องการ เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อที่อาจเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว

“มั่นใจ” ทุกการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่มีโอกาสเสี่ยงที่เชื้อจะฟุ้งกระจายในอากาศสูง อาจแพร่เชื้อไปยังคนไข้คนอื่น ๆ ที่อยู่ในบริเวณที่เคลื่อนย้ายผ่าน จึงเป็นที่มาของ “แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ (Patient Isolation Capsule)” ที่ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ออกแบบมาให้มีขนาดพอดีกับผู้ป่วย 1 คน และสามารถต่อโต๊ะวางอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ นอกจากนี้ ยังมี “แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบขนาดเล็ก สำหรับเข้าเครื่อง CT Scan (Small Patient Isolation Capsule for CT scan)” ที่ออกแบบให้โครงสร้างช่วงบนไม่มีส่วนประกอบของโลหะ โดยอาศัยความแข็งแรงและมีน้ำหนักเบาของพลาสวูดมาทดแทน จึงสามารถนำเข้าเครื่อง CT Scan ได้ อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่น สามารถปรับให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่งหรือนอน และใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยในรถฉุกเฉินได้

นวัตกรรมพลาสติก สู้วิกฤตโควิด-19 (COVID-19)
นวัตกรรมเพื่อการแพทย์จากเอสซีจีทุกชิ้น ออกแบบโดยคำนึงถึงการใช้งานจริงและผ่านการทดสอบจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยเลือกใช้วัสดุหลักเป็นพลาสติกประเภทพอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) ทั้งแบบใสและแบบผ้าใบ เพื่อให้สามารถมองเห็นทะลุผ่านได้อย่างชัดเจนและไม่มีแสงสะท้อน อีกทั้งยังสามารถนำไปทำความสะอาดด้วยวิธีการฆ่าเชื้อของโรงพยาบาลได้ด้วย จึงสามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง

จะเห็นได้ว่า พลาสติกอยู่เคียงข้างกับบุคลากรทางการแพทย์เสมอมา แม้ในวิกฤตโควิด-19 (COVID-19) ก็เช่นกัน พลาสติกได้รับมอบหมายหน้าที่สำคัญในการปกป้องทีมแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษของพลาสติกที่โดดเด่นกว่าวัสดุชนิดอื่น การเดินหน้าด้านงานวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้นวัตกรรมพลาสติกที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมพลาสติกเพื่อการแพทย์ เพื่อให้มั่นใจว่าในศึกครั้งหน้า เราจะมีอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพไว้ดูแลปกป้องทุกคน