xs
xsm
sm
md
lg

ซัยโจ เด็นกิ คิดค้นนวัตกรรม เหนือมาตรฐานโลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



๐ ประกาศความสำเร็จครั้งสำคัญของ ”ซัยโจ เด็นกิ” ด้วยนวัตกรรมล่าสุด ช่วยกู้วิกฤติโควิด-19
๐ ระบบแลกเปลี่ยนอากาศแบบ True Negative Pressure ขึ้นแท่นเหนือมาตรฐาน WHO และCDC
๐ ส่งมอบแห่งแรกรพ.พระมงกุฎเกล้า เตรียมเดินหน้าอีกหลายแห่ง พร้อมขยายสู่กลุ่มที่อยู่อาศัย


ท่ามกลางวิกฤติการณ์การแพร่เชื้อโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 ส่งผลให้เกิดความปั่นป่วนไปทั่วโลก ผู้คนหวาดหวั่นเพราะตกอยู่ในภาวะเสี่ยงตาย เนื่องจากยังไม่มีวิธียับยั้งหรือต่อสู้กับโรคร้ายนี้ ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม การพยายามเร่งคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เกิดขึ้นอย่างมากมายในเวลาอันรวดเร็ว เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และช่วยให้มนุษยชาติรอดพ้นจากภัยพิบัติในครั้งนี้ไปให้ได้

“ซัยโจ เด็นกิ” เป็นหนึ่งในภาคเอกชนที่สามารถคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเพื่อมาตอบโจทย์ครั้งสำคัญนี้ได้อย่างทันท่วงทีและตรงจุด นวัตกรรมนั้นคือ “ระบบแลกเปลี่ยนอากาศแบบ True Negative Pressure”

โดยมีภารกิจสำคัญและท้าทาย คือ การปรับเปลี่ยนหอผู้ป่วยของอาคารเก่าในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ให้สามารถรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งหมายถึงการทำงานภายใต้ข้อจำกัดของสถานที่และเวลา คือ อาคารเก่าซึ่งไม่มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการจัดทำห้องผู้ป่วยความดันลบ (Negative Pressure Room) และต้องทำให้สำเร็จภายในเวลาอันจำกัด

นวัตกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นได้ ด้วยการใช้ความเชี่ยวชาญทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านเทคโนโลยี Digital Inverter ของ ซัยโจ เด็นกิ ซึ่งพัฒนาต่อเนื่องยาวนานมากว่า 15 ปี และความสามารถในการนำระบบ IoT เข้ามาใช้ประกอบกันตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา

การพัฒนาต้นแบบระบบฯ มีการทำแบบจำลองการไหลเวียนของอากาศภายในห้องด้วยเทคนิค Computational Fluid Dynamics Simulation เพื่อให้เห็นรูปแบบและสามารถควบคุมทิศทางการไหลของอากาศภายในห้อง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้หลักการ Clean-to-Dirty Air Flow เพื่อลดโอกาสเกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากผู้ป่วยมาสู่บุคลากรทางการแพทย์ และใช้การนำอากาศสะอาดเติมเข้าสู่ห้อง พร้อมทั้งถ่ายเทอากาศสกปรกจากบริเวณหัวเตียงผู้ป่วยออกจากห้องตลอดเวลา ด้วยอัตราการหมุนเวียนอากาศถึง 14 Air Change ต่อชั่วโมง ดังนั้น ในห้องที่ใช้ระบบดังกล่าว เฉลี่ยทุกๆ 5 นาที จะมีอากาศใหม่เข้ามาแทนที่อากาศเดิมภายในห้อง ทำให้อากาศภายในห้องเป็นอากาศสะอาดตลอดเวลา ไม่ใช่อากาศที่หมุนวนภายในห้องเหมือนลักษณะทั่วไป

ความพิเศษของเทคโนโลยีดังกล่าว นอกจากจะทำให้นวัตกรรม “ระบบแลกเปลี่ยนอากาศแบบ True Negative Pressure” มีประสิทธิภาพทั้งด้านวิศวกรรมและด้านชีววิทยา คือ การจัดการและถ่ายเทอากาศระหว่างอากาศดีและอากาศเสียได้เป็นอย่างดี ทำให้อากาศภายในห้องมีความสะอาด เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับความปลอดภัยและผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างถูกต้องแล้ว ยังทำให้ห้องความดันลบที่ใช้ระบบ True Negative Pressure สามารถประหยัดไฟได้อย่างมาก โดยมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดิมเพียง 30% เนื่องจากตามปกติ ห้องความดันลบ (Negative Pressure) จะต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่าเดิม 3-4 เท่า นอกจากนี้ ระบบปรับอากาศที่ใช้กันโดยทั่วไปเป็นระบบ Split Type อากาศจะวนอยู่ภายในห้อง จึงมีการสะสมเชื้อโรคได้

พร้อมทั้ง ด้วยการใช้ระบบ IoT ทำให้สามารถตรวจสอบประสิทธิภาพระบบแลกเปลี่ยนอากาศภายในห้อง ผ่านหน้าจอ Smart Hospital Monitoring โดยสามารถใช้แท็บเล็ตในการดูและติดตามข้อมูลได้ แบบ real time ช่วยให้แพทย์และพยาบาลมีความสะดวกและปลอดภัยไปพร้อมๆ กับการดูแลผู้ป่วย ได้แบบไม่ต้องเข้าไปอยู่ใกล้ชิดโดยไม่จำเป็น

นอกจากนี้ ด้วยความร่วมมือจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการตรวจสอบคุณภาพระบบกรองอากาศ 0.1 ไมครอน กับระบบปรับอากาศในหอผู้ป่วยโควิด-19 และพัฒนา Simulation Model เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการตรวจสอบประสิทธิภาพการลดปริมาณเชื้อในอากาศภายในห้องผู้ป่วยหนัก COVID-19



ภาพ - บริษัทซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดย สมศักดิ์ จิตติพลังศรี กรรมการผู้จัดการ บริจาค “นวัตกรรมระบบแลกเปลี่ยนอากาศแบบTrue Negative Pressure” เพื่อใช้ในหอผู้ป่วยวิกฤติ Covid-19โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รวมมูลค่ากว่า 26 ล้านบาท โดยมี พลเอกณรงค์พันธ์จิตต์แก้วแท้ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และพลเอกณฐพนธ์ ศรีสวัสดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบกเป็นผู้รับมอบ

ความร่วมมือดังกล่าว เป็นผลให้ “ซัยโจ เด็นกิ” สามารถจัดทำและส่งมอบความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ในการพัฒนานวัตกรรม”ระบบแลกเปลี่ยนอากาศแบบ True Negative Pressure” ด้วยการเปลี่ยนอาคารท่านผู้หญิงประภาศรีกำลังเอก อาคารเก่าอายุกว่า 37 ปี ในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในสังกัดกองทัพบก มาเป็น “หอผู้ป่วยความดันลบระบบ Fresh Air แบบสมบูรณ์” เพื่อใช้รองรับผู้ป่วย COVID-19 จำนวนมาก ทั้งแบบห้องวิกฤติเดี่ยว (ICU) และห้องวิกฤติรวม (Cohort Ward) จำนวนมากถึง 41 เตียง รวมเป็นเงิน 26,000,000 บาท ได้ตามเป้าหมายภายในเวลาเพียง 10 วันเท่านั้น โดยมี พลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และพลเอกณฐพนธ์ ศรีสวสัดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก เป็นผู้รับมอบเมื่อเร็วๆ นี้

๐ ความสำเร็จไม่ใช่เพียงเพื่อวันนี้

สมศักดิ์ จิตติพลังศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า “ปณิธานหรือความตั้งใจของเรา คือการเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนช่วยเหลือภาครัฐในการทำหน้าที่เท่าที่เอกชนจะสามารถทำได้ เราภูมิใจที่ได้ทำโครงการนี้ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศในอนาคต เพราะไม่เพียงระบบแยกอากาศ แต่ประเทศไทยยังมีความสามารถในอีกหลายเทคโนโลยี โดยไม่จำเป็นต้องซื้อจากต่างประเทศ เมื่อเราสามารถยืนบนขาตนเองไม่ว่าจะอยู่ในภาวะวิกฤติหรือไม่ก็ตาม ประเทศไทยจะอยู่บนความยั่งยืน”

“ซัยโจ เด็นกิ ให้ความสำคัญกับการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมมาก การที่ในวันนี้เราประสบความสำเร็จ เพราะเรามีความพร้อมอยู่แล้ว แต่โจทย์ครั้งนี้มีความยากคือ การคิดระบบที่ต้องให้ความสำคัญกับทั้ง 5 เรื่องคือ การควบคุมอุณหภูมิและความชื้นจากภายนอก การแลกเปลี่ยนอากาศ การดึงอากาศออก และการกรองเชื้อโรคทั้งหมด นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญใน 3 เรื่อง คือ หนึ่ง ต้องทำให้ระบบมีความเสถียรเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง สอง ต้องทำให้ระบบทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งก็คือการใช้ IoT และสาม ต้องทำให้ระบบสามารถรองรับผู้ป่วยอื่นๆ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 จบลง”

“นอกจากติดตั้งไปแล้วที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จะมีการนำระบบนี้ไปติดตั้งให้โรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนอีกอย่างน้อย 5 แห่ง เราจดสิทธิบัตรนวัตกรรมนี้แล้ว และมีการพัฒนาแบบ Home Use สำหรับติดตั้งที่บ้านอีกด้วย เพื่อให้นวัตกรรมที่เราคิดและทำออกมาด้วยความภาคภูมิใจ เป็นประโยชน์ให้มากที่สุดและสามารถขยายออกไปในวงกว้าง”

๐ ภารกิจบนความภาคภูมิใจ

พันเอกหญิง รศ.ปริยนันท์ จารุจินดา รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวถึงแนวทางและความสำคัญของภารกิจนี้ว่า “โจทย์ครั้งนี้คือ จะทำอย่างไรให้การปรับเปลี่ยนตึกเก่าของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งไม่มีการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานเอาไว้ สามารถรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างสมบูรณ์ ประกอบกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าได้รับมอบหมายจากกองทัพบก ให้เป็นสถานที่เพื่อรองรับการเผชิญภาวะวิกฤติระดับชาติทุกรูปแบบ ไม่ว่าสถานการณ์จะเบาหรือหนัก ผู้ป่วยจะมากหรือน้อย จะต้องดูแลให้ได้ หมายความว่านอกจากรับผู้ป่วยโควิด-19 แล้ว ยังต้องสามารถรับผู้ป่วยอื่นๆ ในจำนวนมากได้ด้วย โดยหลักการในการปรับเปลี่ยน คือ นอกจากจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ปลอดภัย จะต้องดูแลชุมชนรอบๆ ด้วย และเนื่องจากเป็นสิ่งใหม่ ทำให้ต้องระดมสมองผู้เชี่ยวชาญทั้งสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนมาช่วยกันคิดช่วยกันทำ จึงทำให้เกิดความสำเร็จในครั้งนี้ขึ้นมาได้”

พลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงโครงการนี้ว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นความสำเร็จครั้งหนึ่งของประเทศไทย ที่แสดงให้คนไทยด้วยกันเองและคนทั่วโลกได้เห็นความสามารถ ความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกันในภาวะที่ประเทศชาติประสบปัญหา ซึ่งปัญหาเช่นนี้ไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไรและรุนแรงมากน้อยเพียงใด เมื่อเป็นเช่นนี้จึงรู้สึกมีความตื้นตันใจและยินดีเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อเกิดวิกฤต ทุกฝ่ายได้ทุ่มเทช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งมีความปรารถนาดีต่อประเทศชาติ รวมพลังอันยิ่งใหญ่ สำหรับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ภายใต้การดูแลของกองทัพบก มีภารกิจสำคัญ ซึ่งไม่เพียงวันนี้ แต่รวมถึงในอนาคต ต้องช่วยให้ผู้คนพ้นจากภัยพิบัติทุกรูปแบบ ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้จึงเป็นบุญกุศลของทุกคนที่มีส่วนร่วม”


True Negative Pressure
นวัตกรรมเพื่ออากาศบริสุทธิ์100%


การทำงานของ “ระบบแลกเปลี่ยนอากาศแบบ True Negative Pressure” ของ “ซัยโจ เด็นจิ” ใช้ 3 หลักการ คือ 1) Clean to Dirty Air Flow อากาศไหลจากสะอาดสู่สกปรก 2) 100% Fresh Air เติมอากาศบริสุทธิ์ผ่านบุคลากรทางการแพทย์ 3) Ultrafine Filter กรองอนุภาคขนาดเล็ก 0.1 ไมครอน ในขณะที่เชื้อ Corona Virus มีขนาดประมาณ 0.125 ไมครอน
เนื่องจากการปรับอากาศในห้องโดยทั่วไปใช้ “ระบบ Split Type” อากาศหมุนวนอยู่ภายในห้อง ทำให้อากาศสกปรกยังคปะปนอยู่ภายในห้อง นอกจากนี้ ยังไม่มีฟิลเตอร์ตัวใดที่สามารถกรองอากาศให้มีความสะอาดได้ทั้งหมด ดังนั้น “ซัยโจ เด็นกิ” จึงพัฒนา “ระบบ 100% Fresh Air” มาใช้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับบุคลากรทางการแพทย์

โดยอากาศสะอาดจะถูกดูดเข้ามา ผ่านการกรองเชื้อโรคขนาดเล็กถึง 0.02 ไมครอน ด้วยระบบ 100% Fresh Air แล้วจะมีการดันอากาศผ่านเข้ามาที่ปลายเตียงผู้ป่วย เพื่อให้อากาศสะอาดผ่านบุคลากรทางการแพทย์ แล้วจึงผ่านคนไข้ เพราะจุดที่อากาศสกปรกที่สุดคือบริเวณศีรษะของคนไข้ จากนั้น อากาศสกปรกจะถูกดูด เพื่อไม่ให้เชื้อโรคตกค้างอยู่ภายในห้อง โดยมีการกรองผ่าน HEPA และ Electrostatic Filter ด้วยระบบ Exhaust Air ติดตั้งอยู่ที่ชั้นดาดฟ้าของอาคาร ก่อนจะนำไปปล่อยสู่ภายนอก โดยใช้มอเตอร์ที่สามารถปรับความเร็วให้เป็นไปตามต้องการ เพื่อให้การทำงานของฟิลเตอร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ


การทำงานของ “ระบบแลกเปลี่ยนอากาศแบบ True Negative Pressure” ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้

๐ “Ultrafine Filter 2020 / 100% Fresh Air Monobloc Hospital Type” เครื่องสร้างอากาศบริสุทธิ์ พร้อมระบบกรองอากาศ 0.1 ไมครอน ควบคุมทั้งอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ เพื่อเติมอากาศเข้าห้องผู้ป่วยโควิด-19 ทำงานโดย นำอากาศบริสุทธิ์จากภายนอกอาคาร มาผ่านการกรองด้วย Pre-Filter G4 ฝุ่นหยาบและ Medium-Filter F8 แล้วผ่านไปที่ Ultrafine Filter กรองได้ 0.1 ไมครอน จากนั้นจึงมีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ แล้วอัดอากาศเข้าไปในห้องผู้ป่วย

๐ “Ultrafine Filter 2020 / Exhaust Unit Hospital Type” เครื่องกรองอากาศประสิทธิภาพสูง ซึ่งกรองอากาศจากห้องผู้ป่วยโควิด-19 มีการทำงาน 5 ขั้นตอน โดยนำอากาศสกปรกออกจากห้อง ผู้ป่วย มากรองด้วย Pre-Filter G4 ฝุ่นหยาบ Medium-Filter F8 และHEPA Filter H13 กรองได้ 0.3 ไมครอน แล้วผ่านไปที่ Ultrafine Filter กรองได้ 0.1 ไมครอน โดยมีมอเตอร์สามารถปรับความเร็วรอบแบบอัตโนมัติ และขั้นตอนสุดท้าย อากาศสะอาดถูกปล่อยออกนอกอาคาร

๐ “Smart Sensor – Filter Efficiency Detection” เซ็นเซอร์ตรวจสอบประสิทธิภาพฟิลเตอร์ ว่าแผ่นฟิวเตอร์ใกล้ตันหรือเปล่า เมื่อใกล้ตันมี AI คำนวณวันที่ต้องเปลี่ยนฟิลเตอร์ ซึ่งเมื่อฟิลเตอร์ตัน ปริมาณลมจะลดลง แต่สามารถปรับความเร็วรอบของพัดลมอย่างอัตโนมัติ เพื่อให้ฟิลเตอร์ทำงานได้อย่างประสิทธิภาพ

๐ “Monobloc Concept” เพื่อให้การติดตั้งทำได้รวดเร็วที่สุดทันต่อสถานการณ์ เพราะไม่ต้องติดตั้งท่อน้ำยา เนื่องจากคอยล์ร้อน และคอยล์เย็นอยู่ในเครื่องเดียวกัน สามารถติดตั้งเฉพาะท่อลม และเมนไฟ ช่างซ่อมบำรุงไม่ต้องเข้าไปในอาคาร เป็นข้อดีอย่างมาก แตกต่างจาก “Split Type Concept” ระบบทั่วไป ต้องติดตั้งท่อน้ำยา และเติมน้ำยาเรื่อยๆ หากท่อน้ำยารั่ว

๐ “Internet of Things and AI“ ระบบปรับอากาศเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและวิเคราะห์ระยะเวลาเปลี่ยน Filter โดยมีระบบ Smart Hospital Monitoring สามารถรายงานอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ความสะอาดในห้อง และNegative Pressure ได้ผ่านหน้าจอ โดยสามารถดูข้อมูล “สถานะระบบปรับอากาศในอาคาร” ของชั้นต่างๆ ได้ทั้งอาคาร

๐ “Minimize Crosstalk” การแยกท่อลม ด้วยการใส่ใจทุกรายละเอียด จึงมีการติดตั้งแยกท่อลม 1 ห้องต่อ 1 ระบบ ไม่เดินท่อลมรวม ทำให้เชื้อโรคไม่ข้ามไปมา

๐ “Avoid Moisture” การออกแบบและติดตั้งระบบปรับอากาศ ต้องไม่มีความชื้น เพราะความชื้นคือที่มาของเชื้อโรค Microbial Colonization

๐ ท่อที่ใช้เป็นทรงกลมทั้งหมดไม่มีจุดเก็บฝุ่น เพราะทรงเหลี่ยมฝุ่นเกาะตามมุมและขอบได้

๐ จุดปล่อยลมสะอาดเข้าห้อง ต้องไม่ทำให้ลมกระจายไร้ทิศทาง โดยใช้ Stainless Perforated Grille บังคับให้ลมวิ่งเป็นเส้นตรงไม่ฟุ้งกระจาย เป็นไปตามหลัก Clean to Dirty Air Flow

๐ จุดปล่อยลมสกปรก แม้จะมีการกรองอากาศ แต่ต้องอยู่ไกลที่อยู่อาศัยมากที่สุด จึงติดตั้งจุดปล่อยลมออก Exhaust บนหลังคาอาคาร

๐ ศึกษาลักษณะการหายใจของผู้ป่วย โดยเฉพาะช่วงที่ป่วยมากที่สุด จะหายใจถี่และปริมาณมาก จึงร่วมกับ มจธ. ศึกษารูปแบบการหายใจของผู้ป่วย กรณีผู้ป่วยหนักมากจะหายใจ 25 ลิตรต่อนาที ขณะที่ คนปกติหายใจ 6 ลิตรต่อนาที

๐ พัฒนาระบบที่ดูดอากาศสกปรกจากลมหายใจผู้ป่วยไปกรองและทิ้ง เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ที่อาจอยู่ใกล้ผู้ป่วย โดย ซัยโจฯ ร่วมกับ มจธ.พัฒนา Simulation Model เพราะมีการถกเถียงกันมากว่าจะให้ผู้ป่วยนอนด้านไหนเพื่อให้ลมที่หายใจออกจากผู้ป่วย ไม่ไปสู่บุคลากรทางการแพทย์ จึงทำการจำลองทางคณิตศาสตร์ เพราะตามปกติเมื่อหายใจออกจะฟุ้งกระจายไปทั่วห้องทำให้เกิดความเสี่ยง สิ่งที่พัฒนาขึ้นมาคือ เมื่อผู้ป่วยหายใจออก ลมจะถูกดูดออกไปกรองแล้วปล่อยที่ชั้นดาดฟ้า ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ในห้องปลอดภัยมากที่สุด


ผลทดสอบยืนยันปลอดภัยจริง

การดำเนินงาน โครงการพัฒนานวัตกรรมระบบแลกเปลี่ยนอากาศ เพื่อใช้ในการปรับเปลี่ยนห้องผู้ป่วยธรรมดา ให้กลายเป็นห้องแรงดันลบ ที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อใช้ในการรองรับผู้ป่วย COVID-19 โดยใช้งบประมาณและเวลาที่ใช้ในการติดตั้งน้อยที่สุด เพื่อพัฒนาห้อง True Negative Pressure ตามมาตรฐาน WHO และ CDC สหรัฐอเมริกา ซึ่งประกอบด้วยข้อกำหนด 3 ข้อ คือ 1. ต้องสามารถควบคุมแรงดันภายในห้องให้เป็นแรงดันลบ (Negative Pressure) 2. อากาศใหม่หรือ Fresh Air ต้องไหลจากโซนสะอาด (บุคลากรทางการแพทย์) ไปยังโซนสกปรก (ผู้ป่วย) เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากผู้ป่วยมาสู่บุคลากรทางการแพทย์ และ3. ต้องสามารถควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ได้

นอกจากการทดสอบประสิทธิภาพทางด้านวิศวกรรมแล้ว ระบบปรับอากาศดังกล่าวยังผ่านการทดสอบประสิทธิภาพของระบบในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ซึ่งเป็นเชื้อที่ทนความร้อนและความแห้งได้ดี

รู้ได้อย่างไรว่า ห้อง True Negative Pressure ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ มีอากาศสะอาดและปลอดภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์จริง? คำตอบที่ได้มาจาก “รศ.ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์” คณบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ “ผศ.ดร.เฟื่องฟ้า อุตรารัชต์กิจ” หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา ซึ่งได้ออกแบบการทดสอบประสิทธิภาพนวัตกรรมแลกเปลี่ยนอากาศดังกล่าว โดยใช้ความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยในการตรวจวิเคราะห์ปริมาณเชื้อโรคในสิ่งแวดล้อม เพื่อประเมินความสะอาดของอากาศภายในห้องผู้ป่วยวิกฤติ COVID-19

เริ่มต้นจากการสุ่มเก็บตัวอย่างอากาศภายในห้อง โดยเฉพาะบริเวณหัวเตียงผู้ป่วย เนื่องจากเป็นจุดที่เชื้อโรคน่าจะมีปริมาณมากที่สุด และบริเวณทางเดิน ซึ่งเป็นส่วนที่แพทย์และพยาบาลต้องผ่านไปมามากที่สุด จึงอาจจะมีโอกาสติดเชื้อจากผู้ป่วยได้ การทดสอบภายในห้องปฏิบัติการ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจวิเคราะห์ปริมาณเชื้อในสิ่งแวดล้อม ทีมวิจัยพบว่า ระบบดังกล่าว สามารถฆ่าเชื้อ Staphylococcus aureus ได้สูงถึง 99.54% ภายในเวลา 3 ชั่วโมง

ภายหลังจากการติดตั้งระบบแลกเปลี่ยนอากาศแบบ True Negative Pressure ภายในห้องผู้ป่วยวิกฤติเดี่ยว (ICU) และห้องผู้ป่วยวิกฤติรวม (Cohort Ward) เพื่อเตรียมรองรับผู้ป่วย COVID-19 ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการทดสอบหาปริมาณแบคทีเรียและเชื้อราในอากาศ ณ สถานที่ติดตั้งจริงอีกครั้ง และพบว่า ระบบดังกล่าวสามารถลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียภายในห้องผู้ป่วยสูงถึง 98.3% เมื่อเปิดระบบดังกล่าวเป็นเวลา 8 ชั่วโมง และในบางจุดที่เก็บตัวอย่าง ไม่พบเชื้อแบคทีเรียแม้แต่ตัวเดียว (0 CFU/m3)

ประสิทธิภาพของระบบที่ทำให้เชื้อโรคลดลงได้เช่นนี้ เป็นผลมาจากทีมวิจัย ‘ซัยโจ เด็นกิ’ พัฒนาเทคโนโลยีการนำอากาศใหม่ที่บริสุทธิ์ (Fresh Air 100%) เพื่อเติมเข้าสู่ห้องผู้ป่วยตลอดเวลา รวมถึงการนำอากาศเสียออกจากห้องได้มากถึง 14 รอบต่อชั่วโมง (Air Change/Hour) โดยที่มาตรฐาน WHO และ CDC ระบุไว้ที่ 12 รอบต่อชั่วโมง (Air Change/Hour)


ดังนั้น เชื้อโรคต่างๆ ที่อยู่ภายในห้องผู้ป่วย จึงถูกนำออกจากห้องและกำจัดทิ้งด้วยความรวดเร็ว นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศสะอาด ยังเป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลท่ามกลางวิกฤติ COVID-19 ได้เป็นอย่างมาก


ภาพ - สมศักดิ์จิตติพลังศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

“สมศักดิ์” ผู้นำธุรกิจยุคใหม่
นวัตกรรมก้าวหน้า – ช่วยสังคม

“ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ เป็นสำนึกครับ ไม่ว่าจะภาคส่วนไหน ก็พึงมีต่อประเทศตนเอง คือความรับผิดชอบ เราเองไม่ได้สนใจในเงื่อนไขใดๆ ที่มาทำโครงการนี่” เสียงพูดผ่านไมค์ที่ราบเรียบ แต่หนักแน่น เต็มไปด้วยเจตนารมณ์ที่สะท้อนอยู่ในคำพูด ของชายผู้มีใจอารี สมศักดิ์ จิตติพลังศรี ณ ห้องประชุม โรงพยาบาล พระมงกุฎเกล้า เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา

สมศักดิ์ จิตติพลังศรี คือใคร? หลายคนคงอยากรู้จัก แต่หากพูดถึงธุรกิจที่เขาทำ คือเครื่องปรับอากาศ ซัยโจ เด็นกิ ไม่มีใครที่ไม่รู้จักเครื่องปรับอากาศแบรนด์นี้ สมศักดิ์ จิตติพลังศรี คือ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล แต่ในเรื่องผลิตภัณฑ์ ยังมีเรื่องราวที่น่าจะทำให้คุณรู้จักกับชายคนนี้มากขึ้น

ก้าวข้ามธุรกิจที่ติดลบ ด้วยความกตัญญู

เริ่มทำธุรกิจของครอบครัว ด้วยต้นทุนติดลบ 30 ล้านบาท แถมไม่มีเครดิต “ตอนเข้ามาบุกเบิกคนเดียวแทนพ่อ เป็นช่วงที่ต้องตัดสินใจระหว่างทิ้งบริษัทหรือทำต่อ แต่สุดท้ายเลือกเดินหน้าต่อ ด้วยเหตุผลที่บอกกับตัวเองว่า เป็นธุรกิจที่พ่อแม่สร้างมา ถ้ามีสำนึกที่ดีต่อพ่อแม่ ควรต่อยอดทำในสิ่งที่ท่านรักและมีความผูกพัน คนเราไม่ควรแสวงหาความสุขสบายของตนเองเท่านั้น แต่ควรมองว่าความสุขสบายของคนที่มีบุญคุณกับเรานั้น

คืออะไร” คุณสมศักดิ์ บอกเล่าอย่างจริงจัง

แม้ สมศักดิ์ จะเป็นลูกชายคนเล็ก แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบต่อครอบครัว ซึ่งขณะที่กำลังศึกษาในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่นั้น ธุรกิจที่คุณพ่อสร้างมา ก็กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก “ปกติลูกชายคนเล็ก ไม่มีสิทธิแบกภาระครอบครัว แต่ธุรกิจกำลังลำบากเป็นช่วงขาลง มีแต่คนอยากจะออกไม่มีคนอยากเข้า ตอนมารับช่วง ยังเรียนอยู่ปี 3 ถือว่าลำบากที่สุด” สมศักดิ์ เผยอดีตให้ฟัง

ใช้เทคโนโลยี เป็นใบเบิกทาง สู่ความสำเร็จ

เขาใช้เวลา 3 ปี สามารถปลดหนี้ก้อนใหญ่ให้กับครอบครัวได้จนหมดด้วยแนวคิดที่ว่า การสร้างธุรกิจไม่ต่างกับการสร้างเมือง ที่ต้องคิดค้นพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ต้องพยายามปรับกลยุทธ์ คิดค้นนวัตกรรม เครื่องทำความเย็นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนพิสูจน์แล้วว่า ซัยโจเด็นกิ คือ สินค้าคุณภาพอย่างแท้จริง

“ทุกอย่างต้องพัฒนาต่อเนื่อง ไม่มีคำว่าสิ้นสุด เพราะฉะนั้น คำว่า “ที่สุด” จึงไม่มีในโลกนี้” นี่คือ สิ่งที่ สมศักดิ์ จิตติพลังศรี ใช้เป็นหลักคิด และยึดถิอเป็นแนวปฏิบัติมาตลอด จนนำพาธุรกิจก้าวไปสู่จุดที่เรียกว่า “ประสบความสำเร็จ”

นำนวัตกรรมที่มี มาร่วมรับผิดชอบสังคม

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ประเทศไทย และหลายๆ ประเทศบนโลกใบนี้ ล้วนประสบกับวิกฤติของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 บนวิธีการรับมือที่แตกต่างกัน ประเทศไทยใช้ความสามัคคีของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเพื่อรับมือ โดยภาครัฐใช้มาตรการรับมือ ภาคประชาชนให้ความร่วมมือ และภาคเอกชนได้นำเทคนิคนวัตกรรม และทุนทรัพย์ เข้าช่วยรับมือ

สมศักดิ์ จิตติพลังศรี คือ หนึ่งในภาคเอกชน ที่นำเอาโนว์ฮาว ในเครื่องปรับอากาศ ซัยโจ เด็นกิ และความตั้งใจในฐานะคนไทยคนหนึ่ง มาช่วยรับมือวิกฤติโควิด – 19 ด้วยการนำเอาเทคโนโลยี Inverter ที่คิดค้นสำเร็จเมื่อ 15 ปีก่อน และเทคโนโลยี IoT ที่คิดค้นสำเร็จเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา มาต่อยอดเกิดเป็นนวัตกรรมหอผู้ป่วยความดันลบระบบ Fresh Air แบบสมบูรณ์ หรือที่เรียกว่า ห้อง Negative pressure เพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วย โควิด – 19 ซึ่งได้ติดตั้งสำเร็จที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เป็นแห่งแรก และจะมีอีกหลายแห่งที่จะทำการติดตั้ง

จำนวนเงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ

สิ่งที่ สมศักดิ์ จิตติพลังศรี มอบให้กับสังคมไทย เป็นการทำโดย จิตสำนึกที่ดี ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ที่อยากตอบแทนสังคม ซึ่งเขาไม่ได้ทำแค่ ห้อง Negative pressure ที่มีมูลค่า 26 ล้านบาท (มูลค่าต่อ 1 สถานที่) และยังได้มีการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจ สำหรับห้อง ไอซียู จากประเทศจีน และเยอรมัน มามอบให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ถึง 67 เครื่อง เป็นเงินกว่า 27 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังให้การสนับสนุนงบวิจัย สำหรับมหาวิทยาลัยรัฐ ในด้านของแพทย์ศาสตร์ และสาธารณสุข ซึ่งหลายสิ่งที่ สมศักดิ์ จิตติพลังศรี และชัยโจ เด็นกิ ได้ลงมือทำ และมอบให้กับสังคม ไม่ค่อยได้ถูกนำเสนอบนโลกของการสื่อสารนัก

“ผมคิดว่า ในฐานะคนไทย เราภูมิใจครับ ที่ได้ทำโครงการนี้ ที่เราได้มีส่วนร่วม ในการพัฒนา ซึ่งแน่นอน ในสิ่งที่ได้ทำ เรามั่นใจว่าเราไม่หยุดการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศเรา เพียงแค่ระบบแยกอากาศ ผมเห็นหลายสิ่งที่เป็นเทคโนโลยีที่เราแข็งแรง แต่เรายังต้องซื้อต่างประเทศ ถ้าประเทศเราสามารถยืนบนขาตัวเราเองได้เต็มที่ ไม่ว่าวิกฤติ หรือยามปกติ เราก็จะยั่งยืน”

“ฉะนั้น ความตั้งใจหนึ่งที่ซัยโจมีเป็นปณิธาน ก็คือ ความตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่ง ในการช่วยเหลือสนับสนุนภาครัฐในการทำหน้าที่ เท่าที่เอกชนจะสามารถทำได้” เป็นคำยืนยันของผู้บริหารสูงสุด บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด


กำลังโหลดความคิดเห็น