ถึงแม้จะเจอวิกฤตหนัก แต่หากมองให้ดียังมีโอกาสซ่อนอยู่ การพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในช่วงเวลานี้จึงสามารถเกิดขึ้นได้หากตั้งใจจริง
วิธีการปรับตัวพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส
•รักษาธุรกิจของตนให้ปลอดเชื้อ ในเวลานี้สิ่งที่ทุกคนกลัวที่สุดคือเชื้อโควิด จึงไม่มีใครอยากสัมผัสหรือเข้าใกล้คนอื่น แม้แต่คนในครอบครัว เพราะเมื่อเชื้อโรคระบาดทุกคนมีโอกาสติดได้ทั้งนั้น การทำธุรกิจในช่วงนี้จึงต้องสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่าใช้มาตรการและรักษาความสะอาดที่เหมาะสมในการต่อสู้กับการระบาด
•ปรับบริการให้เข้ากับสถานการณ์ เมื่อคนต้องอยู่บ้าน ไม่สามารถเดินไปเข้าไปหาสินค้าได้ ผู้ประกอบการสามารถทำให้สินค้าเดินเข้าไปหาคนได้ ตัวอย่างที่ชัดเจน คือร้านอาหารที่ตอนนี้หันมาให้บริการแบบส่งถึงบ้านกันมากมายและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในช่วงนี้ ซึ่งถ้าธุรกิจอาหารสามารถทำได้ ธุรกิจอื่นก็ทำได้ไม่ยากเช่นกัน อาจเสนอโปรโมชั่นพิเศษเพื่อดึงดูดลูกค้า เช่น การจัดส่งฟรี ส่วนลดสำหรับการซื้อจำนวนมาก หรือส่วนลดและสิทธิประโยชน์สำหรับสมาชิก เป็นต้น
•ลดค่าใช้จ่าย ทุกธุรกิจย่อมกำหนดต้นทุนและค่าใช้จ่ายของตัวเองไว้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนการผลิต การตลาด บุคลากร แต่ในช่วงเวลายากลำบาก การบริหารจัดการต้นทุนต้องรัดกุมยิ่งกว่าเดิม เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถประคับประคองตัวเองไปได้ เริ่มด้วยการตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก ลดการใช้จ่ายของฟุ่มเฟือย เช่น ของใช้ในสำนักงานบางอย่าง, ลดจำนวนหน้าร้านลง, เจรจาต่อรองลดค่าเช่าพื้นที่ ให้พนักงานทำงานที่บ้านเพื่อลดค่าใช้จ่ายในสำนักงานและได้ช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อไปในตัวด้วย
ก้าวเข้าสู่ช่องทางออนไลน์
ไม่มีช่องทางไหนเหมาะสมกับการขายสินค้าในสถาณการณ์ที่คนต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้านมากไปกว่าช่องทางออนไลน์ ที่ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ง่ายๆผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ต แต่สิ่งสำคัญคือต้องเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสม ดูว่าสินค้าของเรามีกลุ่มเป้าหมายแบบไหน แล้วมุ่งไปที่นั่น นอกจากนั้นเรายังสามารถนำหลัก 5C’s มาใช้ในขายออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จได้อีกด้วย
1. C1 Core Focus (เน้นจุดแข็ง) มองหาและนำเสนอจุดแข็งของสินค้าหรือบริการของตัวเองให้เจอ หรือทำสิ่งที่ตัวเองชอบและถนัดให้เกิดเป็นจุดแข็ง ซึ่งจะทำให้เกิดผลงานคุณภาพดี เช่น หากเราถนัดวาดภาพ ให้ผสมผสานภาพวาดกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ กระเป๋า รองเท้า สมุดบันทึก เป็นต้น
2. C2 Content Marketing (สร้างเนื้อหาที่โดดเด่น) เมื่อเรามีของดีแล้ว เราต้องนำเสนอให้เป็นด้วย ในปัจจุบันคอนเทนต์ที่กำลังได้รับความนิยมในแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเฉพาะช่องทางโซเชียลมีเดีย คือ วิดีโอ การสร้างวิดีโอเนื้อหาน่าสนใจ เช่น การแบ่งปันความรู้ด้วยความเป็นกันเอง รีวิวการใช้งานจริง เลือกใช้ Influencer นำเสนอสินค้า ก็เป็นตัวเลือกที่ดีไม่น้อยในการดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้คนหันมามองธุรกิจของเรา
3. C3 Community Building (สร้างสังคม) คอนเทนต์ที่โดดเด่นจะนำพาคนที่สนใจสินค้าและบริการของเราหรืออาจเรียกได้ว่าลูกค้าในอนาคตมารวมตัวกัน และแพลตฟอร์มออนไลน์คือสิ่งที่คุณจะสามารถดึงพวกเขาให้มาอยู่ด้วยกัน สังคมออนไลน์ที่แนะนำสำหรับสร้างการติดต่อกับลูกค้าที่นิยม ได้แก่ Facebook Group และ Line Group
4. C4 Channels (หาช่องทางกระจายสินค้า) ยิ่งเรามีช่องทางกระจายสินค้ามากเท่าไหร่ ก็มีโอกาสขายได้มากเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาด้วยว่าช่องทางเหล่านั้นเหมาะสมกับสินค้าหรือบริการของเราหรือไม่ เพราะแพลตฟอร์มออนไลน์มีเยอะมาก เช่น Facebook, Instagram, Twitter, YouTube, Line
5. C5 CRM (การบริหารฐานลูกค้า) การดึงให้ลูกค้าสนใจว่ายากแล้ว การรักษาลูกค้าให้อยู่กับเรานาน ๆ นั้นยากกว่า ดั้งนั้นหากมีลูกค้าแล้วจึงต้องดูและใส่ใจให้ดี โดยอาจทำแบบสอบถามให้ลูกค้าแสดงความคิดเห็นต่อสินค้าและบริการเพื่อให้เราสามารถนำไปพัฒนาสินค้าตนเองได้ และสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าอยู่เสมอ
ในวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรคร้ายแรงเช่นนี้ ทุกคนย่อมได้รับผลกระทบโดยถ้วนทั่ว อาจจะมากน้อยต่างกัน แต่ไม่มีใครอยู่ได้อย่างสบายใจ สิ่งที่เราทุกคนต้องทำเพื่อให้อยู่รอดคือการปรับตัว มองหาสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ในตัว ต้องมีสักอย่างที่เราทำได้ อาจจะเริ่มจากการแนะนำกับคนใกล้ตัว เพื่อดูผลตอบรับจากนั้นค่อย ๆ ขยายฐานลูกค้าออกไป อย่าเพิ่งเร่งรีบ ไปช้า ๆ แต่มั่นคงดีกว่า