จากนี้ไปการติดตามความคืบหน้าในการลดปริมาณขยะพลาสติก จะไม่เป็นเรื่องที่น่าเบื่อ เมื่อนานาประเทศทั่วโลกตื่นตัวในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ตามรายงานของ www.worldpoliticsreview.com ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์การทำสงครามกับขยะพลาสติก
ความใส่ใจต่อมาตรการลดปริมาณขยะพลาสติก เริ่มตั้งแต่กันยายน 2018 ที่คลอดโปรแกรม The Ocean Cleanup project launched System 001 เป็นทุ่นกั้นลอยน้ำเพื่อกันขยะพลาสติกออกไปกระทบมหาสมุทรแปซิฟิก และมาตรการที่ฝรั่งเศสริเริ่ม The Great Pacific Garbage Patch แม้ว่าผลการติดตามพบว่าไม่ได้ผลตามที่คาดไว้ พอมาปี 2019 ยังมีโปรแกรมขยายผลเป็น System 001/B เมื่อเดือนมิถุนายน และยังมีอีกหลายโปรแกรมริเริ่มเพิ่มเติมขึ้นเป็นระยะ ๆ ในช่วงที่ผ่านมา
แม้ว่าผลการติดตามโดยรวมจะพบว่ามีสัญญาณเพียงส่วนน้อยและไม่ชัดเจนที่สะท้อนความสำเร็จของสงครามสู้รบกับขยะพลาสติกจากโปรแกรมทั้งหลายที่จัดทำไปแล้ว ทำให้ขยะพลาสติกยังคงทะลักลงสู่แหล่งน้ำต่างๆ
ขณะเดียวกัน การออกนโยบายรัฐใดๆ ที่จะเป็นการจำกัดการใช้พลาสติกแต่แรกเพื่อกันการสร้างขยะพลาสติกในระยะต่อไป ยังคงเป็นเรื่องการเมืองที่ก่อให้เกิดประเด็นร้อนแรง และยังไม่มีแนวทางอื่นทดแทน ส่วนการที่จีนประกาศปิดประเทศจากการเป็นเป้าหมายปลายทางของขยะพลาสติกทั่วโลก โดยเฉพาะจากประเทศเจริญแล้ว ทำให้ขยะพลาสติกยังทับถมบนผืนดินอย่างต่อเนื่อง
ประเด็นสำคัญที่ผู้ศึกษาได้สรุปไว้อย่างน่าสนใจ คือ
ประการแรก การเติบโตของตลาดรีไซเคิลพลาสติก ยังคงขึ้นอยู่กับระดับราคาตลาดของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ในสภาวะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างมากและต่อเนื่องเช่นนี้ ผู้ประกอบการที่ทำการผลิตพลาสติก มีแนวโน้มที่จะหวนกลับไปใช้โพลีเมอร์ใหม่ ที่มีราคาถูกกว่าเหมือนเดิม
ความกระตือรือร้นของประชาคมและสังคม ตลอดจนนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่ได้ริเริ่มแนวความคิดต่าง ๆ ไว้แต่แรก รวมทั้งการผลักดันให้แบนการใช้พลาสติก ดูเหมือนว่าแผ่วลง เมื่อพบว่ามีประเด็นสุ่มเสี่ยงใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จนทำให้ความใส่ใจกับการตอบสนองทางการเมืองลดลงไป นั่นทำให้สงครามเพื่อกำจัดขยะพลาสติกพลอยแผ่วตามไปด้วย
ประการที่สอง กระนั้นก็ตาม ความพยายามในการหยุดยั้งขยะและมลภาวะจากพลาสติกก็ยังคงมีอยู่ โดยมาในรูปแบบของการทุ่มเงินในงานวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ได้โซลูชั่นที่ดีกว่าเดิม ซึ่งน่าเสียดายว่าจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีเทคนิคใดที่จะทำให้ได้วัสดุอื่นๆ มาทดแทนพลาสติกได้อย่างคุ้มค่าในเชิงของ Cost-benefit analysis นั่นจึงทำให้วัสดุทดแทนพลาสติกยังมีอัตราการเติบโตไม่มากนัก ขณะที่ความพยายามยังคงดำเนินต่อไป
ประการที่สาม การใช้พลาสติกในรูปแบบ “Compostable plastics” ให้ผลออกมาไม่น่าพอใจ ทำให้ความพยายามยังคงเน้นไปที่การแสวงหาเทคโนโลยีก้าวหน้าใหม่ๆ มาช่วยพัฒนาอัตราการรีไซเคิลและคุณภาพการรีไซเคิล ตลอดจนเน้นไปที่ความพยายามจะหาตลาดแหล่งใหม่ของขยะพลาสติกทดแทนจีน หรือปรับปรุงยกระดับวิธีการรีไซเคิลปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีอื่น ที่ลดผลผลิตคุณภาพต่ำในกระบวนการรีไซเคิลให้คงเหลือแต่คุณภาพระดับสูงเท่านั้น อย่างเช่น การรีไซเคิลทางเคมี
ในประเด็นเหล่านี้ทำให้เกิดเป็นทางสองแพร่ง ระหว่างทางเลือกให้หาทางทำกระบวนการรีไซเคิลให้ดีขึ้น หรืออีกทางเลือก การกำจัดการใช้พลาสติกโดยการตัดขาด ไม่ให้มีที่ยืนอยู่ในตลาด ผ่านกรอบ Zero Waste Plastic
ประการที่สี่ สงครามในส่วนของการกำจัดขยะพลาสติกในทะเล การกลั่นปิโตรเคมี และการกำจัดพลาสติกออกไปจากซูเปอร์มาร์เก็ต ที่มีแนวโน้มดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยการริเริ่มโครงการ มาตรการในระดับโลกยังคงมุ่งไปที่มลภาวะจากขยะพลาสติกในทะเล ทำให้ผลงานในส่วนนี้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม แต่ยังค่อนข้างเชื่องช้า แบบค่อยเป็นค่อยไป สวนทางกับผลผลิตพลาสติกที่ยังคงเพิ่มขึ้นทุกวัน แม้ว่าจะเป้นที่ตระหนักรู้ในผลกระทบด้านมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมก็ตาม
ความสำเร็จต่อการทำสงครามกับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single use plastics) มีความชัดเจนในชัยชนะในแถบยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งไม่สอดคล้องกับปริมาณพลาสติกที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาในหลายเมืองหลักในเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา ตามปริมาณการบริโภค
ประการที่ห้า พลาสติกยังคงชนะทุกประเทศในโลก ณ วันนี้ คือ ภาชนะและหีบห่อที่เป็นพลาสติก รวม 38% ของพลาสติกทั้งหมด ในขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภค และงานก่อสร้างมีลำดับความสำคัญรองลงมา ซึ่งทำให้คาดว่าในราวปี 2050 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า ปริมาณขยะพลาสติกจากวัสดุใช้งานเหล่านี้จะเกินกว่า 34,000 ล้านตัน
ประการที่หก ประเด็นเชิงนโยบายของภาครัฐทั่วโลก ยังไม่เคยทิ้งนโยบายในการพยายามลดจำนวนของขยะและมลภาวะจากพลาสติก ทำให้บทบาทภาครัฐยังเป็นความหวังสำคัญของมวลมนุษย หากในอนาคตความสามารถทางเทคโนโลยีให้คำตอบที่น่าพอใจ โอกาสที่จะมีชัยชนะในสงครามการจัดการพลาสติกยังมีอยู่ แต่อาจจะยังอีกนานและห่างไกล จนไม่อาจจะประเมินช่วงเวลาได้อย่างชัดเจน