เมื่อวานนี้ ( 30 มีนาคม 2563) ที่ทำเนียบรัฐบาล ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯมอบระบบบริการตรวจคัดกรองเชื้อ COVID-19 เบื้องต้นแบบรวดเร็ว “Chula COVID-19 StripTest Service” ภายใต้โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 100,000 ราย เพื่อทำการคัดกรองให้ประชาชนที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 ผ่านพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี โดยมี ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีด้านยุทธศาสตร์ แผน และงบประมาณ จุฬาฯ รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย รองอธิการบดี ด้านการพัฒนางานใหม่และงานนวัตกรรม จุฬาฯ พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์ผู้ศึกษาวิจัย และ ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (Thailand Tech Startup Association) ร่วมในพิธีมอบนวัตกรรมดังกล่าว
“Chula COVID-19 Strip Test Service” เป็นระบบบริการตรวจคัดกรองโรค COVID-19 แบบรวดเร็ว ซึ่งพัฒนาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับทีมกลุ่มสตาร์ทอัพ ศิษย์เก่าจุฬาฯ และเครือข่ายพันธมิตร ภาครัฐและเอกชน ผลงานวิจัยของ รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ และ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท Baiya Phytopharm ซึ่งก่อตั้งโดยทีมสตาร์ทอัพที่บ่มเพาะจากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) เป็นการบูรณาการงานวิจัยและนวัตกรรมในศาสตร์ต่างๆ ทั้งทางการแพทย์ การสาธารณสุข การใช้เทคโนโลยีและข้อมูล การจัดการระบบ โดยนักวิจัยและนวัตกรไทย ใช้ทรัพยากรภายในประเทศไทย เพื่อลดการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นผลลัพธ์จากการดำเนินงานตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งหวังให้ประเทศไทยสร้างความมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม
“Chula COVID-19 Strip Test Service” ระบบบริการตรวจคัดกรองโรค COVID-19 แบบรวดเร็ว เป็นการทดสอบที่อาศัยหลักการทางภูมิคุ้มกันร่างกาย (Serology test) ซึ่งเป็นการตรวจหาแอนติบอดี (IgG & IgM) ในเลือด ซีรัม หรือพลาสมา โดยใช้ชุดตรวจวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็ว (Rapid diagnostic test kit) จะเริ่มใช้ที่ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแห่งแรก และจะขยายไปยังสถานพยาบาลเครือข่ายที่สนใจต่อไป ระบบตรวจคัดกรองโรค COVID-19 ด้วยนวัตกรรมนี้เริ่มต้นโดยผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 ลงทะเบียนทางออนไลน์ผ่านทาง Application ที่http://covid19.thaitechstartup.org/ ระบบจะใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงก่อนเพื่อส่งต่อไปยังระบบแอปพลิเคชันการให้บริการทางสุขภาพออนไลน์โทรเวชกรรม (Telemedicine) เพื่อให้แพทย์จิตอาสาทำการคัดกรองอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นการส่งเสริมแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดด้วยการเว้นระยะทางสังคม (Social Distancing) จากนั้นผู้ป่วยจะสามารถทำการนัดหมายเข้ามาที่ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผ่านแอปพลิเคชัน QueQ
เมื่อผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 มารับการตรวจคัดกรองที่ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ จะได้รับการตรวจโดยใช้ชุดตรวจแบบว่องไว Baiya Rapid COVID-19 ซึ่งเป็นชุดคัดกรองหาภูมิคุ้มกันต่อไวรัส COVID-19 หากมีผลเป็นบวกจะทำการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลเพื่อยืนยันผลด้วยวิธีมาตรฐานต่อไป หากผลเป็นลบและป้องกันการเกิดผลลบลวง (False negative) ระบบจะทำการติดตามผู้ป่วยโดยให้ผู้ป่วยกรอกข้อมูลอาการของตนผ่านแอปพลิเคชันหลังจากได้รับการตรวจและแนะนำให้กักตัวหรือเว้นระยะทางสังคม (Social Distancing)อย่างน้อย 14 วัน โดยมีการติดตามด้วยระบบการให้บริการทางสุขภาพออนไลน์โทรเวชกรรม (Telemedicine) หากยังพบว่าอาการไม่ดีขึ้นและมีความเสี่ยง ผู้ป่วยจะต้องกลับมาตรวจซ้ำภายใน 3 - 5 วันหลังจากได้รับการตรวจครั้งแรก
นวัตกรรมระบบตรวจคัดกรองโรค COVID-19 แบบรวดเร็วด้วย “Chula COVID-19 Strip Test Service” จะเปิดให้บริการตรวจคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 ทั้งในกลุ่มบุคลากรจุฬาฯ และบุคคลทั่วไป ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม 2563 ระหว่างเวลา 09.00 - 15.00 น. ที่ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯอาคารจามจุรี 9 ในระยะแรกสามารถให้บริการได้กลุ่มละ 50 คนต่อวัน ทั้งนี้บุคคลทั่วไปที่คาดว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงจะต้องลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อ นัดหมายการเข้ารับการตรวจคัดกรองเชื้อ COVID-19 เท่านั้น โดยผู้ที่ไม่ได้นัดหมายล่วงหน้าจะไม่สามารถเข้ามาขอรับบริการได้ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทรสายด่วน COVID-19 ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ โทร.08-0441-9041(ตลอด 24 ชั่วโมง) หรือโทร.0-2218-0568 (ระหว่างเวลา 08.00 -17.00 น.)