xs
xsm
sm
md
lg

ส่อง‘ผืนป่าเขาพระยาเดินธง’ วันนี้เห็นความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




(ภาพบน) สภาพพื้นที่ปลูกป่า เมื่อปี 2561 เห็นการเจริญเติบโตของป่าไม้ โครงการ “ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ” เมื่อเปรียบเทียบกับตอนเริ่มต้นโครงการ ปี 2559 (ภาพล่าง)
ซีพีเอฟ พาจิตอาสา ผนึกชุมชนร่วมกันต่อเติมฝาย ใน โครงการ “ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ” ซึ่งเป็นความร่วมมือกับกรมป่าไม้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5
พร้อมยืนยันความมุ่งมั่นสานต่องานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือชุมชนในละแวกลุ่มแม่น้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปด้วย เพราะตระหนักเสมอว่าชุมชนอยู่อาศัยใกล้ป่าจะเป็นผู้ช่วยดูแล สอดส่อง ปกป้องผืนป่าได้อย่างดี





ซีพีเอฟ กรมป่าไม้และจิตอาสา กว่า 300 คน ร่วมมือกันทำกิจกรรมซ่อมฝายชะลอน้ำ 14 จุด เป็นกิจกรรมแรกในปีนี้
เมื่อเร็วๆ นี้ ซีพีเอฟ กรมป่าไม้และจิตอาสา กว่า 300 คน ร่วมมือกันทำกิจกรรมซ่อมฝายชะลอน้ำ 14 จุด จากทั้งหมด 45 จุด ครอบคลุมพื้นที่ 5,971 ไร่ของเขาพระยาเดินธง (28 ก.พ.ที่ผ่านมา) ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของปีนี้ที่โครงการฯได้สานต่อภารกิจความยั่งยืนสามเสาหลัก ด้านสิ่งแวดล้อม “ดิน น้ำ ป่าไม้คงอยู่” และยังไปสนับสนุนนโยบายภาครัฐทางด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้อีกด้วย
ดวงมนู ลีลาวณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า แหล่งน้ำ เป็นปัจจัยสำคัญต่อการช่วยหล่อเลี้ยงป่าให้เจริญเติบโต กิจกรรมซ่อมแซมฝายชะลอน้ำในครั้งนี้ จะช่วยกักเก็บน้ำตอนเข้าฤดูฝนเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่าในระยะยาว เนื่องจากฝายหลายแห่งอยู่ในสภาพชำรุด
สุธี สมุทระประภูต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ เสริมว่ากิจกรรมซ่อมแซมฝายชะลอน้ำ เขาพระยาเดินธง ครั้งนี้ได้วางแผนกำลังคนและแบ่งโซนออกเป็น 4 โซน โซนแรกซ่อมฝาย 5 จุด โซนสอง ซ่อมฝาย 2 จุด โซนสาม ซ่อมฝาย 3 จุด และโซนที่สี่ ซ่อมฝาย 4 จุด รวมทั้งหมด 14 จุดด้วยกัน
กิจกรรมในโครงการนี้มีทั้งการสร้างฝายเพื่อกักเก็บน้ำ การปลูกป่าในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงการดูแลและป้องกันไฟป่า ซึ่งระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการชำรุดของฝายชะลอน้ำ เนื่องด้วยรูปแบบฝายแบบผสมผสาน จากฝาย 14 จุด เป็นฝายแบบผสมผสานหินทิ้ง จึงต้องช่วยซ่อมแซมด้วยวิธีการเรียงหินเติมด้านหน้าและด้านหลัง ให้เอียงประมาณ 30-40 องศา และวิธีการเทปูนซีเมนต์เพื่อเสริมความแข็งแรงของฝาย

ดวงมนู ลีลาวณิชย์
ด้าน ถนอมพงษ์ สังข์ธูป หัวหน้าโครงการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ เขาพระยาเดินธง กล่าวถึงความสมบูรณ์ของผืนป่า ว่าจากโครงการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ ที่นำมาใช้เป็นข้อมูลฐานในการเปรียบเทียบความหลากหลายทางชีวภาพที่เปลี่ยนแปลงหลังจากการดำเนินโครงการนี้ ณ เขาพระยาเดินธง
โดยผลสำรวจของอาจารย์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงสูงสุดที่พบ คือ จำพวกสุนัขจิ้งจอก อีเห็นและพังพอน ส่วนประเภทนกค้นพบถึง 100 สายพันธุ์ มีทั้งนกเหยี่ยว นกอพยพ และนกประจำถิ่น และยังมีตัวนิ่ม เต่าภูเขาที่เข้าไปถางวัชพืช นับเป็นสิ่งที่ถือว่าพื้นที่แห่งนี้ยังมีความอุดมสมบูรณ์สำหรับสัตว์ประเภทผิวดิน อีกส่วนหนึ่งที่พบและแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าเพิ่มขึ้นก็คือ ไก่ป่า ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยไก่ป่านั้นถือว่าเป็นห่วงโซ่อาหารที่สำคัญ ยิ่งมีมากเท่าใด ยิ่งเป็นการเพิ่มจำนวนสัตว์ผู้ล่า  
“อีกสิ่งที่การันตีความอุดมสมบูรณ์ของป่าผืนแห่งนี้ คือ การค้นพบ “นกจาบปีกอ่อนป่าสน” ณ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประเทศไทยเป็นแห่งแรก ซึ่งทางทีมงานพบอยู่ในป่าบนเขาพระยาเดินธงแห่งนี้ และได้รายงานทางชมรมดูนก สำหรับข้อมูลเบื้องต้นของนกจาบปีกอ่อนป่าสน ก็คือ มีลักษณะคล้ายนกจาบทั่วไป แต่อาจมีส่วนที่แตกต่างอยู่ ตรงที่เป็นนกอพยพมาจากภูมิภาคเอเชียใต้ และจะพบได้เฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม เท่านั้น”

ถนอมพงษ์ สังข์ธูป

นกจาบปีกอ่อนป่าสน ที่พบอยู่ในป่า บนเขาพระยาเดินธง