xs
xsm
sm
md
lg

“คิด-จาก-ถุง” ก้าวข้ามขีดจำกัด จาก“ขยะ” สู่สินค้าแฟชั่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ถุงบรรจุปูนซีเมนต์ที่รอทำลายในโรงงานที่กลายมาเป็นสินค้าสุดแนว ทั้งกระเป๋าถือ กระเป๋าสะพาย เป้สุดชิค หลากหลายไอเท็มที่คนสายแฟชันต้องมี (Must Have) ภายใต้ชื่อ “คิด-จาก-ถุง” กลายเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของเอสซีจี ในการชิมลางพลิกบทบาทจากผู้ผลิตซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง สู่การเป็นผู้นำแฟชันไลฟ์สไตล์ ด้วยการหาเพื่อนร่วมทำธุรกิจและชุบชีวิตถุงบรรจุปูนซีเมนต์ให้กลายเป็นสินค้าสายแฟชันที่สะท้อนการใช้ชีวิตแบบรักษ์โลก

สยามรัฐ สุทธานุกูล Chief Marketing Officer-Cement and Construction Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เล่าถึงความยากและความท้าทายในการนำถุงปูนซีเมนต์ที่รอการทำลาย มาเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น ด้วยการผลักดันถุงปูนสู่สินค้า “แฟชัน-ไลฟ์สไตล์” ซึ่งนับเป็นคอนเซ็ปต์ที่ข้ามขีดจำกัดของเอสซีจีที่เติบโตมาจากธุรกิจขายปูนและวัสดุก่อสร้าง และไม่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจ “สายแฟชัน” แต่ด้วยความเชื่อและความพร้อมในการปรับตัวของทีมงาน ทำให้ความคิดนี้เป็นไปได้แบบไม่ยากนัก


สยามรัฐ สุทธานุกูล Chief Marketing Officer-Cement and Construction Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี

“เราเติบโตมาจากธุรกิจการผลิตและขายปูนมากว่า 100 ปี แต่วันนี้เราขยายโอกาสด้วยการ Upcycle ถุงปูนที่รอทำลาย ให้เป็นสินค้าแฟชัน-ไลฟ์สไตล์รักษ์โลก ตามหลัก Circular Economy ด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ที่มองหาเพื่อนร่วมธุรกิจเป็นพาร์ทเนอร์”

“เราเริ่มจากหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ที่เป็นแนวทางการทำงานของเอสซีจีเพื่อใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้มีแนวคิดว่าถุงปูนที่รอการทำลายเหล่านี้ จะต้องไม่กลายเป็นขยะ จึงต้องคิดต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ถุงปูน”

๐ นำเสนอสิ่งใหม่ แบ่งตลาดเป็น 2 กลุ่ม

สิ่งสำคัญที่เอสซีจีเริ่มทำเพื่อรุกตลาดที่ไม่มีความคุ้นเคย คือการหาเพื่อนร่วมธุรกิจเป็นพาร์ทเนอร์ เพื่อร่วมกันคิด ออกแบบ และพัฒนาสินค้า พร้อมร่วมกันทำการตลาด และนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ด้วยกลยุทธ์ในการแบ่งตลาดเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.) กลุ่มลูกค้าที่มองหางานดีไซน์ที่มีลักษณะเฉพาะตัว (Exclusive) มีจำนวนจำกัด (Limited Edition) จึงได้ร่วมมือกับดีไซน์เนอร์ไทยมีชื่อเสียง และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้ง ISSUE, KLOSET & ETCETERA, URFACE และล่าสุดคือ Renim Project ที่ทำให้เอสซีจีได้รับโอกาสให้ไปนำเสนอผลงานที่งาน LA Fashion Week และ 2.) กลุ่มลูกค้าทั่วไป (Mass) ที่ต้องการสินค้าที่เน้นการใช้งาน สามารถหาซื้อและเป็นเจ้าของได้ง่าย จึงได้พัฒนาสินค้าภายใต้แบรนด์ “คิด-จาก-ถุง”


หลังจากเปิดตัวกระเป๋าถุงปูนได้ไม่นาน ทั้งกระเป๋าถุงปูนคอลเลคชันพิเศษ และแบรนด์ ”คิด-จาก-ถุง” ทำให้เอสซีจีมียอดขายกระเป๋าถุงปูนเติบโตเกินคาด จนต้องมีกลยุทธ์ต่อยอดความสำเร็จ โดยเตรียมเปิดตัวคอลเลคชันใหม่ ๆ ร่วมกับดีไซน์เนอร์ เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมรักษ์โลกของผู้บริโภคที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

“เราต่อยอดความสำเร็จด้วยการดีไซน์สินค้าใหม่ออกมาเรื่อยๆ ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ หาช่องทางเข้าไปร่วมมือกับดีไซน์เนอร์เก่งๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และสร้างความแปลกใหม่ให้วงการแฟชันอย่างต่อเนื่อง”


๐ พบคำตอบสร้างโอกาสมหาศาล แม้ศก.ชะลอ

การกระโดดเข้ามาบนถนนแฟชันทำให้ได้ค้นพบคำตอบที่สร้างโอกาสมหาศาล แม้ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่สินค้ากลุ่มแฟชันกลับเติบโต แม้ว่าจะมีราคาสูง แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อพร้อมจะสนับสนุนหากเป็นแบรนด์ที่ถูกใจ ตอบโจทย์เรื่องดีไซน์และการใส่ใจสิ่งแวดล้อม

“หากโดนใจผู้บริโภค ลูกค้าชอบ ก็ขายได้ เพราะฉะนั้น ต่อให้ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี สินค้าแฟชันและไลฟ์สไตล์ยังขายได้ หากหมั่นพัฒนาตัวเองโดยยึดความต้องการลูกค้าเป็นตัวตั้ง”


สยามรัฐ ยังถอดบทเรียนความสำเร็จของการก้าวอีกขั้นจากการเป็นผู้ผลิตปูน สู่ผู้พัฒนาสินค้าแฟชัน ด้วย “How to ทำอย่างไรให้อยู่รอด” ด้วย 3 หลักคิด ได้แก่ 1.) รู้จักลูกค้า เป็นโจทย์แรกที่สำคัญที่สุดที่จะนำไปสู่การหาคำตอบเพื่อสร้างสินค้าที่ลูกค้าต้องการ 2.) ไม่เก่งอย่าทำเอง หลายธุรกิจพลาด เพราะคิดว่าคนเก่งจะต้องทำเองได้หมดทุกอย่าง แต่การหาพารท์เนอร์และพันธมิตรเก่งๆ มาเสริมทัพธุรกิจ จะนำไปสู่สินค้าข้ามเซ็คเมนท์ที่ธุรกิจผลิตได้ และ 3.) อย่าถอย ทุกวันนี้ไม่สามารถใช้โมเดลธุรกิจแบบเดิมได้ หรือหากมัวแต่กลัวว่าจะทำไม่ได้หรือรอให้ภาพชัดเจนก่อนค่อยทำอาจจะไม่ทันการณ์ ดังนั้น จึงต้องลองลงมือทำ เพียงแต่การลองสิ่งใหม่จะต้องยึดหลักไม่ท้อถอยและ “ต้องหมุนเร็ว”

“นี่เป็นสามข้อที่ทำให้เราอยู่ได้ในสภาวะที่มีการแข่งขันรวดเร็ว ซึ่งช่วยสร้างให้โมเดลธุรกิจ คิด-จาก-ถุง คืนชีวิตและเพิ่มมูลค่าให้กับถุงปูนแทนการทำลาย และเป็นการช่วยลดโลกร้อนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อีกด้วย”


กำลังโหลดความคิดเห็น