อุณหภูมิแถบแอนตาร์กติก หรือพื้นที่แถบขั้วโลกใต้ได้เพิ่มขึ้นสูงกว่า 20 องศาเซลเซียส หรือ 68 องศาฟาเรนไฮต์ เป็นครั้งแรก ถือว่าเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อและผิดปกติ ทำให้นักวิทยาศาสตร์เกิดความวิตกต่อสภาพความไม่แน่นอนของแหล่งกักเก็บน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลก
นักวิทยาศาสตร์ชาวบราซิลระบุว่าอุณหภูมิวัดได้ที่เกาะซีมัวร์ (Seymour Island) เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2020 สูงถึง 20.75 องศาเซลเซียส จากระดับ 19.8 องศาเซลเซียสของการวัดครั้งก่อนที่เกาะซิกนี (Signy Island) ปี 1982
ซึ่งก่อนหน้านักวิทยาศาสตร์ชาวอาร์เจนตินาวัดอุณหภูมิของสถานีเอสเพอร์รันซา (Esperanza) เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2020 ได้ 18.3 องศาเซลเซียส ก็เป็นระดับที่สูงสุดมาแล้วของคาบสมุทรแอนตาร์กติก
อุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จากการวัดทั้งสองครั้งนี้ แม้ว่าจะต้องผ่านการรับรองจากกรมอุตุนิยมวิทยาโลก แต่ก็สอดคล้องกับสถานการณ์ส่วนใหญ่ในบริเวณคาบสมุทรแอนตาร์กติกและเกาะที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งอุ่นขึ้นเกือบ 3 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่ยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม และเป็นอุณหภูมิที่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแห่งหนึ่งของโลก
โดยนักวิทยาศาสตร์ผู้ซึ่งเก็บข้อมูลจากสถานีตรวจสอบระยะไกลทุกๆ 3 วัน อธิบายว่า อุณหภูมิที่ทำสถิติใหม่นี้เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อและผิดปกติ
“เราเคยเห็นแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิจากหลายสถานีที่เราเฝ้าติดตาม แต่ไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน”คาร์ลอส เชฟเฟอร์ ซึ่งทำงานในโครงการเทอร์รานทาร์ (Terrantar) โครงการของรัฐบาลบราซิลที่มุ่งไปที่การประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ climate change ต่อชั้นดินเยือกแข็งคงตัว หรือ permafrost (permafrost หมายถึง พื้นดินที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่พบพื้นดินแบบนี้ในบริเวณขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ และพื้นที่สูงที่มีอากาศหนาวเย็น ซึ่งบนผิวดินอาจไม่จำเป็นต้องมีน้ำแข็งปกคลุมก็ได้) และด้านชีววิทยาจาก 23 สถานีที่คาบสมุทรแอนตาร์ติก
เชฟเฟอร์กล่าวว่า อุณหภูมิในคาบสมุทรแอนตาร์ติก บริเวณเกาะเชตแลนด์ใต้ (South Shetland Island) และหมู่เกาะเจมส์ รอสส์ (James Ross archipelago) ซึ่งครอบคลุมเกาะซีมัวร์ มีความไม่แน่นอนในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา และหลังจากที่เย็นลงในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษนี้ ก็กลับมาอุ่นขึ้นอย่างรวดเร็ว
นักวิทยาศาสตร์ชาวบราซิลซึ่งอยู่ในโครงการแอนตาร์กติกให้ความเห็นว่า การที่อุณหภูมิสูงขึ้นเกิดจากอิทธิพลของการยกตัวของกระแสน้ำในมหาสมุทรและปรากฎการณ์เอลนีโญ “เราพบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในชั้นบรรยากาศ ซึ่งเกี่ยวข้องกันมากกับการเปลี่ยนแปลงของชั้นดินเยือกแข็งคงตัวและมหาสมุทร ทั้งหมดนี้สัมพันธ์กันมาก”
ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีความแตกต่างกันทั่วทั้งคาบสมุทร ที่ประกอบด้วยผืนดิน เกาะ และมหาสมุทรซึ่งอยู่บริเวณเส้นขนานหรือละติจูดที่ 60 องศาใต้ ภูมิภาคนี้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ 70% ของโลกในรูปของหิมะและน้ำแข็ง ซึ่งหากละลายทั้งหมดจะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 50-60 เมตร แต่นั่นต้องเป็นอีกหลายชั่วชีวิตคน นักวิทยาศาสตร์สหประชาชาติพยากรณ์ว่า ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นราว 30-110 เซนติเมตรภายในสิ้นศตวรรษนี้ แต่ขึ้นอยู่กับความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและความเปราะบางของแผ่นน้ำแข็ง
ขณะที่อุณหภูมิทางตะวันออกและตอนกลางของแอนตาร์กติกยังคงทรงตัว แต่ก็มีความวิตกมากขึ้นต่อทางตะวันตกของแอนตาร์กติก ซึ่งมหาสมุทรที่อุ่นขึ้นมีผลต่อธารน้ำแข็งที่เกาะไพน์และเกาะทะวาอิทส์ (Thwaites and Pine Island) และก็ยังมีผลน้อยต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล แต่ก็อาจจะเพิ่มขึ้นรวดเร็วได้หากอุณหภูมิสูงขึ้นต่อเนื่อง
คาบสมุทรแอนตาร์ติกที่มีความยาวทอดไปยังอาร์เจนตินาได้รับผลกระทบมากที่สุด จากการที่เดอะการ์เดียนร่วมเดินทางไปกับกลุ่มกรีนพีซพบว่า ธารน้ำแข็งลดลงมากกว่า 100 เมตรในอ่าวดิสคัฟเวอรี (Discovery Bay) และพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะคิง จอร์จ (King George Island) ซึ่งหิมะค่อยๆ ละลายมากว่าสัปดาห์ จนเห็นก้อนหินสีดำ ขณะที่การละลายของน้ำแข็งเกิดขึ้นทุกๆ หน้าร้อน นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมาเห็นได้ชัดขึ้นว่า อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นในหน้าหนาว สิ่งเหล่านี้เชื่อว่าเป็นสาเหตุของสัญญานอันตรายของการลดลงมากกว่า 50% ของกลุ่มนกเพนกวินสายพันธ์ชินสแตรป (chinstrap penguin) ซึ่งต้องพึ่งพาทะเลน้ำแข็ง
เชฟเฟอร์กล่าวว่า การติดตามการเก็บบันทึกข้อมูลในบริเวณนี้ อาจจะบ่งชี้ได้ถึงสถานการณ์ในส่วนอื่นของภูมิภาค “เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีพื้นที่เฝ้าระวังอย่างเกาะเชตแลนด์ใต้ และคาบสมุทรแอนตาร์กติกเพราะจะบ่งชี้ถึงสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นอนาคตอันใกล้นี้”
หมายเหตุ
แอนตาร์กติกา (Antarctica) หมายถึง ทวีปหรือพื้นดินที่อยู่รอบขั้วโลกใต้ มีพื้นที่กว้างใหญ่เป็นอันดับห้าของโลก ส่วนแอนตาร์กติก (Antarctic Regions) หมายถึง บริเวณที่รวมทวีปแอนตาร์กติกาและผืนน้ำของมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรอินเดีย
เขตแอนตาร์กติก เป็นบริเวณตั้งแต่เส้นรุ้ง (latitude) ๖๖° ๓๓’ ใต้ลงมา ทวีปแอนตาร์กติก มีพื้นที่ประมาณ ๑๔ ล้านตารางกิโลเมตร หรือ ใหญ่กว่าประเทศไทยประมาณ ๒๗ เท่า ประมาณ ร้อยละ ๙๘ ของพื้นที่ทั้งหมดถูกปกคลุมไปด้วยแผ่น น้ำแข็งที่มีความหนาเฉลี่ยประมาณ ๒,๔๕๐ เมตร ดังนั้น หากแผ่นน้ำแข็งบนทวีปแอนตาร์กติกละลาย ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็จะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่ม สูงขึ้นได้ถึง ๖๐ เมตร (ประมาณเท่ากับความสูงของ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) เนื่องจากทวีปแอนตาร์กติก ปกคลุมด้วยแผ่นน้ำแข็งที่ค่อนข้างหนา จึงทำให้ทวีป แอนตาร์กติกอยู่เหนือจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๒,๐๐๐ เมตร คือสูงกว่าทวีปอื่นๆ ราว ๓ เท่า
ทวีปแอนตาร์กติกเป็นบริเวณที่ไม่มีมนุษย์ อาศัยอย่างถาวร มีเพียงคณะสำรวจของหลายประเทศ ที่เข้าพื้นที่เพื่อศึกษาวิจัยประมาณ ๔,๐๐๐ คนต่อปี พื้นที่นี้ถือได้ว่าเป็นบริเวณที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุด ในโลก เนื่องจากมีการระเหยของน้ำน้อย และมีอากาศ ที่ค่อนข้างแห้งมาก ประกอบกับไม่ได้รับความอบอุ่น จากมหาสมุทร อุณหภูมิต่ำสุดที่ตรวจวัดได้ที่ทวีป แอนตาร์กติกคือ -๙๓.๒ องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิ เฉลี่ยของน้ำทะเลบริเวณมหาสมุทรแอนตาร์กติกอยู่ ระหว่าง -๑.๘ ถึง ๓.๕ องศาเซลเซียส
ข้อมูลอ้างอิง THAIPUBLICA , https://www2.mtec.or.th/th/e-magazine/admin/upload/296_51.pdf