xs
xsm
sm
md
lg

บอลจุฬา-ธรรมศาสตร์ปีนี้ วัดผลจัดการขยะ-แล้วไงต่อ / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





นับเป็นจุดเริ่มต้นในการลดขยะพลาสติกที่ส่งผลร้ายชัดเจนต่อสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตคนและสัตว์น้ำ ภาคธุรกิจค้าปลีกพร้อมใจกันงดแจกถุงพลาสติกหูหิ้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มกราคมศกนี้ แล้วจะไปต่ออย่างไร!
ต้องนับว่าปรากฏการณ์สั่งสมของประจักษ์พยานการใช้ถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นขยะ ไปสร้างปัญหาท่ออุดตันจนเป็นสาเหตุหนึ่งของน้ำท่วมและยังสร้าง “ชื่อเสีย” ให้ไทยติดอันดับโลกด้านมีขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด
แล้วลามไปถึงการพบการเสียชีวิตของสัตว์น้ำหลายชนิด เช่น วาฬ เต่าทะเล และโลมา ที่ถูกน้ำพัดพามาเกยตื้นชายฝั่งทะเลรวมทั้งพะยูนมาเรียมที่เมื่อผ่าท้องพิสูจน์ก็เจอถุงพลาสติก จนสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้หลงกินเข้าไปอย่างสะเทือนใจ
กระแสสังคมในยุคดิจิทัล ที่รับรู้และบอกต่ออย่างกว้างขวาง รวดเร็ว จึงเป็นแรงกดดันการรณรงค์ให้ “งดใช้ถุงพลาสติก” ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งมีการตอบรับจากผู้ห่วงใยสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง


คราวนี้เรามาดูปรากฏการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 คือ รายการฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74
นับว่ากระแสสังคมที่ตระหนักรู้ภาวะวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดมลพิษทั้งในแม่น้ำ บนดินและในอากาศ ทีมงานของ 2 มหาวิทยาลัยจึงมองไปที่ปัญหาขยะที่ต้องร่วมกันแก้ไข แล้วชูคำขวัญการจัดงานว่า “รักษ์โลกให้ถูกทาง”
งานนี้ยังได้ทีมงานจากบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (CG) ซึ่งเป็นผู้นำด้านธุรกิจนวัตกรรมเคมีภัณฑ์มาช่วยแนะนำและสนับสนุนระบบการจัดการขยะให้ผู้เกี่ยวข้องทุกส่วน รวมทั้งผู้ชมฟุตบอลรอบสนามตระหนัก ไม่ทำสิ่งที่เกิดขยะให้เป็นภาระสังคม
ผู้เชี่ยวชาญในการจัดการขยะจะแนะนำการออบแบบกิจกรรมและสนับสนุนบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพ ที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เช่นกล่องบรรจุอาหารกลางวันและใส่ของว่างของกองเชียร์ รวมทั้งใช้พลาสติกแปรรูปจากพลาสติกใช้แล้ว (ที่เรียกว่า Upcyling) เช่น ถุงผ้าใส่อุปกรณ์เชียร์ เป็นต้น
ถ้ามีการสื่อสารเรื่องการกู้วิกฤตสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนมีส่วนร่วมสร้างปัญหาและรับผลกระทบจากปัญหา ก็ถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับค่านิยม ทัศนคติและพฤติกรรมมารับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม




ข้อคิด...
ถ้าคิดในหลักการตลาดเพื่อสังคม (Social Marketing) กิจกรรมใหญ่ที่นิสิตนักศึกษา 2 มหาวิทยาลัยชั้นนำและประชาชนผู้ชมฟุตบอลประเพณีที่จัดต่อเนื่อง และยังมีสีสันของขบวนพาเหรดล้อการเมืองที่คนสนใจอยากดู
การใช้งานฟุตบอลประเพณีเป็น Event Marketing ในการสร้างความตระหนักรู้การจัดการขยะที่เหมาะสม หากสื่อสารให้ดี ก็มีโอกาสเกิดการกระทำทั้งตัวผู้เกี่ยวข้องในสนามฟุตบอลและผู้ชมทางสื่อสารมวลชน รวมทั้งอาจนำวิธีคิดและวิธีนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
เพราะปัญหาเรื่องถุงพลาสติกที่กำลังเป็นผู้ร้าย ทั้งๆ ที่สามารถทดแทนกระดาษ ซึ่งต้องตัดไม้มาผลิต แต่ที่เกิด “ปัญหาขยะพลาสติก” จนเป็นปัญหาใหญ่ ก็เพราะคนขาดจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมและขาดการจัดการขยะอย่างถูกวิธี
แนวคิดจากผู้จัดงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ เมื่อผสมกับข้อเสนอของสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกที่โดนผลกระทบจากการงดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วได้แก่ :
ลดขยะ แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ก็ต้องมีกิจกรรมส่งเสริมการลดใช้-ใช้ซ้ำ
เปลี่ยนวัสดุ มาใช้วัสดุทางเลือก เช่น วัสดุที่ย่อยสลายง่าย วัสดุจากธรรมชาติหรือวัสดุที่นำกลับมาใช้ได้ เช่น ใช้ถุงที่หนากว่า 40 ไมครอน ที่สามารถใช้ซ้ำและนำไปขายเพื่อการรีไซเคิลได้ง่าย
แยกขยะ เพื่อนำไปจัดการอย่างเหมาะสม โดยใช้ถุงพลาสติกที่มีสีและสัญลักษณ์ให้ชัดเจน (สีเขียว สำหรับถุงย่อยสลายตามธรรมชาติ สีเหลือง ถุงพลาสติกที่นำไปรีไซเคิลได้)
ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร มีการทบทวนปรับปรุงกฎระเบียบที่เอื้อต่อการไปสู่เป้าหมายส่งเสริมสังคมและสิ่งแวดล้อม ก็เชื่อว่า สภาพแวดล้อมจะดีขึ้นตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

suwatmgr@gmail.com