xs
xsm
sm
md
lg

บอลประเพณี จุฬา-ธรรมศาสตร์ ’74 / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

ถ้าเราจะตายหมดโลกหรือดับอนาถเป็นวงกว้างก็ด้วยอุกกาบาตขนาดยักษ์ ดาวอื่นพุ่งเข้าชน เกิดสงครามล้างโลก หรือสาเหตุจากโรคระบาด ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบัน อู่ฮั่น โคโรน่า วายรัส โรคปอดอักเสบมันรุนแรงถึงชีวิต ทำคนตายไปแล้วเกือบครึ่งพัน เชื้อแพร่กระจายไปเพียงไอ จาม ใส่กัน หรือดันไปจับต้องเชื้อที่เปรอะเปื้อนตามที่ต่างๆ โดยไม่รู้ตัว แล้วเผลอเอาเข้าทางปาก ตา จมูก ฯลฯ อัตราการแพร่กระจายเป็นทวีคูณรวดเร็วมาก เริ่มแรกมีผู้ติดเชื้อจำนวนไม่กี่สิบคน กลายเป็นร้อยเป็นพันในระยะเวลาไม่กี่วัน ถึงตอนนี้แตะหลัก 2 หมื่นคนแล้ว ถ้าผู้นำประเทศที่ได้อำนาจมาด้วยหนทางไม่สุจริตอยู่แล้วจะมัวหวั่นต่อข่าวปลอม เกรงผู้คนรู้สึกผวา ตื่นตระหนกมากกว่าจะเร่งดำเนินการป้องกัน จำกัด คัดแยก กักกัน รักษา มิให้เชื้อมันแพร่ในชุมชนไทย และแถลงข่าวให้ความกระจ่างทุกๆชั่วโมง ผมก็ว่า ตรรกะของคนพวกนี้ นรกสิ้นดี

เรื่องพิกลพิการในทางการเมืองที่เกิดขึ้นโดยผู้ครอบครองอำนาจ ในยุคที่คนดีไม่ได้ปกครองประเทศ แต่ดันเป็นคนโกง ศรีธนญชัย คนค้ายาเสพติด รุกป่า รับสินบน ทุจริต ตักตวงผลประโยชน์ให้แก่ตนและพวกพ้องกลับได้เถลิงอำนาจ เอาเปรียบประชาชน ดำเนินการหลากหลายมาตรฐานตามแต่จะคิด แก้ปัญหาต่างๆไม่เป็นผล ไร้ปัญญา โง่เขลา เชื่องช้า ทำเศรษฐกิจทรุด เรื่องเหล่านี้ย่อมต้องถูกหยิบมาวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิ กระตุกเตือน ว่ากล่าว ผ่านการเดินพาเหรดขบวนล้อการเมือง ด้วยหุ่น ข้อความในป้ายผ้า บทกลอน สะท้อนความคิดเห็นของนักศึกษา โดยกลุ่มอิสระล้อการเมืองของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์มาทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นในยุครัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบหรือรัฐบาลเผด็จการก็ตาม

เสน่ห์อีกประการหนึ่งนอกจากเกมการแข่งขันที่มีมาควบคู่กับ งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ก็คือการแปรอักษรอันตระการตา ฝรั่งเรียกการแปรอักษรว่า Card stunt เกิดขึ้นในโลกของเราตั้งแต่เมื่อใดและใครเป็นคนคิด ไม่มีหลักฐานปรากฏ แต่ผู้ที่ริเริ่มการแปรอักษรขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2487 และได้รับการยกย่องให้เป็น " บิดาแห่งการแปรอักษร " ก็คือ มาสเตอร์ เฉิด สุดารา แห่งโรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งต่อมาหลายสถาบันก็ได้ถือเป็นแบบอย่างนำไปจัดการแปรอักษรบ้าง เช่น ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500

ภาพสีสันอันสวยงามเกิดจากการวาดลงบนสมุดที่ถูกผลิตขึ้นพิเศษให้มีช่องตารางตามการนั่งเรียงแถวในการแปรอักษร แล้วนำไปกำหนดเป็นโค้ดสีเพื่อให้เปิดสีตามนั้น จากสมัยก่อนสมุดสีแค่ 4 เล่มเย็บติดบนแผ่นไม้อัดแปรอักษรของแต่ละคนที่เรียกว่า เพลท (Plate) เพลทของยุคก่อนถูกเรียกตามความละเอียดได้เป็น เพลท 1:4 ต่อมาจึงมีความละเอียดยิ่งขึ้นเป็น เพลท 1:9 และ 1:16 ยิ่งในปัจจุบัน นอกจากจะปรับมาใช้โครงลวดแทนเพื่อให้มีน้ำหนักเบาแล้ว ความละเอียดยังพัฒนาไปไกลอีกด้วย สำหรับการแปรอักษรที่นิสิตกำลังช่วยกันซ่อมเพลทอยู่นี้ก็เรียกว่า เพลท 1:25

ผู้นำเชียร์จากทั้ง 2 สถาบันที่หลายคนอาจเติบโตขึ้นไปอยู่ในวงการบันเทิงได้อีก พวกเขาและเธอจะถูกเลือกเฟ้นมาเป็นอย่างดีและต้องฝึกซ้อมอย่างหนักและยาวนานมาก ถ้าจะพูดให้ถูกต้องจริงๆก็ซ้อมหนักและนานกว่านักฟุตบอลเสียอีก ผมเห็นเริ่มซ้อมกันมาตลอด 3 เดือนเต็ม ในขณะที่นักเตะนั้น เท่าที่ทราบ ทางฝั่งจุฬาฯ รวมตัวฝึกซ้อมเพียงแค่ 3 วันเท่านั้น คือวันที่ 5 6 และ 7 กุมภาพันธ์นี้ ทั้งนี้ เนื่องจากสมัยนี้เป็นยุคฟุตบอลอาชีพ หลายคนสังกัดสโมสรอาชีพอยู่แล้ว เรื่องพละกำลัง ทักษะ ฝีเท้า ความเข้าใจเกม ครบครันอยู่แล้ว แค่เรียกมารวมตัวเพื่อทำความเข้าใจกับแผนการเล่น ทดลองลงทีมร่วมกัน อย่างนี้ฝรั่งเรียกว่า เจ็ล ให้เข้ากัน ฝึกซ้อมร่วมกันซักวัน 2-3 วันก็เพียงพอ ยิ่งฟุตบอลไทยลีกฤดูกาล 2020 กำลังจะเปิดในสัปดาห์ต่อมา ย่อมเป็นการยากที่สโมสรต่างๆจะยินดีปล่อยตัวนักเตะของตนมาให้ขาดซ้อมหรือเกิดบาดเจ็บซะงั้น

ผมขอขอบคุณภาพประกอบฝีมือของ SGCU ที่ได้จากเผจ งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ นะครับ ผลการแข่งขันที่ผ่านมา 73 ครั้ง ธรรมศาสตร์ชนะ 24 ครั้ง จุฬาฯ ชนะ 17 ครั้ง เสมอกัน 32 ครั้ง และหนล่าสุด จุฬาฯ เป็นฝ่ายครองถ้วยพระราชทานด้วยการเอาชนะ ธรรมศาสตร์ 2-1 ติดตามชม งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 ภายใต้แนวคิด “Make a CHANGE เปลี่ยน ปรับ ขยับสังคม” เพื่อปลุกกระแสสังคมให้ตระหนักรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ในปีนี้จุฬาฯ เป็นเจ้าภาพจัดงานในวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ ที่ สนามศุภชลาศัย ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น