เป็นที่รับรู้กันทุกปี ว่างานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เป็นที่จับตาของสังคมไทย เนื่องจากนิสิตนักศึกษา ศิษย์เก่าทั้งสองสถาบันจะออกมาแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ผ่านกิจกรรมการแข่งขันฟุตบอล ขบวนพาเหรด รวมถึงการเชียร์และกิจกรรมเพื่อสังคมอื่นๆ
ในปีนี้ที่น่าจับตาอีกด้าน เห็นจะเป็นการแสดงพลังในการเรียกร้องเพื่อให้สังคมปรับเปลี่ยน ทางด้านสิ่งแวดล้อม ที่คาดกันว่าจะสร้างแรงผลักดัน ไปขับเคลื่อนสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น
จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 74 ในวันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ ณ สนามศุภชลาศัย โดยทางจุฬาฯ เป็นเจ้าภาพ ภายใต้แนวคิด “Make a CHANGE เปลี่ยน ปรับ ขยับสังคม” ซึ่งจะไม่ได้แค่พูดถึงปัญหา
แต่เป็นความร่วมมือจากทั้งสองสถาบัน นับตั้งแต่เริ่มต้นจัดการขยะอย่างถูกทางร่วมกันเป็นครั้งแรก ผ่านแคมเปญ “𝐖𝐚𝐬𝐭𝐞 𝐓𝐡𝐢𝐬 𝐖𝐚𝐲 รักษ์โลกให้ถูกทาง” และคาดหวังสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่สังคมให้เกิดการลงมือทำพร้อมเชิญชวนทุกคนมาร่วมแสดงพลังไปพร้อมๆ กัน ด้วยการ “ลด เปลี่ยน แยก” โดยมีงานนี้เป็นแบบอย่าง
ให้ทุกคนในงานช่วย “ลด”
“ลดการใช้ที่ไม่จำเป็น” เช่น ขวดแก้วเครื่องดื่ม ที่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วต้องทิ้ง (Single-use) โดยการพกขวดน้ำส่วนตัวมาเอง ในงานฟุตบอลประเพณีฯ มีการจัดเตรียมซุ้มน้ำหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นชานมแสนอร่อย หรือชามะนาวเย็นชื่นใจ ให้ผู้ร่วมงานสามารถเติมได้ตลอดทั้งงาน โดยจัดให้เติมฟรีกับผู้ที่พกขวดหรือแก้วส่วนตัวมาเอง เพื่อเป็นการร่วมรณรงค์ให้ “ลด” การสร้างขยะที่ไม่จำเป็น ซึ่งถือเป็นวิธีการลดขยะที่ได้ผลดีที่สุดในการรักษ์โลกให้ถูกทาง
ให้ทุกคนร่วมกัน “เปลี่ยน”
หมายถึงการให้ทุกคนหันมาเปลี่ยนวัสดุต่าง ๆ มาใช้วัสดุทดแทน หรือวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย เป็นหนึ่งในวิธีการรักษ์โลกอย่างถูกทางที่เหมาะกับงานอีเวนต์หลายๆ งาน เนื่องจากการลดใช้อาจจะไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่
การเปลี่ยนมาใช้วัสดุแบบย่อยสลายได้ง่าย (Bio-Compostable) สำหรับกล่องอาหารที่จะมอบให้กับผู้ที่ขึ้นสแตนด์แปรอักษรในงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งนี้นั้น จะสามารถทดแทนขยะที่ใช้เวลาย่อยสลายนานมากอย่างเช่น กล่องโฟม หรือพลาสติกทั่วไป (เมื่อเทียบกับงานฟุตบอลประเพณีฯ ในปีที่ผ่านมา) ซึ่งบรรจุภัณฑ์แบบ Bio-Compostable ทั้งหมด จะถูกนำไปจัดการต่ออย่างเหมาะสม และนอกจากนี้ทางทีมจะจัดถุงขยะเพื่อให้มีการแยกขยะบนสแตนด์ ทำให้ขยะเศษอาหาร ไม่ปนกับขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ เพื่อให้ขยะทั้ง 2 ประเภท สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ทั้งคู่
การลดการใช้วัสดุต่าง ๆ นั้น อาจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการลดขยะ แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้วัสดุบางอย่างจริงๆ การเปลี่ยนมาใช้วัสดุแบบย่อยสลายง่าย ถือเป็นทางเลือกต่อไป ที่แม้จะมีต้นทุนทางการผลิตที่สูงกว่าวัสดุแบบทั่วไป แต่เมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ดีกว่า เพื่อสิ่งแวดล้อมที่เราจะต้องใช้ชีวิตกันต่อไปแล้วนั้น ก็ถือว่าคุ้มค่ากับจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ให้ทุกคนช่วยกัน “แยก” ก่อนทิ้ง
“การแยกขยะ” เป็นอีกหนึ่งวิธีการในการทำให้ขยะสามารถสร้างประโยชน์สูงสุดได้ ในงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งนี้ จึงจัดเตรียมอุปกรณ์ และวิธีการในการแยกขยะเอาไว้พร้อม โดยจัดถังรองรับขยะ 4 ประเภท คือ 1. น้ำแข็ง และ หลอด 2. ขยะแห้ง หรือ ขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ 3. ขยะเศษอาหารทุกชนิด และ 4. ขยะที่เลอะ หรือ ขยะเหลือทิ้ง
นอกจากจัดถังไว้เพื่อรองรับขยะทั้งงานแล้ว ยังจัดเตรียมทีมงานคอยดูแล ณ จุดทิ้ง เพื่อมอบความรู้เกี่ยวกับการแยกขยะเบื้องต้นให้กับผู้ร่วมงาน ซึ่งทุกคนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้เลย เพราะหากเราทุกคนแยกขยะกันได้อย่างถูกวิธีแล้ว ขยะจะสามารถสร้างประโยชน์อะไรอีกได้หลายอย่าง
เสื้อและถุงยังชีพ Upcycling ตัวอย่างที่ได้จากการแยกขยะ
งานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งนี้ เสื้อสตาฟและถุงยังชีพบนสแตนด์ ก็ทำมาจาก “ขยะ” ซึ่งหลายๆ ครั้ง คำว่า “ขยะ” อาจถูกมองว่าไร้ค่า แต่หาก “ขยะ” ถูกแยกอย่างดี มันจะสามารถนำไปเพิ่มมูลค่า ผ่านกระบวนการ Upcycling เป็นของชิ้นใหม่ได้เหมือนกับที่ เสื้อสตาฟ และ ถุงยังชีพ ซึ่งถูกทำมาจาก “ขวดพลาสติก” ซึ่งอดีตเคยเป็นขยะตัวร้ายสำหรับใครหลายๆ คน
ขวดพลาสติกจำนวน 14 ใบ = เสื้อของทีมงาน 1 ตัว
ขวดพลาสติกจำนวน 7 ใบ = ถุงยังชีพ 1 ใบ
ถ้ามีการแยกขยะที่ดี จะทำให้เราสามารถนำขยะมาสร้างประโยชน์ต่อได้ นอกจากนี้ขยะขวดพลาสติกที่ถูกแยกภายในงานนี้ จะนำไปทำเป็น “รองเท้ากีฬา” เพื่อมอบให้กับน้องๆ ผู้ด้อยโอกาสอีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง เพจ Waste This Way