อว.นำเสนอนวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศแบบไฟฟ้าสถิต “ไอออนเฟรซ” ติดตั้งภายนอกอาคาร เพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่น PM2.5 สามารถกรองอากาศ 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน สนใจติดต่อขอเทคโนโลยีไปพัฒนาและต่อยอดได้ เดินหน้าบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ สร้างแพลตฟอร์มการตรวจวัดและรายงานข้อมูลค่าฝุ่นละอองที่มีความถูกต้อง แม่นยำ และเป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างทันท่วงทีบนเว็บไซต์ https://pm2_5.nrct.go.th ผ่าน “ศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ”
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า อว.มีการวิจัยและพัฒนาเครื่องกรองอากาศแบบไฟฟ้าสถิต “ไอออนเฟรช” (IonFresh) ถือเป็นเครื่องต้นแบบที่ใช้กรองอากาศแบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic air purifier) ซึ่งพัฒนาโดยทีมวิจัยศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำหรับใช้งานภายนอกอาคาร จำนวน 4 เครื่อง โดยเป็นการพัฒนาเครื่องกรองฝุ่นละอองขนาดอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ด้วยเทคโนโลยีการตกตะกอนเชิงไฟฟ้าสถิต โดยเครื่องต้นแบบไอออนเฟรชมีขนาดความกว้าง 1 เมตร สูง 1 เมตร มีอัตราการสร้างอากาศบริสุทธิ์ประมาณ 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่ภายนอกหรือพื้นที่ควบคุม ซึ่ง อว.พร้อมมอบองค์ความรู้ทั้งหมดให้กับภาคเอกชน องค์กรหรือสถาบันใดที่สนใจดังกล่าวไปผลิตเพื่อใช้ในพื้นที่ของหน่วยงานของตนเอง
สำหรับรูปแบบการทำงานของเครื่องไอออนเฟรช เป็นการสร้างประจุบวกให้ไปจับกับฝุ่นละออง จากนั้นอนุภาคของฝุ่นละอองที่มีประจุบวกจะถูกดูดเข้าไปติดที่แผ่นโลหะซึ่งมีประจุลบภายในเครื่อง อากาศที่ออกมาจึงเป็นอากาศสะอาด จุดเด่นของเครื่องไออนเฟรช คือ สามารถกรอง ‘ฝุ่น PM 2.5’ และเมื่อฝุ่นละอองเกาะเต็มแผ่นโลหะสามารถถอดไปล้างทำความสะอาดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ที่สำคัญการกรองฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิตสามารถออกแบบแผงกรองฝุ่นให้ลมผ่านง่าย ไม่ลดแรงลมในการดูดกรองฝุ่นละออง ทำให้พัดลมดูดฝุ่นทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ประหยัดไฟฟ้า
อย่างไรก็ดี ในอนาคตนอกจากทีมวิจัยของ สวทช. จะพัฒนาไปใช้ในพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่แล้วยังมองไปถึงการกำจัดฝุ่นที่แหล่งกำเนิด ทั้งในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีป้องกันฝุ่นละอองออกสู่สาธารณะเนื่องจากเทคโนโลยีต่างประเทศยังมีราคาแพงอยู่มาก แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีเครื่องไอออนเฟรชสามารถพัฒนาและผลิตได้แล้วในประเทศโดยนักวิจัยไทย และราคาถูกกว่าต่างประเทศหลายเท่า
นอกจากนี้ อว. โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ สร้างแพลตฟอร์มการตรวจวัดและข้อมูลค่าฝุ่นละอองที่มีความถูกต้อง แม่นยำ และเป็นมาตรฐานเดียวกัน ผ่าน “ศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ” ใช้ระบบข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างทันท่วงที นำเสนอบนเว็บไซต์ https://pm2_5.nrct.go.th โดยจะแสดงผลคุณภาพอากาศจากการรวบรวมข้อมูลการรายงานค่าความเข้มข้นฝุ่นละออง PM2.5 และ PM10 จากหลายๆ หน่วยงานทั่วประเทศ รวมจุดติดตั้งประมาณ 800 จุด ซึ่งจะนับเป็นฐานข้อมูลแบบเบ็ดเสร็จที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน (Single Database)
เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลและการรายงานผลคุณภาพ โดยเฉพาะปริมาณ PM2.5, PM10 และดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index) มีความแตกต่างกันในแต่ละหน่วยงาน/สถานีตรวจวัด ทำให้ขาดการบูรณาการการเชื่อมโยงข้อมูล โดยจุดเด่นแพลตฟอร์มนี้คือการสามารถรายงานสภาพอากาศรายชั่วโมง รายวัน (Real-time) รวมทั้งคาดการณ์สภาพคุณภาพอากาศล่วงหน้า 3 วัน (AQI Forecast) เพื่อให้ประชาชนสามารถเตรียมตัวได้ พร้อมทั้งให้ข้อมูลการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและคำแนะนำในการรับมือสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสามารถเข้าถึงประชาชนได้โดยง่าย พร้อมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล พร้อมทั้งร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการขยายผลและติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก Dustboy ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศ และคาดว่าจะติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศได้จำนวน 8,000 แห่งทั่วประเทศ