องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection)นำเสนอกรณีศึกษาของภาคธุรกิจในเรื่อง แบ่งปันความสำเร็จ กรณีศึกษาภาคธุรกิจเพื่อการยกระดับสวัสดิภาพสุกรขุน เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วโลกได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะภายในฟาร์ม โดยยุติขั้นตอนที่สร้างความเจ็บปวดต่อลูกหมู
เช่น การตัดหาง การกรอฟัน และการผ่าตัดทำหมัน พร้อมเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสภาพการเลี้ยงภายในฟาร์ม ทั้งการเพิ่มพื้นที่เลี้ยงเพื่อให้สัตว์สามารถเคลื่อนไหวได้ ยุติกระบวนการที่สร้างความเจ็บปวดในสัตว์ รวมถึงให้โอกาสสัตว์ได้แสดงออกถึงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้อย่างเหมาะสม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้สัตว์ในฟาร์มมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ และช่วยลดความต้องการในการใช้ยาปฏิชีวนะที่ได้ผลอีกทางหนึ่งด้วย
Jenny Lundstrom สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสวีเดน กล่าวว่า “มาตรฐานในสวัสดิภาพของสัตว์ ที่มีค่าเฉลี่ยสูง แสดงให้เห็นถึงปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มที่ต่ำ ซึ่งสิ่งนี้จะยิ่งมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น หากผู้ค้าปลีกตระหนักถึงสวัสดิภาพสัตว์และการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างความรับผิดชอบในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งประเทศสวีเดนได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์สามารถช่วยแก้ไขปัญหายาปฎิชีวนะดื้อยาได้จริง และสามารถเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นๆ ในการเรียนรู้ได้อย่างยั่งยืน”
ด้าน ศุภวัฒน์ สุปัญญารักษ์ ตัวแทนจาก ซีพีฟู้ดส์ ประเทศไทย (CP Foods) เสริมว่า “เนื่องจากเราเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเนื้อสุกรรายใหญ่ที่สุดของโลก เราจึงมีหน้าที่ในการรักษามาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ไว้ในระดับสูง รวมไปถึงการใช้ยาปฏิชีวนะด้วยความรับผิดชอบ และเรามีความภาคภูมิใจในการทำงานอย่างมุ่งมั่น เพื่อจะยุติการเลี้ยงแม่หมูในระบบกรงขัง ตลอดจนมีการวางนโยบายเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะได้ให้การสนับสนุนเครือข่าย 3Ts Alliance อย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต เพื่อร่วมยุติขั้นตอนที่สร้างความเจ็บปวดต่อลูกหมู ตามแนวทางที่กำหนดขึ้นโดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก โดย ซีพีฟู้ดส์ (CP Foods) ตั้งเป้าที่จะขยายการดำเนินงานในประเทศไทย เพื่อให้สุกรได้มีโอกาสแสดงออกถึงพฤติกรรมตามธรรมชาติ และหลีกเลี่ยงขั้นตอนที่สร้างความเจ็บปวดต่างๆ ในอนาคต”
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการประชุมใหญ่ระดับนานาชาติ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ณ ประเทศสวีเดน ซึ่งนำโดย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) ในฐานะผู้จัดงานหลัก จับมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิภาพสัตว์และสมาชิกของเครือข่าย 3Ts Alliance จากทั่วโลก (3T หมายถึง ฟัน teeth, หาง tails และอัณฑะ testicles ซึ่งรวมกันเป็นเป้าหมายสูงสุดของกลุ่ม ในการทำให้อวัยวะเหล่านี้ยังอยู่ครบ และเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่สู่การยกระดับสวัสดิภาพสุกรทั่วโลก) ร่วมกันหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤต “แบคทีเรียดื้อยา (AMR)” หรือที่เรียกว่า “ซุปเปอร์บั๊ก (Superbug)” ที่กำลังทวีความรุนแรงและเป็นอันตรายต่อทุกชีวิตทั่วโลกอย่างเร่งด่วน
โดยมีมติให้เน้นความสำคัญกับการจัดการเรื่องสวัสดิภาพของสัตว์ในฟาร์มที่ขาดการดูแลใส่ใจในคุณภาพชีวิตอย่างเหมาะสม รวมถึงการจัดการปัญหาของการใช้ยาปฎิชีวนะในการรักษาโรคในสัตว์เกินขนาด ซึ่งนับเป็นกว่า 75% ของยาปฎิชีวนะที่ใช้กันทั่วโลกในปัจจุบัน