xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มของนักการศาสนาชีอะห์ “มุกตาดา อัล-ซาดร์” ชนะศึกเลือกตั้งอิรัก คาดเจรจาตั้ง รบ.ผสมยืดเยื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มุกตาดา อัล-ซาดร์ นักการศาสนาชีอะห์ชาวอิรัก โชว์นิ้วมือที่เปื้อนหมึกจากการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในเมืองนาจาฟ เมื่อวันที่ 12 พ.ค. (แฟ้มภาพ)
เอเจนซีส์ - ผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการ เผย กลุ่มการเมืองภายใต้ปีกนักการศาสนาชีอะห์ มุกตาดา อัล-ซาดร์ (Moqtada Al-Sadr) ซึ่งมีจุดยืนต่อต้านทั้งสหรัฐฯ และ อิหร่าน คว้าชัยในศึกเลือกตั้งรัฐสภาอิรักเป็นที่แน่นอนแล้วในวันนี้ (19 พ.ค.) ทว่า การจับขั้วกับกลุ่มการเมืองอื่นๆ เพื่อตั้งรัฐบาลผสมให้สำเร็จคาดว่าจะมีอุปสรรคพอสมควร

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 12 พ.ค. พบว่า มีประชาชนออกมาใช้สิทธิแค่เพียง 44.52% ต่ำที่สุดนับตั้งแต่อิรักเริ่มจัดการเลือกตั้งแบบหลายพรรคการเมืองเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2005

กลุ่มของ ซาดร์ ซึ่งจับมือเป็นพันธมิตรกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอิรักคว้าที่นั่ง ส.ส. ในสภาไปได้ทั้งหมด 54 ที่นั่ง ตามมาด้วยกลุ่ม อัล-ฟาติห์ (Al-Fatih) ของ ฮาดี อัล-อามิรี อดีตผู้นำกองกำลังกึ่งทหารชีอะห์ที่อิหร่านสนับสนุนให้สู้รบไอกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ได้ไป 47 ที่นั่ง ส่วนกลุ่มพันธมิตรแห่งชัยชนะ (Victory Alliance) ของนายกรัฐมนตรี ไฮเดอร์ อัล-อาบาดี เข้าวินมาเป็นที่ 3 ด้วยจำนวน ส.ส. เพียง 42 ที่นั่ง

ผลการเลือกตั้งคราวนี้ยังถือเป็นการฉีกหน้ากลุ่มอำนาจเก่าที่ผูกขาดอิทธิพลในอิรักมาตั้งแต่สหรัฐฯ นำกำลังบุกโค่น ซัดดัม ฮุสเซน เมื่อปี 2003

ซาดร์ ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งโดยตรงจึงหมดสิทธิ์ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่คาดว่าจะรับบทเป็นคิงเมกเกอร์ในการจัดตั้งรัฐบาลผสมเทคโนแครต ซึ่งมีแนวโน้มว่าการเจรจาจับขั้วคงจะกินเวลายืดเยื้อพอสมควร

การได้ ส.ส. มากที่สุดไม่ได้หมายความว่า ซาดร์ จะมีสิทธิเลือกใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ แต่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากพรรคอื่นๆ ที่ได้ ส.ส. รองลงมาด้วย

การเจรจาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมอิรักเริ่มขึ้นแทบจะทันทีหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลงเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยสหรัฐฯ และอิหร่านซึ่งต่อต้าน ซาดร์ ได้ยื่นมือเข้ามาเกี่ยว

อิหร่านประกาศชัดเจนตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งว่าจะไม่ยอมให้กลุ่มของ ซาดร์ ได้เป็นรัฐบาลอิรัก

ซาดร์ เคยนำกลุ่มติดอาวุธต่อสู้กับกองทัพอเมริกันที่รุกรานอิรัก ก่อนจะขยายบทบาทจนกลายเป็นนักต่อสู้เพื่อคนยากจน และร่วมมือกับกลุ่มการเมืองสายทางโลก (secularists) ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

เขาเป็นนักการเมืองอิรักเพียงไม่กี่คนที่ไม่สนับสนุนให้มีกองทัพอเมริกันอยู่ในอิรัก และต่อต้านอิทธิพลของอิหร่านด้วย

ซาดร์ ได้แถลงผ่านทวิตเตอร์ว่า ผลการเลือกตั้งแสดงให้เห็นแล้วว่าชัยชนะเป็นของการปฏิรูป และการทุจริตคอร์รัปชันได้อ่อนแอลง”

แม้จะพ่ายแพ้ศึกเลือกตั้ง แต่นักวิเคราะห์มองว่า อาบาดี น่าจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่ทุกฝ่ายสามารถรับได้ เนื่องจากมีประสบการณ์และทักษะในการบริหารจัดการผลประโยชน์ระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ



กำลังโหลดความคิดเห็น