xs
xsm
sm
md
lg

3ทศวรรษเพื่อเด็กไทย บทพิสูจน์ความสำเร็จ“โครงการไก่ไข่”ซีพีเอฟ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ซีพีเอฟ” ร่วมกับ “มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท” มุ่งมั่นเสริมสร้างสุขภาพอนามัยและอนาคตเยาวชนไทยอย่างยั่งยืน ตลอด 3 ทศวรรษ เดินหน้าส่งมอบ “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” อย่างต่อเนื่อง พร้อมติดตามโรงเรียน 824 แห่งทั่วประเทศ ให้บรรลุเป้าหมายอย่างแท้จริง

“โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” โดย มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ภายใต้การสนับสนุนของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ก่อกำเนิดมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2532 จากการน้อมนำ “โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน” ของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อันเป็นแนวพระราชดำริที่มุ่งแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการต่ำกว่ามาตรฐานของเด็กไทย เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนงานตามพระราชดำริ

ตลอด 3 ทศวรรษของโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ จนถึงปัจจุบันมีโรงเรียนทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการรวม 778 แห่ง ประกอบด้วย โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 134 แห่ง โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 620 แห่ง และสังกัดอื่น 24 แห่ง สามารถผลิตไข่ไก่สดใช้ปรุงอาหารกลางวันเพื่อเพิ่มโปรตีนและสารอาหารจำเป็นให้เด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลได้กว่า 150,000 คน เป็นการร่วมแก้ไขภาวะทุพโภชนการอย่างเป็นรูปธรรม


นอกจากนี้ ยังปรากฎผลชัดเจนจากการประกวดหน่วยงานต้นแบบโครงการอาหารกลางวันจ ในการคัดเลือกระดับ “รางวัลพระราชทาน” ในปี 2561 โรงเรียนบ้านแสนสุข อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทโรงเรียนขนาดเล็ก และการประกวดหน่วยงานต้นแบบโครงการอาหารกลางวันระดับประเทศของกระทรวงศึกษาธิการ มีโรงเรียนที่ร่วมโครงการกับมูลนิธิฯ ได้รับ “รางวัลดีเด่น” จำนวน 27 โรงเรียน และ “ระดับดี” จำนวน 21 โรงเรียน

สำหรับปี 2562 มีการคัดเลือกโรงเรียนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าร่วมโครงการอีก 46 แห่ง ในการเข้าร่วมโครงการ โรงเรียนแต่ละแห่งได้รับการสนับสนุน 5 เรื่อง ได้แก่ 1) งบประมาณการก่อสร้างโรงเรือนตามแบบมาตรฐานที่กำหนด 2) อุปกรณ์กรงตับ และอุปกรณ์ให้น้ำพร้อมการติดตั้ง 3) พันธุ์สัตว์ 4) อาหารสัตว์ตลอดระยะเวลาการเลี้ยง 1 รุ่น หรือ 60 สัปดาห์ และ5) การอบรมให้ความรู้ด้านการเลี้ยง การจัดการฟาร์ม การจัดการผลผลิต การตลาด และการทำบัญชี

ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมาย คือ นักเรียนได้บริโภคไข่ไก่สดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 มื้อ หรือ 120 ฟองต่อคนต่อปีการศึกษา ได้เรียนรู้การผลิตอาหารปลอดภัยด้วยตนเอง แล้วนำผลผลิตไข่สดที่ได้มาแบ่งปันบริภคกันภายในโรงเรียนผ่านระบบสหกรณ์โรงเรียน ได้เรียนรู้การจัดการตั้งแต่วัยประถมศึกษา ตลอดจน สามารถนำองค์ความรู้ไปพัฒนาต่อยอดเป็นอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ในอนาคต


ปีนี้ “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” พร้อมมอบโรงเรือนไก่ไข่และอุปกรณ์การเลี้ยงให้กับโรงเรียนบ้านดู่ (สหราษฎร์พัฒนาคาร) อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งเป็นโรงเรียนลำดับที่ 779 และอีก 45 โรงเรียน โดยมี นายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธี และนายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร ซีพีเอฟ พร้อมคณะผู้บริหาร และพนักงานบริษัทฯ ร่วมมอบโครงการ

นายผจญ กุณา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดู่ (สหราษฎร์พัฒนาคาร) กล่าวว่า โรงเรียนบ้านดู่ฯ เป็นโรงเรียนขนาดกลาง มีนักเรียน 750 คน เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งการส่งเสริมให้เด็กๆได้เรียนรู้ด้านการเกษตร เช่น การเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน โดยมีบุคลากรของซีพีเอฟช่วยถ่ายทอดความรู้และวิธีการเลี้ยงที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ จึงเป็นการวางพื้นฐานวิชาชีพให้ติดตัวไปใช้ในอนาคต

การเข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งโรงเรียนได้รับมอบไก่ไข่จากซีพีเอฟ 300 ตัว ทำให้มีผลผลิตไข่ไก่เพื่อมาทำอาหารกลางวันนักเรียนได้รับประทานอย่างทั่วถึง หรือหากมีผลผลิตไข่ไก่จำนวนมากก็สามารถนำไปจำหน่ายให้คุณคร ผู้ปกครองนักเรียนและคนในชุมชน ทำให้เด็กๆ มีโอกาสเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการและการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายด้วย


นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ในโอกาสที่ปีนี้ ซีพีเอฟและมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เข้าสู่ปีที่ 30 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีส่วนร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหาร และแก้ปัญหาทุพโภชนาการของเด็กและเยาวชนไทย โดยมีบุคลากรของบริษัทฯ ติดตามดูแล ให้คำแนะนำด้านการเลี้ยงไก่ไข่ให้กับโรงเรียน ถ่ายทอดความรู้ในเรื่องการจัดการผลผลิตไข่ไก่สดแก่ครูและนักเรียน เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้บริโภคไข่ไก่อย่างเพียงพอ และโรงเรียนมีการดำเนินโครงการอย่างยั่งยืน

ในปีนี้ซีพีเอฟสนับสนุนงบประมาณให้มูลนิธิฯดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเพิ่มอีก 46 โรงเรียน เป็นมูลค่ารวม 13 ล้านบาท โดยจะมีการส่งมอบให้ครบทุกโรงเรียนภายในเดือนพฤษภาคม 2563 ทำให้มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งซีพีเอฟติดตามดูแลทั้งสิ้น 824 โรงเรียนทั่วประเทศ


นายอภัยชนม์ วัชรสินธุ์ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนและเกษตรกรในชนบทห่างไกล ซึ่งโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนเป็นหนึ่งในโครงการเพื่อร่วมบรรเทาปัญหาขาดแคลนโปรตีน สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและสติปัญญาของเยาวชน โดยนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ มูลนิธิฯได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน รวมทั้ง ซีพีเอฟ ที่สนับสนุนโครงการฯ เป็นมูลค่ารวม 146 ล้านบาท ส่งผลให้โครงการประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง เยาวชนเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ เป็นแหล่งอาหารมั่นคงของชุมชน ที่สำคัญ มีองค์ความรู้ให้ครูและนักเรียนสามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ เกิดกองทุนหมุนเวียน และเป็นแหล่งเรียนรู้อาชีพของคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน

นอกจากกิจกรรมมอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนแล้ว คณะผู้บริหารของซีพีเอฟและมูลนิธิฯ ยังได้มอบเครื่องอุปโภคบริโภคและเงินดำรงชีพให้แก่ผู้สูงอายุ ในโครงการกองทุนซีพีเอฟ คืนสุข ผู้สูงวัย และมอบสัญญาจ้างงานคนพิการ ภายใต้ ”โครงการจ้างงานคนพิการ” ในโรงเรียนที่ร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ซึ่งซีพีเอฟได้ดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่ปี 2560 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรด้านการศึกษา สร้างกำลังใจและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการให้ภูมิใจในคุณค่าของตัวเอง ปัจจุบันซีพีเอฟมีการจ้างงานคนพิการ จำนวน 424 คน ช่วยงานในโรงเรียนใน 240 โรงเรียนทั่วประเทศ

นายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จากรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการนี้ ทำให้เห็นว่า ซีพีเอฟมีความตั้งใจจริงในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในชนบทมีอาหารอิ่มท้อง เจริญเติบโตสมวัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดจนห่วงใยไปถึงคนในชุมชน ด้วยการใส่ใจดูแลผู้สูงอายุที่ยากไร้ให้ได้รับความสะดวกสบายตามสมควร ส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำ มีรายได้เพื่อดูแลตนเองและครอบครัว แสดงถึงการเป็นองค์กรที่ปลูกฝังเรื่องความกตัญญูและเห็นคุณค่าของทุกคนในสังคม โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกโรงเรียนจะสามารถพัฒนาและต่อยอดโครงการไปสู่การเป็นต้นแบบแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน