ตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีของประชาชนคนไทย และทรงพระราชทาน"ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" เพื่อการพัฒนาประเทศโดยเริ่มจากพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน และพอใช้ของประชาชนในประเทศ ด้วยเครื่องมือที่ถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิชาการ ที่สำคัญ คือ การดำเนินการตาม “สายกลาง” และ “ไม่ประมาท” เพื่อการสืบสานและดำรงอยู่ ความสำเร็จของการปฏิบัติตาม “ศาสตร์พระราชา”และ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง"ได้รับการรับรองและเชิดชูจากองค์การสหประชาชาติว่าเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ "ครัวของโลก" น้อมนำแนวพระราชดำริและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการองค์กรบนหลักปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน คือ ประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และบริษัท พร้อมทั้งประกาศเป้าหมายปี 2563 แสดงเจตนารมณ์ในการมีส่วนร่วมปฏิบัติตามข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ(United Nations Global Compact :UN Global Compact) และมุ่งมั่นสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal : SDGs) 17 ประการ โดยได้ผสานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้ากับการดำเนินงานของบริษัท เพื่อพัฒนาทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
บริษัทฯ ยังได้กำหนดทิศทางกลยุทธ์การดำเนินงานบนความรับผิดชอบต่อสังคมสู่ความยั่งยืน ภายใต้ 3 เสาหลัก"อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่" เพื่อร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศในระยะยาว ร่วมพัฒนาสังคมให้เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ และร่วมดูแลสมดุลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ในฐานะผู้ผลิตอาหารชั้นนำด้วยมาตรฐานสากลระดับโลก ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหาร และมุ่งมั่นยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยตลอดกระบวนการผลิตควบคู่กับส่งเสริมการเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของผู้บริโภคของคนในสังคมผ่านกิจกรรมหลายรูปแบบ เช่น โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เริ่มตั้งแต่ปี 2532 ซีพีเอฟร่วมกับมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท สนับสนุนการเรียนรู้กระบวนการเลี้ยงไก่ไข่ การบริหารจัดการโรงเรือน ตลอดจนการบริหารจัดการผลผลิตที่เหลือออกจำหน่ายในชุมชนเพื่อสร้างรายได้เป็นกองทุนหมุนเวียนแก่โรงเรียน รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์แก่ชุมชน ทำให้นักเรียนในพื้นที่ทุรกันดารและคนในชุมชนได้รับประทานอาหารโปรตีนคุณภาพดี
ตลอด 3 ทศวรรษของการดำเนินการโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการรวม 779 โรงเรียน ทำให้เด็กนักเรียนกว่า 150,000 คน ในชนบทได้รับประทานไข่ไก่อย่างต่อเนื่อง ช่วยบรรเทาปัญหาทุพโภชนาการในเด็กและเยาวชนไทย โดยแต่ละโรงเรียนจะได้รับการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่ให้เพียงพอกับการนำไปปรุงเป็นอาหารกลางวันของนักเรียน มากกว่าการผลิตในเชิงพาณิชย์ ทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงกับแนวการเรียนการสอนของโรงเรียนที่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปพัฒนาความรู้และทักษะทางการเกษตรเพื่อเป็นวิชาชีพติดตัวนักเรียนหลังจบการศึกษา
นอกจากนี้ บริษัทฯยังให้ความสำคัญกับบริโภคอย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการ ด้วยการดำเนินโครงการ “ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” เพื่อติดตามภาวะโภชนการของเด็กนักเรียนในโครงการจากการกำหนดเมนูอาหารอย่างเหมาะสม ตลอดจนส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน เพื่อให้เด็กสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้รับจากโรงเรียนกลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับครอบครัว
ด้านสังคมพึ่งตน ซีพีเอฟ มีเป้าหมายส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชน พัฒนาคู่ค้าธุรกิจให้เติบโตไปด้วยกัน โดยมีเป้าหมายปี 2563 เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงกลุ่มเปราะบางจำนวน 50,000 ราย ได้รับการส่งเสริมอาชีพและคุณภาพชีวิต และด้าน ดิน น้ำ ป่าคงอยู่ ซีพีเอฟตระหนักถึงบทบาทและการมีส่วนร่วมในการจัดการประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ดำเนินโครงการเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าบกและป่าชายเลน คือ โครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน คืนสมดุลระบบนิเวศสู่ป่าชายเลนฟื้นฟูแหล่งอาหารของมนุษย์และเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และ โครงการรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ปลูกป่าบก 5,971 ไร่ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศไทย
นอกจากนี้ ซีพีเอฟร่วมกับมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท น้อมนำศาสตร์พระราชาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สืบสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ส่งเสริมอาชีพ รายได้ และพัฒนาระบบการจัดการ การตลาด เพื่อขจัดความยากจน ยกตัวอย่าง โครงการพัฒนาหมู่บ้านสหกรณ์ตามพระราชดำริ (7 แห่ง) มีเป้าหมายพัฒนาระบบการทำงาน พัฒนาผู้นำ ส่งเสริมอาชีพ โดยมีแนวทางดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีการเลี้ยงไก่ไข่ พัฒนาเครือข่ายสหกรณ์ 7 แห่ง ปลูกจิตสำนึกรักษ์สหกรณ์ให้เยาวชน อาทิ สหกรณ์การเกษตรหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพง จำกัด จ.เชียงใหม่ โครงการพัฒนาอาชีพ ต.ปากรอ อ.สิงหนคร จ.สงขลา ส่งเสริมชุมชนตระหนักและรวมกลุ่มอนุรักษ์มากขึ้น ชาวประมงมีรายได้เพิ่มขึ้น โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.กาญจนบุรี
กว่า 20 ปีของการดำเนินโครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการที่สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกร พัฒนาเยาวชนภายใต้แนวคิด "บวร" เกิดผลสัมฤทธิ์ในเชิงคุณภาพ จากการดำเนินงานในระบบกลุ่มได้อย่างต่อเนื่อง เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่น กลุ่มเลี้ยงไก่ไข่ดำเนินการได้ตามเกณฑ์มาตรฐานฟาร์ม มีกำไร มีรายได้เฉลี่ยของครอบครัวอยู่ที่ 250,000 -350,000บาทต่อรุ่นการเลี้ยง เยาวชนได้เรียนรู้บริบทชุมชน มีจิตสำนึกรักบ้านเกิดและร่วมพัฒนาชุมชน
บนเส้นทางความยั่งยืนของ ซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ไม่เพียงแต่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการองค์กรเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ยังยึดมั่นในพัฒนาการผลิต การนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารและบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อลูกค้าและผู้บริโภค ด้วยความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม