xs
xsm
sm
md
lg

นิสัย! “ชอบรับถุงพลาสติก” แนะ 4 เทคนิคเปลี่ยนให้ตัวเองรักษ์โลกมากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชอปปิ้งที่มีถุงหูหิ้วใส่ให้ฟรีๆ กำลังจะหมดไป
ทำไม! เรายังรับถุงพลาสติก ทั้งที่อยากจะช่วยโลก
คำถามจี้ใจดำ เพื่อหาคำตอบว่าผู้บริโภคคิดอะไร ทั้งๆ รู้ดีว่าส่วนลึกๆ ในใจของตัวเองก็อยากจะช่วยโลกนะ
ทุกวันนี้ ข่าวสารข้อมูล ด้านสิ่งแวดล้อมรวดเร็วแบบเห็นกันที ปัญหาในเรื่อง “ขยะพลาสติก” จึงเป็นที่ทราบกันดีว่าก่อให้เกิดภัยพิบัติร้ายแรงต่อสภาพแวดล้อมของมนุษย์มากขึ้นทุกวัน ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องร้อนๆ ให้ผู้คนส่วนใหญ่ได้ตระหนัก และปฏิเสธ “รับใช้ถุงพลาสติก” แต่กลับไม่ใช่
ยิ่งในช่วงเวลาอย่างนี้ ประเทศไทยเหลือเวลาอีกไม่กี่วัน ก็จะถึงดีเดย์ วันปีใหม่ 1 มกราคม 2563 บรรดาห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ที่เป็นโมเดิร์นเทรดกว่า 50 แห่ง มีข้อตกลงร่วมกันเป็นภาคีเครือข่าย ร่วมกับภาครัฐ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อ “งดใส่ งดแจกถุงหูหิ้วให้ลูกค้า” เป็นวันแรกและตลอดไป


สอดคล้องกับบทความที่อ้างอิงจากเพจ Creative Thailand ซึ่งนำเสนอประเด็นให้เรา “คิด” ไว้อย่างน่าสนใจ และเชื่อว่าสามารถตอบคำถามดังกล่าว

พายุเข้า น้ำท่วม โลกร้อน สัตว์น้ำตายเพราะกินขยะพลาสติก

ภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกิดจากภาวะโลกร้อนและการใช้พลาสติก คงเป็นที่คุ้นเคยและพบเห็นกันในข่าวไม่เว้นแต่ละวัน แต่ทำไม ทั้งที่รู้ว่าการใช้พลาสติกจะส่งผลร้ายต่อโลก แต่การลด ละ เลิกใช้พลาสติกถึงได้ยากเย็นกว่าที่เราคิด ลองมาวิเคราะห์เบื้องหลังพฤติกรรมว่า ทำไมการรักษ์โลกจึงไม่ง่ายดังใจคิด และทำความเข้าใจเบื้องหลังเทคนิคการรักษ์โลกผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

เลือกสบายวันนี้ (ก่อน) เพราะอนาคตยังมาไม่ถึง (สักหน่อย)
หลายคนคงเคยพบเจอกับประสบการณ์ที่เรารู้สึกว่า “อยากจะทำอะไรสักอย่าง แต่ก็มีบางสิ่งมาฉุดรั้งไม่ให้ทำในทันที” เช่น การบอกกับตัวเองว่าจะไปออกกำลังกายพรุ่งนี้ แต่สรุปแล้ววันพรุ่งนี้ก็มาไม่ถึงเสียที การ “เลือก” ความสะดวกสบายในทันที และ การ “เลื่อน” สิ่งที่วางแผนว่าจะทำออกไป แม้รู้ว่าหากยอมลงมือทำในวันนี้ ผลลัพธ์ในอนาคตจะดีกว่าวันนี้ ความคิดลักษณะนี้เป็นอคติ (Bias) ในสมองชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “Present Bias” (ความโน้มเอียงต่อปัจจุบัน) ซึ่งเทด โอโดน็อกฮ์ (Ted O' Donoghue) จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ และแมทธิว ราบิน (Matthew Rabin) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้อธิบายว่าปรากฏการณ์นี้เกิดจากการที่เราให้น้ำหนักกับความสุขหรือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันมากกว่าอนาคต

การรับถุงพลาสติกให้ความสะดวกสบายใน “วันนี้” และดูเหมือนว่าการไม่รับถุงพลาสติกจะส่งผลดีต่อเราและโลกใน “อนาคต” หากเราให้น้ำหนักกับความสะดวกในปัจจุบันมากกว่าการมีโลกที่สะอาดและน่าอยู่ในอนาคต ก็อาจทำให้เรายังคงรับถุงพลาสติกและไม่ได้เริ่มทำในสิ่งที่ใจอยากทำเสียที (เช่น พกขวดน้ำ และถุงผ้า)

นอกจาก Present Bias จะเป็นอุปสรรคสำคัญในการเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว หลายคนอาจสงสัยว่าทำไม “คนเราถึงคิดถึงปัญหาเรื่องงานก่อนและคิดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับท้ายๆ” นั่นเป็นเพราะว่าสมองของเรามีสิ่งที่เรียกว่า Cognitive Bandwidth อยู่ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราต้องใช้ความคิดและจดจ่อกับสิ่ง ๆ หนึ่ง จะเกิดอาการที่เรียกว่า Tunneling หรือการจดจ่ออยู่กับสิ่ง ๆ นั้น และชีวิตที่แสนวุ่นวายก็ส่งผลให้เราไม่สามารถรับรู้ถึงเรื่องราวอื่น ๆ ได้ดีนัก เช่นการนำข้าวกล่องไปกินเองในวันที่งานยุ่งมาก ๆ หรือการล้างกล่องข้าวเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในวันรุ่งขึ้น ก็ยังแอบต้องใช้พลังใจอยู่ไม่น้อย ดังนั้น ในภาวะที่สมองมีภาวะ Cognitive Overload เรื่องอื่นที่ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด จะถูกตัดออกจากวงจรความคิดไป การสร้างพฤติกรรมใหม่อย่างการเตรียมขวดน้ำ กล่องข้าว และถุงผ้า จึงกลายเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่ท้าทาย

โดยสรุป ไม่ว่าสาเหตุทางจิตวิทยาที่ยกมาอธิบายนี้จะเป็นอุปสรรคเพียงใด ปัญหาคงหมดไปหากเราสามารถควบคุมจิตใจตัวเองได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อการควบคุมตัวเองไม่ใช่เรื่องง่ายนัก การเปลี่ยนสภาพแวดล้อมรอบตัวให้เอื้อต่อการตัดสินใจจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการช่วย ลด ละ เลิก ใช้พลาสติกได้

4 เทคนิคเปลี่ยนให้ตัวเองรักษ์โลกมากขึ้น

1) การดึงดูดความสนใจ
เมื่อสมองของเรามีข้อจำกัดในการรับรู้สื่อต่าง ๆ ที่เข้ามาในแต่ละวัน ดังนั้นวิธีการที่จะทำให้คนหันมาสนใจเรื่องราวการลดการใช้พลาสติก ก็อาจทำได้โดยการสร้างความดึงดูดใจให้มากขึ้น เช่น การที่ 7-11 ให้พี่ตูน บอดี้สแลม และสมาชิกวง BNK48 มาร่วมรณรงค์การไม่รับถุงพลาสติก เพราะในทางทฤษฎี การมีความตระหนักรู้ (Awareness) เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่้การเปลี่ยนพฤติกรรมได้

2) การที่ใคร ๆ ในสังคมเขาก็ทำกัน
มีความเป็นไปได้สูงที่เราจะเห็นเพื่อนรอบตัวถือถุงผ้าตาม ๆ กัน โดยไม่ได้เริ่มจากความตั้งใจในการลดการใช้พลาสติก เพราะ Social Norms หรือสิ่งที่สังคมเห็นพ้องต้องกันนั้นมีผลต่อพฤติกรรมมนุษย์อย่างมาก เนื่องจากเรามีแนวโน้มที่จะต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ตัวอย่างงานวิจัยด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ศึกษาวิธีการให้ผู้ที่มาพักในโรงแรมใช้ผ้าเช็ดตัวซ้ำเพื่อประหยัดน้ำ พบว่า การระบุข้อความ “แขกของโรงแรมแห่งนี้เกือบทุกคนใช้ผ้าเช็ดตัวซ้ำ” ส่งผลให้มีการใช้ผ้าเช็ดตัวซ้ำมากกว่า 50% และให้ผลลัพธ์ดีกว่าข้อความอื่น ๆ ที่ไม่ได้ระบุเนื้อหาประเภทนี้

3) การทำให้เป็นเรื่องง่าย
ปัญหาอย่างหนึ่งของขยะพลาสติกก็คือการไม่แยกขยะ ทำให้นำไปรีไซเคิลต่อได้ยาก องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) รายงานสถิติการรีไซเคิลขยะพลาสติกไว้ว่า มีเพียง 14%-18% ของขยะพลาสติกทั่วโลกที่ถูกนำมารีไซเคิล โดย 24% ถูกนำไปเผา และกว่า 58%-62% ถูกนำไปถมดินหรือทิ้งในธรรมชาติ หากเราทำให้การแยกขยะเป็นเรื่องที่ง่าย ก็จะช่วยสนับสนุนให้กระบวนการรีไซเคิลทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือการที่ร้านค้าในไอซ์แลนด์ได้จัดทำโครงการ “Borrow and Bring Back” โดยจัดวางถุงผ้าที่สกรีนข้อความนี้ไว้ให้ยืมและให้นำกลับมาคืน เพื่อให้ง่ายสำหรับผู้ที่ไปซื้อของซึ่งลืมนำถุงผ้ามาด้วย เป็นต้น

4) การทำให้เป็นเรื่องยาก
เมื่อไม่อยากให้เกิดพฤติกรรมใด ก็ให้ทำตรงกับข้ามกับข้อที่ผ่านมา คือทำสภาพแวดล้อมให้ยากเข้าไว้ นโยบายที่หลายประเทศใช้และได้ผลเป็นอย่างดีคือ การคิดเงินค่าถุงพลาสติก ปลายปี 2015 ประเทศอังกฤษออกกฎหมายให้ร้านค้าขนาดใหญ่ เช่น ASDA, Tesco, Waitrose คิดค่าถุงพลาสติกในราคา 5 เพนซ์ (ประมาณ 2 บาท) แม้ว่าราคาจะไม่สูงเมื่อเทียบกับราคาสินค้าและค่าครองชีพของประชากรในอังกฤษ แต่ผลลัพธ์กลับมีประสิทธิภาพอย่างชัดเจน โดยจากรายงานพบว่า จำนวนการใช้ถุงพลาสติกของ 7 ร้านค้าขนาดใหญ่ลดลงจาก 1.33 พันล้านใบ เป็น 0.55 พันล้านใบ หรือลดลงกว่า 60% ภายในระยะเวลา 3 ปี

ที่เป็นเช่นนี้ อาจอธิบายได้จากปรากฏการณ์ Loss Aversion หรือการหลีกเลี่ยงการสูญเสีย เนื่องจากคนเรามีแนวโน้มไม่ชอบการสูญเสีย ที่เมื่อนำมาเทียบกับความชอบที่มาจากการได้รับผลตอบแทนในจำนวนเท่ากัน ความไม่ชอบจะมีอิทธิพลต่อจิตใจมากกว่า จึงอาจเป็นเหตุผลที่งานวิจัยพบว่า การคิดเงินค่าถุงพลาสติกได้ผลดีกว่าการลดราคาให้หากผู้ซื้อนำถุงมาเอง เพราะว่าการคิดเงินสร้างความรู้สึกสูญเสีย (Loss) ในขณะที่การลดราคาสร้างความรู้สึกได้รับ (Gain) นั่นเอง

โดยสรุปแล้ว แม้ว่าจะมีอุปสรรคจาก Bias ต่าง ๆ ในสมองที่มาฉุดรั้งไม่ให้เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลดใช้ถุงพลาสติกได้ดังใจคิด แต่เราก็สามารถใช้แนวทางการปรับสภาพแวดล้อมรอบข้างให้เอื้อต่อการสร้างพฤติกรรมรักษ์โลกได้ อย่างไรก็ตาม วิธีการหนึ่งอาจใช้ได้ดีในสังคมหนึ่ง แต่อาจใช้ไม่ได้ผลกับอีกสังคมก็เป็นได้ คงต้องรอดูกันว่า สำหรับประเทศไทย วิธีการไหนจะใช้ได้ผลบ้าง
ข้อมูลอ้างอิง https://www.creativethailand.org/



วิถีการชอปปิ้งสีเขียว เป็นบรรยากาศใหม่ที่ผู้บริโภคเตรียมถุงผ้า ถุงใส่ของมาเอง กำลังจะหมุนมา ตอนนี้เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น