ผลสำรวจในเบื้องต้นคนกรุงเทพมหานคร พบมีพฤติกรรมการการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งลดลงจากปีก่อน ขณะที่ผลวิจัยพบไมโครพลาสติกสะสมในท้องของมนุษย์ประมาณ 10,000 ชิ้นต่อคน ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมศึกษาวิจัยไมโครพลาสติกทั้งระบบครั้งแรกในประเทศไทย โดยเฉพาะทะเลจีนใต้ที่ยังไม่เคยสำรวจ
รองศาสตราจารย์ สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในเบื้องต้นได้นำร่องศึกษาพฤติกรรมการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic)ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายน 2562 พบพฤติกรรมคนเมืองลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งลงอย่างมาก ซึ่งมาจากการสร้างจิตสำนึก การออกมาตรการควบคุม และการรณรงค์อย่างจริงจังของภาครัฐ คือ ใช้ถุงพลาสติก ร้อยละ 86.30 หรือเฉลี่ย 1.18 ใบต่อคนต่อวัน ลดลงจากปีก่อนที่ใช้อยู่ 3-8 ใบต่อคนต่อวัน
ใช้ขวดพลาสติก ร้อยละ 80.40 หรือเฉลี่ย 1.51 ขวดต่อคนต่อวัน ใช้หลอดพลาสติก ร้อยละ 47.10 หรือเฉลี่ย 0.69 หลอดต่อคนต่อวัน ใช้แก้วพลาสติก ร้อยละ 64.80 หรือเฉลี่ย 0.78 ใบต่อคนต่อวัน ใช้ก้านสำลีปั่นหู ร้อยละ 60.60 หรือเฉลี่ย 1 ก้านต่อคนต่อวัน ใช้ช้อน-ส้อมพลาสติก ร้อยละ 47.10 หรือเฉลี่ย 0.69 คู่ต่อคนต่อวัน และใช้กระดาษทิชชูเปียก ร้อยละ 25.50 หรือเฉลี่ย 0.73 แผ่นต่อคนต่อวัน ซึ่งตามแผนของประเทศแล้วจะต้องทำให้การใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งเป็นศูนย์ให้สำเร็จในอนาคต
ส่วนการศึกษาวิจัยขยะพลาสติกในทะเล โดยเฉพาะการศึกษาไมโครพลาสติกอย่างเป็นระบบและจริงจังมากขึ้น เนื่องจากผลการวิจัยชี้ชัดว่าในท้องของมนุษย์จีไมโครพลาสติกสะสมอยู่ประมาณ 10,000 ชิ้นต่อคน ซึ่งขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการกินอาหารด้วย เพราะไมโครพลาสติกปะปนอยู่ในสัตว์น้ำ สัตว์ทะเล และน้ำดื่ม จึงเร่งศึกษาผลกระทบของไมโครพลาสติกที่มีต่อร่างกายมนุษย์และสัตว์ทะเล
ทั้งนี้ จะมีการศึกษาขยะพลาสติกในทะเล หรือ “ไมโครพลาสติก” อย่างเป็นระบบครั้งแรกของประเทศไทยและการเคลื่อนตัวของขยะทะเล ทั้งในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนครอบคลุมไปถึงทะเลจีนใต้ที่ยังมีช่องว่างอยู่และเป็นรอยต่อทะเลในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีหลายประเทศติด 10 อันดับขยะทะเลมากที่สุดของโลก ซึ่งจะเป็นความร่วมมือการศึกษาวิจัยขยะทะเลร่วมกันแก้ปัญหาและหาต้นเหตุของขยะแท้จริง หลังพบมีไมโครพลาสติกและขยะพลาสติกเคลื่อนตัวไปถึงเหนือสุดของโลก (ขั้วโลกเหนือ) ทำให้หลายประเทศทั่วโลกเริ่มกังวลมากขึ้น ขณะเดียวกันประเทศไทยจะใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ขึ้นบินสำรวจขยะบริเวณแนวชายฝั่งทั้งหมด เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นว่าขยะเคลื่อนตัวและกระจายตัวมากแค่ไหนอย่างไรบ้าง