เมื่อเร็วๆ นี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กให้เห็นว่าถุงพลาสติกที่ทุกคนใช้กันอยู่ทุกวัน พอทิ้งเป็นขยะ แล้วไม่ได้นำไปกำจัดอย่างถูกต้อง ปล่อยให้ตกค้างบนผืนทราย ที่ชายหาด ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศอย่างไรบ้าง
อาจารย์ธรณ์ บอกว่า
ไปเก็บขยะที่หาดแถวสัตหีบหนนี้ เจอปัญหาใหญ่ครับ เลยนำมาเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟัง #พลาสติกใต้ผืนทราย
คนไทยใช้ถุงพลาสติกหลายหมื่นล้านใบต่อปี ถุงพวกนี้กำจัดยาก ถูกทิ้งเป็นภูเขาขยะ ฝนตกน้ำท่วมก็ลงสู่แม่น้ำลำคลอง ไหลมาลอยล่องในทะเล
มาจากแผ่นดินทุกแห่งหน ลอยไปทุกสถานที่ ไม่ต้องบอกว่าที่นั่นที่นี่ทิ้งมากกว่าที่อื่น
เป็นความรับผิดชอบร่วมกันทั้งประเทศ
ถุงบางส่วนจมไปทับบนพื้นทะเล บางส่วนลอยกลับมาที่ฝั่ง กองอยู่ตามชายหาด
หาดทรายย่อมมีทราย ผ่านไปแป๊บเดียวถุงก็จมฝังอยู่ในทราย
ถุงกั้นอากาศ/น้ำที่ถ่ายเทไปมา ทำให้ทรายเน่าเป็นสีดำ เกิดปัญหาต่อสัตว์/ระบบนิเวศ (ดูภาพได้ครับ)
ถุงเปื่อยเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย กลายเป็นไมโครพลาสติกเข้าห่วงโซ่อาหาร
เวลาเราไปเก็บขยะตามหาด เราเก็บถุงข้างบน แต่ยังมีถุงฝังข้างล่างอีกเยอะเลย
หากคิดอยากเก็บ ต้องใช้เครื่องมือ ทั้งคราดใหญ่คราดเล็ก เสียมพลั่ว ฯลฯ ขุดทรายค่อยๆ เก็บไปทีละชิ้น
ถ้าคุณเห็นกองอุปกรณ์พวกนี้เหมือนผมเห็น คุณจะบอกตัวเองเหมือนผมบอก
นี่ไม่ใช่การเก็บขยะแล้ว อย่างนี้มันเข้าขั้นทำสงครามกับขยะทะเลแล้ว (เชิญดูภาพอุปกรณ์ครับ)
ต่อให้มีอุปกรณ์ครบ อย่าคิดว่าเก็บง่าย เพราะถุงเปื่อยหลุดเป็นชิ้น บางทีก็เป็นเศษพลาสติกปนกับทราย/เลน เหมือนที่อยู่ในมือผม
บางถุงใช้เวลาหลายนาทีกว่าจะขุด/เก็บได้ ระยะทางแค่ 20 เมตร ใช้เวลาเป็นชั่วโมง หอบแฮ่ก
นั่นคือความหมายของ “ขยะทะเลที่เห็นเป็นแค่ยอดไอซ์เบิร์ก”
มีอีกมากมายมหาศาลฝังอยู่ใต้ทราย ลองขุดลงไป มันซ้อนกันเป็นชั้นๆ ลึกศอกนึงก็ยังไม่หมด (หมดแรงก่อน)
ผมลองเก็บทรายบางส่วนมาดู ร่อนกรองแยกไมโครพลาสติก เข้าเครื่องวิเคราะห์/ส่องดู
เห็นเลยว่ามีแน่ แต่ถ้าเอาให้ชัดว่ามีแค่ไหนเป็นอะไรบ้าง ต้องให้ #หน่วยต่อต้านขยะทะเล ทำกันจริงจัง
ซึ่งคงขอติดไว้ก่อน แต่แค่นี้คิดไปก็เหนื่อยแล้ว
เมืองไทยมีชายฝั่ง 2,600 กิโลเมตร ไม่รู้ว่ามีพลาสติกฝังอยู่กี่หมื่นกี่แสนตัน
เฉพาะหาดแถวสัตหีบ มีกลุ่ม “สัตหีบดีเฟนซ์” ช่วยกันเก็บขยะบนหาด ตั้งแต่ต้นปีเก็บได้มากกว่า 21 ตัน ขอบคุณครับ
ทว่า...นี่ขนาดเก็บไปแล้ว 21 ตัน ยังมีเหลือฝังทรายขนาดนี้
แถมหาดที่ผมไป ไม่มีชุมชนอยู่ตรงนั้น มีแต่ต้นไม้
แค่คิดก็เป็นมิชชั่นอิมพอสซิเบิล จะเก็บยังไง ขุดยังไงให้หมด ???
ยังไม่ต้องคิดถึงพื้นทะเลอีก 325,000 ตารางกิโลเมตร มีพลาสติกทับถมกันอีกไม่รู้เท่าไหร่ จะให้นักดำน้ำลงไปขุดตามพื้น อีกร้อยชาติก็ไม่เสร็จ
จะร่อนทรายกรองโคลนแยกไมโครพลาสติกออกมาได้อย่างไร ?
จึงอยากบอกว่า เรากำลังมาถึงภาวะจนตรอก ทะเลไทยไม่สามารถรับถุงเพิ่มได้อีกแล้ว
เพราะแค่ถุงที่ฝังอยู่ ก็จะอยู่กับเราไปอีกนาน แตกตัวเป็นเม็ดเล็กเศษน้อยไปเรื่อยๆ
นี่ไม่ใช่คำเตือนของนักวิทยาศาสตร์ เพราะอีกกว่า 100 คนที่ร่วมกันเก็บถุงในเช้าวันนั้น ในกิจกรรม seayoutomorrow run
ซีอีโอ พนักงานบริษัท ทหาร นางงาม บลอกเกอร์ คุณป้าชาวบ้าน น้องๆ นักเรียน ทุกคนล้วนมีสีหน้าเศร้าสลด
จะอาชีพใด ตำแหน่งไหน เพศวัยไม่สำคัญ แค่เห็นก็รู้แล้วว่าแย่แน่ เราย่ำแย่พร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ
จึงรอคอยวันที่ 1 มกราคม 2563 อย่างที่ไม่เคยคอยปีใหม่ปีไหนๆ เช่นนี้มาก่อน
ปีแรกที่ห้างร้านจะแบนถุงก๊อบแก็บพร้อมกัน ตามแนวทางของกระทรวงทรัพยากรฯ
เพราะถ้าคุณลองไปชายหาดแล้วขุดดู คุณจะไม่เจอปูลม แต่เจอถุงพลาสติก
และคุณจะรู้ว่ามันไม่มีทางอื่นอีกแล้ว ไม่มีอีกแล้วจริงๆ
หมายเหตุ - สำหรับคนรักทะเล ไม่มีอะไรดีกว่าพยายามเก็บขยะตามหาดให้มากที่สุด เก็บๆๆ ก่อนที่จะจมทราย ช่วยได้เยอะจริงๆ ครับ