จุฬาฯ เผยศักยภาพความพร้อมทางด้านผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอาหารครอบคลุมทุกมิติ ทั้งงานวิจัยต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตั้งคลัสเตอร์วิจัยทางด้านนวัตกรรมอาหาร พร้อมให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลเพื่อการบริโภคและการส่งออก
ผศ.ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล ผู้ช่วยคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะวิทยาศาสตร์ และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ได้จัดแสดงผลงานวิจัยทางด้านอาหารที่ครบวงจร ภายใต้ชื่อ Chula Food Innopolis ในงาน THAILAND Halal Assembly 2016 เมื่อวันที่ 9 - 11 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง มีผู้ประกอบการทุกระดับที่ดำเนินธุรกิจทางด้านอาหารให้ความสนใจขอคำปรึกษาและนำงานวิจัยไปต่อยอดประยุกต์ใช้จริง จุฬาฯ มีหน่วยงาน คณะและสาขาวิชาที่มีความพร้อมในการดำเนินงานวิจัยทางด้านอาหารที่ครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่งานวิจัยต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ที่มีบทบาทอย่างมากในการส่งเสริมในเรื่องอาหารและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับฮาลาลในประเทศไทย รวมถึงคณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะ สัตวแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ ฯลฯ โดยมหาวิทยาลัยได้จัดตั้งคลัสเตอร์วิจัยทางด้านนวัตกรรมอาหาร (food Innovation) พร้อมให้บริการแก่ผู้ประกอบการ ในภาคอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลและธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ
“Chula Food Innopolis ในงาน THAILAND Halal Assembly 2016 ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมอาหารมาขอรับคำปรึกษาเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์และออกแบบอาหารและบรรจุภัณฑ์เพื่อการสร้าง brand สินค้า แสดงถึงศักยภาพและความพร้อมของจุฬาฯ ในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในเรื่อง Thailand 4.0 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องอาหารฮาลาล นโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก ในงานนี้ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “บทบาทของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับนโยบาย Thailand 4.0” พร้อมทั้งเป็นประธานเปิด Chula Food Innopolis Pavillion และเยี่ยมชมผลงานที่จัดแสดงในงานนี้ด้วย” ผศ.ดร.ชาลีดา กล่าว
ผู้ช่วยคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้ยกตัวอย่างผลงานวิจัยของจุฬาฯที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอาหารอย่างครบวงจรในทุกมิติ ประกอบด้วย
งานวิจัยต้นน้ำ เน้นการพัฒนาในระดับกระบวนการผลิตและกระบวนการเพาะเลี้ยงเป็นหลัก เช่น งานวิจัยเกี่ยวกับการเพาะปลูกพันธุ์ข้าว การผลิตสัตว์น้ำ การย้ายฝากตัวอ่อน การปลูกพืชทนแล้งทนเค็ม ระบบหมุนเวียนน้ำแบบปิดสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำระดับความหนาแน่นสูง ซึ่งเป็นต้นแบบของระบบหมุนเวียนน้ำแบบปิดสำหรับใช้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เช่น กุ้ง ปลานิล
งานวิจัยกลางน้ำ เน้นการพัฒนาในระดับกระบวนการแปรรูปวัตถุดิบ การผลิตอาหารที่มีความจำเพาะกลุ่ม หรือการผลิตอาหารเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษ เช่น การผลิตน้ำผลไม้น้ำตาลต่ำจากน้ำผลไม้ร้อยเปอร์เซ็นต์และกรรมวิธีการผลิต ใช้จุลินทรีย์ลดปริมาณน้ำตาล เครื่องดื่มโปรตีนสูตรไร้น้ำตาลทรายเสริมสารสกัดจากรำข้าว ช่วยในการดูดซึมสารอาหารเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ สารเคลือบที่ประกอบด้วยเชลแล็กและไขสำหรับการยืดอายุการเก็บรักษาผลไม้ไทย เช่น มะม่วง มังคุด ส่งผลดีในการส่งออกผลไม้ไปจำหน่ายในต่างประเทศ อาหารพร้อมรับประทานสำหรับเด็กอ่อนอายุ 9 เดือน
งานวิจัยปลายน้ำ เน้นการพัฒนาในระดับผลิตภัณฑ์กระบวนการขนส่ง การบริหารจัดการและมาตรฐานความปลอดภัย การออกแบบบรรจุภัณฑ์และ Branding เช่น งานวิจัยการประยุกต์ใช้การรับรู้จากระยะไกลแบบไฮเปอร์สเปกตรัล เพื่อจำแนกพันธุ์ข้าวและโรคขอบใบแห้งในข้าว การพิจารณาความพึงพอใจของภาพอาหารจากการพิมพ์ บนพื้นฐานการรับรู้ของคน ซึ่งนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพผลิตภัณฑ์อาหารให้น่าสนใจ ดึงดูดสายตาลูกค้า สร้างภาพลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล
ผศ.ดร.ชาลีดา กล่าวเพิ่มเติมว่า จุฬาฯ มีห้องปฏิบัติการวิจัยและทดสอบอาหาร ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งให้บริการทดสอบสารปนเปื้อนและเนื้อสัตว์ในอาหาร โดยได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ นอกจากจุฬาฯ จะมีคณะและหน่วยงานต่างๆที่ทำงานวิจัยเกี่ยวข้องกับอาหารในทุกมิติแล้ว ที่โครงการพัฒนาที่ดินจุฬาฯ จ.สระบุรี ยังมีศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการแปรรูปอาหาร โรงงานแปรรูปอาหาร หน่วยวิจัยและออกแบบบรรจุภัณฑ์ โรงงานต้นแบบแปรรูปพลังงานอีกด้วย
ทั้งนี้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมอาหารที่สนใจงานวิจัยทางด้านอาหารของจุฬาฯ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โทร. 084-343-7737 , 083-199-3077 หรือที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ โทร. 0-2218-1053-4