xs
xsm
sm
md
lg

ชุมชนต้นแบบ “สถานธรรมปลีกวิเวก” คว้ารางวัล Red Ribbon Awards จาก UNDP แบบอย่างน้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงและพลังทดแทนมาพัฒนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โต๊ะหมู่ถวายความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สู่สวรรคาลัย แสดงภาพน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่เคยเสด็จมาเมืองแหง เมื่อปี พ.ศ.2522
พระอาจารย์ ดร.ฐาณี จิตวิริโย ผู้ร่วมริเริ่มและพัฒนาสถานธรรมปลีกวิเวก ต.เวียงแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ให้กลายเป็นชุมชนต้นแบบ และคว้ารางวัล Red Ribbon Awards จาก UNDP
สถานธรรมปลีกวิเวก เดินหน้าต่อยอดศูนย์เรียนรู้อย่างยั่งยืน หลังการพัฒนามา 9 ปี ทำให้ทุกคนทุกชนชั้นอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติภาพ จนได้รับรางวัล Red Ribbon Awards จาก UNDP ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยกระจายเจตนาของศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ที่น้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงและพลังทดแทนมาพัฒนา
พระอาจารย์ ดร.ฐาณี จิตวิริโย ผู้ร่วมริเริ่มและพัฒนาสถานธรรมปลีกวิเวก เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สถานธรรมปลีกวิเวก ได้รับรางวัลโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP ซึ่งคัดเลือกจาก 730 โครงการทั่วโลก เหลือเพียง 25 โครงการ เพื่อไปนำเสนองานที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย จนถึงรอบสุดท้ายที่คัดเลือกเพียง 5 ทีม และสถานธรรมปลีกวิเวก ก็ติด 1 ใน 5 โครงการที่ได้รับรางวัลนี้
“พระอาจารย์ทราบมาว่า ตัวชี้วัดที่ทำให้ได้รับคัดเลือก ก็คือ การสอนให้คนรู้จักพึ่งพาตนเอง และไม่ได้เลือกชนชั้นวรรณะ เขาเห็นว่าเป็นแนวทางการพัฒนายั่งยืนที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติภาพ และยังได้รับรางวัลพิเศษ ซึ่งเป็นทีมแรกและทีมเดียวที่ได้รับรางวัลนี้ คือ “เป้าหมายการพัฒนาศตวรรษใหม่ หรือ Millennium Delvelopment Goals”
พระอาจารย์ ดร.ฐาณี บอกว่ารางวัลที่ได้รับเป็นอีกหลักประกันหนึ่งที่แสดงให้เห็นจริงแล้วว่าสถานธรรมปลีกวิเวกสามารถต่อยอดให้เป็นศูนย์เรียนรู้ของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ส่วนด้านการนำพลังงานทดแทนมาใช้ เราได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ฟ้าชัย วิศวกรรม จำกัด ซึ่งได้ดำเนินการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้สามารถผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใช้ได้เอง ตลอดจนกระจายไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปยังชุมชนใกล้เคียงด้วย ซึ่งการติดตั้งในครั้งนี้ดำเนินการเป็นครั้งที่สอง ซึ่งจะสามารถลดต้นทุน ค่าใช้จ่ายได้มาก รวมถึงใช้เป็นการถ่ายทอดหลักการเรียนรู้ให้กับเยาวชน คนที่เข้ามาศึกษาดูงานได้ตระหนักถึงเรื่องพลังงานสะอาดที่ได้จากพลังงานทดแทน


พระเณรในสถานธรรมปลีกวิเวก ถ่ายทอดความรู้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ส่วนหนึ่งของฆราวาส ที่เข้ามาศึกษา เก็บเกี่ยวประสบการณ์ผ่านกิจกรรมตามโจทย์ที่ตั้งไว้ว่า “ทางโลกไม่ให้ช้ำ ทางธรรมไม่ให้เสีย” เช่น การขุดมันเทศ ลงแขกเกี่ยวข้าว และการสร้างบ้านดิน

“นอกจากปัจจัยสี่ คือ อาหาร ที่อยู่อาสัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค อาตมามองว่าพลังงานจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อมนุษย์มากขึ้น กลายเป็นปัจจัยที่ห้า ของชีวิต และต่อไปในอนาคตจะกลายเป็น Green Energy หรือพลังงานสะอาด ซึ่งสถานธรรมปลีกวิเวกสนับสนุนในเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งสอดรับต่อแนวพระราชดำริของในหลวงท่าน”
ด้านหลักและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่สถานธรรมปลีกวิเวกน้อมนำมาใช้พัฒนาศูนย์เรียนรู้ พระอาจารย์ ดร.ฐาณี กล่าวว่านำมาประยุกต์ใช้ 2 ส่วนหลัก คือหลักคิดและหลักปฏิบัติ หมายถึง หลักคิดที่กำหนดขึ้นนั้น ทางโลกต้องไม่ให้ช้ำ ทางธรรมก็ต้องไม่ให้เสีย และนำแนวทางทั้งสองมาปฏิบัติให้เกิดผล คือ การมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน และความรู้จักประมาณตน ทั้งหมดเป็นแนวคิดที่สอนให้ทั้งพระสงฆ์ สามเณร เยาวชน รวมถึงชาวบ้านที่เข้ามาปฏิบัติธรรมได้นำไปปฏิบัติ
ปัจจุบันกิจกรรมที่จัดขึ้นภายในสถานธรรมปลีกวิเวก ได้แก่
1) ค่ายคุณธรรม ยึดแนวทางคนสร้างค่ายค่ายสร้างคน เดินตามรอยพ่อ พ.ศ.พอเพียง
2)กว่าจะมาเป็นข้าวก้นบาตร จากหลักคิดที่ว่า ปลูกทุกอย่างที่ฉัน ฉันทุกอย่างที่ปลูก
3)โรงเรียนผู้สูงอายุ สำหรับบุคคลอายุ 60 ปีขึ้นไป มาเรียนทุกวันพฤหัสบดี วิชาที่สอนครอบคลุมถึงวิชาศีลธรรม ภูมิปัญญาพื้นบ้าน รวมไปถึงการดูแลสุขอนามัยของผู้สูงอายุ ภายใต้คอนเซปต์ สูงวัยสุขใจอย่างล้น
4) กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวต่างชาติ ซึ่งได้มีการบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างนักเรียนจากประเทศออสเตรเลีย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมกับชาวต่างชาติ (แต่ละปีจะมีนักเรียนมาแลกเปลี่ยนจำนวน 6 คณะๆ ละ 25-30 คน) นอกจากนี้ยังเป็นฐานเรียนรู้ให้พระสงฆ์จากประเทศภูฏาน เมียนมาร์ เวียดนาม และกัมพูชา มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งเรียกว่าเป็น “ธนาคารแห่งความรู้”
ส่วนแผนงานในอนาคต พระอาจารย์ บอกว่า “มีแนวคิดอยู่ว่าทำวันนี้ให้ดีที่สุด แต่สิ่งที่สำคัญนั้น คือการต้อนรับกัลยาณมิตรทั้งหลายเข้ามาศึกษาและเรียนรู้ในสถานธรรมปลีกวิเวกอย่างเต็มที่ รวมถึงยังต้องกระจายแนวคิดของเราไปยังพื้นที่อื่นๆ ด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นบุคคลอยู่ในศาศนาอื่นๆ ก็ตาม”
ถึงวันนี้ ที่นี่คือศูนย์เรียนรู้พอเพียง เคียงธรรม ที่บ่มเพาะคนรุ่นใหม่หัวใจเศรษฐกิจพอเพียง
ใช้ชื่อว่า “ปลีกวิเวก” เพราะเห็นว่าที่ตั้งอยู่ห่างไกลถึง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ จึงให้ความสงบมาก แต่แรกเลยพระอาจารย์คมสัน สิริปุญโญ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง ตั้งใจใช้เป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติเอง แต่หลังจากนั้นได้มีลูกศิษย์ลูกหาจากต่างถิ่นเข้ามาเที่ยวชมกันมาก จึงมองต่อไปถึงประโยชน์ส่วนรวมในการขยายงานการปฏิบัติธรรม จนพัฒนาการก่อสร้างเป็น “สถานปฏิบัติธรรมปลีกวิเวก” เพื่อใช้ทำกิจกรรมสงฆ์ ไหว้พระ สวดมนต์
ต่อมานำไปต่อยอดให้เป็น ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่นี่กลายเป็นศูนย์เรียนรู้แห่งการพอเพียง และเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอก โดยเฉพาะชุมชนชาวบ้านใกล้เคียงได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ รวมถึงการปรับให้เป็นสถานที่ออกค่ายของโรงเรียน และมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งนี้ สถานธรรมปลีกวิเวกจะได่จัดพระอาจารย์ฝึกอบรม รวมถึงเป็นวิทยากรให้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น