อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งปรับปรุงเนื้อหาของ 3 แผนงานใหญ่ ที่จะเป็นการวางรากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในอนาคต เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือนตุลาคม 2559
1)ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) เสนอโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
2)แผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ปี พ.ศ.2560-2564 โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
3)แผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเสนอเรื่องให้ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบก่อนนำเรื่องดังกล่าวเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป
“แผนที่จะออกมาทั้งสามนั้น สอดคล้องกับแนวคิดการขับเคลื่อนประเทศไทยภายใต้โมเดลประเทศไทย 4.0 ที่มีเป้าหมายในการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง สู่ประเทศรายได้สูงภายใน 20 ปีจากนี้ และตอบโจทย์หลัก 3 ด้าน คือ 1.การเติบโตของผลิตภาพ (Productivity growth) 2.การลดความเหลื่อมล้ำ (inclusive growth) และ3.การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green growth) นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะปรับบทบาทและโครงสร้างกระทรวงตลอดจนสถาบันฯ ภายใต้การกำกับดูแล เพื่อให้สามารถบริการแก่ SMEs กลุ่มต่างๆที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ในระดับจังหวัดทั้งรายเดิมและรายใหม่ และกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรของกระทรวงฯ ให้สามารถทำงานเชิงรุก เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการและนักลงทุน รวมถึงการประยุกต์ใช้เครื่องมือไอที เพื่อให้บริการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น” อรรชกา กล่าว
ด้าน สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ระยะ 20 ปี มีความคืบหน้ามากที่สุดคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีได้ก่อน ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวเกิดขึ้น เพื่อยกระดับและสร้างผู้ประกอบการพันธุ์ใหม่ให้เป็นกลไกหลักทางเศรษฐกิจ ปรับระบบนิเวศอุตสาหกรรมเพื่อเอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม และการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยให้เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจโลก โดยมีเป้าหมายในการเพิ่ม GDP ภาคอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 4.5 ต่อปี และผลิตภาพรวม (Total Factor Productivity : TFP) เติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.0 ต่อปี”
ส่วนแผนแม่บท Productivity จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้อุตสาหกรรมไทย สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้าและบริการของไทย การพัฒนาดังกล่าวจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่ม SMEs เป็นการพัฒนาทั้งบุคลากร กระบวนการผลิต และการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจเพื่อมุ่งไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในที่สุด
ขณะที่แผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เกิดขึ้นหลังจากการที่คณะรัฐมนตรีได้ประกาศให้ 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ปทุมธานี นครปฐม ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น นครราชสีมา สระบุรี ราชบุรี สุราษฎร์ธานี และสงขลา เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ได้มีการขับเคลื่อนต่อโดยให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในพื้นที่ มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนปฏิบัติการด้วย ทั้งนี้แผนดังกล่าวจะมุ่งเน้นที่การทำความสะอาดเมือง (Cleaning) การฟื้นฟูเมือง (Recovering) และการพัฒนาเมือง (Developing) โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างความสุขให้กับประชาชน และการอยู่ร่วมกันได้ระหว่างชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม