xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.ซุป” มองประเทศไทยกับทศวรรษใหม่แห่งการพลิกโฉม ศก.ผ่านสะพานเชื่อมเออีซี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ศุภชัย” มองมาตรการกระตุ้น ศก.ระยะสั้น รบ.ได้เดินมาสุดทางแล้ว เชื่อไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยพลิกโฉม ศก.ไทย แนะควรเร่งเชื่อมโยงอาเซียน และ ศก.โลกนำไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ชมการกำหนดกรอบนโยบายของ รบ.ถือว่ามาถูกทางแล้ว ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดเงื่อนไขว่า ประเทศไทยควรจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรในอีก 20 ปีข้างหน้า

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวในงานสัมมนาประจำปี ธนาคารกรุงเทพ AEC Business Forum : “AEC 2025” ในหัวข้อ ประเทศไทยกับทศวรรษใหม่แห่งการพลิกโฉมเศรษฐกิจ ภายใต้ความร่วมมือ AEC โดยมองว่า ในเวลานี้การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะสั้นเชื่อว่า รัฐบาลมีการดำเนินไปแบบสุดทางแล้ว ผ่านนโยบายที่ให้ความช่วยเหลือ ทั้งมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร มาตรการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นห่วงว่า หากการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นทำโดยไม่มีจุดจบ จะไม่ได้เป็นการพลิกโฉม หรือกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว

ทั้งนี้ จากการกำหนดกรอบนโยบายของรัฐบาลถือว่ามาถูกทางแล้ว ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดเงื่อนไขว่า ประเทศไทยควรจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรในอีก 20 ปีข้างหน้า ไม่ว่าจะวิสัยทัศน์ของอาเซียน หรือสหประชาชาติ (UN) ขณะเดียวกัน การเติบโตของประเทศไทยจะพึ่งพาการเติบโตภายในประเทศอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องมีการเติบโตไปกับภูมิภาค และโลก เพื่อให้เกิดความสมดุล

อย่างไรก็ตาม ใน Vision ที่จะนำพาไทยก้าวไปได้ในอนาคต และการกลับมากระตุ้นภายในประเทศ หรือการหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) รวมถึงการที่จะยกระดับประเทศให้มีการเติบโตขึ้น จะมาจากการปรับเพิ่มเงินเดือนในทุกระดับ การขยายผลิตภาพการผลิต (Productivity) เป็นต้น ถึงจะเรียกได้ว่า เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แท้จริง

นอกจากนี้ เงื่อนไขสำคัญของอาเซียนในขณะนี้ที่ไทยจะต้องยึดมาเป็นหลักในการพลิกโฉม ประกอบด้วย ความต้องการที่จะเป็นตลาดเดียวกัน (Single Market) ที่จะเป็นการสร้างภูมิภาคที่ทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขันได้ การพัฒนากลุ่มประเทศ CLMV ทั้ง กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ให้เติบโตไปด้วยกัน ซึ่ง CLMV ในขณะนี้ถือว่าเป็นเครื่องจักรของอาเซียน ที่มีอัตราการเติบโตโดยรวม 6-8% และต้องเป็นภูมิภาคที่มีบทบาทเป็นผู้นำในเวทีโลก และต้องมีการรวมตัวเพื่อไปต่อสู้ใน UN ได้ เพื่อเข้าไปเจรจาหารือร่วมกันในรูปแบบ global economy เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในอาเซียน

อย่างไรก็ตาม กระบวนการของไทยที่จะพลิกโฉม ประการแรก คือ กระบวนการ digitization ซึ่งเป็นกระบวนการที่ปล่อยให้เกิดขึ้นโดยเสรี และเริ่มเข้ามามีบทบาทในกลุ่มของธนาคารพาณิชย์ ค้าปลีก มากขึ้น โดยไทยควรเตรียมพร้อมในเรื่องของระบบ ทักษะ และกฎระเบียบ รวมถึงความปลอดภัย จากการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น

ประการที่สอง เป็นภาพใหญ่ที่จะเข้ามาพลิกโฉมของอาเซียน และสำคัญอย่างมาก คือ connectivity หรือ การเชื่อมต่อ ที่จะต้องมีความจำเป็นในการดูแลความเคลื่อนไหวของสินค้า ของต้นทุน ของคน ซึ่งจะต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนว่า จะตั้งเป้า connectivity เป็นโครงการของอาเซียนอย่างไรบ้าง เช่น สิงคโปร์ จะเป็นผู้นำทางด้าน transportation เคมี อิเล็กทรอนิกส์ และทางด้านมาเลเซีย ก็จะเป็นผู้นำทางด้านระบบการเงิน การบิน ส่วนไทย รัฐบาลก็มีการให้นโยบายออกมาแล้ว แต่ยังมีความหลากหลายอยู่มาก ซึ่งการเป็นผู้นำของไทย น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของเรื่อง Ecotourism การเป็นศูนย์กลาง (Hub) อีโคคาร์ เป็นต้น

อีกทั้งประการที่สาม การปฏิรูปการพลิกโฉม ก็น่าจะเป็นเรื่องของ Productivity การพัฒนา และวิจัย (R&D) และการมีนโยบายการทำงานร่วมกับภาคเอกชนก็ถือว่ามีความสำคัญมาก เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกัน และยกระดับสินค้าให้ดีขึ้น

พร้อมกันนี้กลุ่มประเทศที่มีความสำคัญอย่างมากของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) คือ CLMV ซึ่งอาเซียน จะต้องมีการเติบโตไปด้วยกัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และมองว่าการเชื่อมโยงของ CLMV จะเป็นหัวใจสำคัญให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในอนาคต รวมถึงประเทศจีน สุดท้าย การพัฒนาเกี่ยวกับข้อตกลงอัตราแลกเปลี่ยน จะเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งอยากเห็นในโลกต่อไปในอนาคต ในภูมิภาคต่างๆ โดยไม่ควรให้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนมากเกินไป จนทำให้เกิดการแข่งขันการดำเนินนโยบายติดลบ ซึ่งจะไม่ช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวไปได้



กำลังโหลดความคิดเห็น