xs
xsm
sm
md
lg

ส่อง “นโยบายไม่ส่งเสริม” ทำให้รักษาพื้นที่ป่าไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ขยายแนวร่วมชุมชน แนวทางป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าที่ยั่งยืนของรัฐบาล
สภาพป่าไม้ของประเทศไทยที่สมบูรณ์ พื้นที่ป่าประมาณ 53% เมื่อประมาณปี 2504 หรือราว 55 ปีที่แล้ว แต่พอเกิดเหตุการณ์ต่างๆ อย่างเช่น นโยบายหรือมติ ครม. ที่ไม่ส่งเสริมก็ทำให้รักษาพื้นที่ป่าได้ยาก เช่น นโยบายการส่งเสริมภาคการเกษตร การท่องเที่ยว หรือการสร้างสิ่งสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งการสร้างเขื่อน ตัดถนน รวมถึงการให้ทำสัมปทานป่าไม้ ล้วนเป็นสาเหตุทำให้พื้นที่ป่าลดลง
ประลอง ดำรงค์ไทย รองอธิบดีกรมป่าไม้ เล่าให้ฟังว่า สิ่งเหล่านี้เราก็ต้องยอมรับว่า มีความจำเป็นในด้านการพัฒนาประเทศบวกกับการเพิ่มจำนวนของประชากร และคนไทยประมาณ 70-80% เป็นเกษตรกรซึ่งต้องการมีพื้นที่ของตนเอง แต่พื้นที่ไม่ได้ขยายขึ้น อย่างตอนนี้การส่งเสริมภาคการเกษตรมีเพิ่มขึ้น เช่นการส่งเสริมด้านการปลูกข้าวโพดในภาคเหนือ ทำให้พื้นที่ป่าถูกบุกรุกทำการเกษตรถึง 8.6 ล้านไร่ ซึ่งเราเชื่อว่าหากไม่แก้ปัญหาในองค์รวมทั้งหมด สถานการณ์ป่าไม้ก็จะไม่ดีขึ้น
นโยบายรัฐบาลที่ออกมาในแต่ละยุคสมัยต้องการให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีการจัดสรรที่ดินให้กับประชาชน และส่วนหนึ่งก็เป็นการเอาพื้นที่ป่าไป เช่นโครงการโฉนดชุนชนเอาพื้นที่ป่ามาทำเป็นพื้นที่ของประชาชน บางคนให้ไปแล้วก็เอาไปขายต่อ วงจรแบบนี้ไม่สิ้นสุด ขณะเดียวกัน ด้านนายทุน บริษัทเอกชนก็ไม่หยุดส่งเสริมเพื่อสร้างรายได้ เช่นส่งเสริมเกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพด พอได้เมล็ดพันธุ์ ทางธกส.ก็ปล่อยกู้ พอถึงเวลาก็หาแค่พื้นที่ปลูกอย่างเดียว ได้เวลาเก็บเกี่ยวก็มีรถของบริษัทมารับซื้อถึงไร่ ซึ่งให้ทั้งความสะดวกและไม่ต้องลงทุนสูง วัฏจักรที่ได้เงินมาของเกษตรกรไม่ยาก ทำให้ขยายวงกว้าง และเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ก็ไม่สามารถจับกุมได้ หรือพอจับกุมได้หลายคนก็ไม่ยอม และย้ายหนี เป็นต้น
ทหารเป็นหน่วยเฉพาะกิจในการปกป้องการลักลอบตัดไม้ ทำลายป่า
พอมาถึงวันนี้ก็ดูล่าช้าเกินไป จะเห็นพื้นที่ป่าในอดีตนั้นราบเป็นหน้ากลอง บางแห่งกลายเป็นสวนยางพาราเกือบทั้งหมด เช่นที่จังหวัดพิษณุโลก น่าน เชียงใหม่ สมัยก่อนในแต่ละพื้นที่มีไม้ของพื้นถิ่นกำเนิดอยู่ เป็นไม้ท้องถิ่นที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ แต่ในระยะหลังๆ กลับผิดเพี้ยนไม้กันไปหมด อย่างเช่น ยางพารา ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 4.4 ล้านไร่ที่ไปบุกรุกพื้นที่ป่า โดยกรมป่าไม้มีหน้าที่รับจ้างรัฐบาลมาเป็นผู้ดูแลตามกฎหมายที่เรามีอยู่ 4 ฉบับ และกำลังจะได้อีกหนึ่งฉบับในเรื่องป่าชุมชน ซึ่ง 4 ฉบับเราก็ต้องดูแลตามนัยของราชการ พอกลับมาดูเรื่องของยางพาราที่ว่าทำไมเราไม่สามารถเอายางพารามาเป็นพืชในป่าได้ เพราะอย่างแรกคือ ยางพาราไม่ใช่พืชป่าแต่เป็นพืชทางการเกษตร และเป็นพืชเชิงเดียว และยางพาราไม่มีรากแก้ว เมื่อนำไปปลูกในที่ที่ไม่เหมาะสมที่จะปลูกก็ทำให้ระบบนิเวศเดิมไม่กลับมา
ตอนนี้เราต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถเอาคนออกจากป่าได้ แต่ก่อนเราได้มีเรื่องการใช้กฎหมายมาบังคับ ซึ่งชาวบ้านยอมทำตาม แต่จะเป็นแบบชั่วคราวเท่านั้นเอง ในปัจจุบันเราก็เลยเปลี่ยนมาใช้เป็นวิธีการเจรจาแทน ซึ่งบางกลุ่มก็คุยง่ายยอมทำตาม แต่บางกลุ่มยังไม่ยอมทำตาม เพราะถ้าไม่ทำก็จะทำให้ไม่มีรายได้ ขอให้ 1 ไร่ เขาต้องปลูกต้นไม้ด้วย อย่างน้อยก็ขอสัก 50 ต้น ซึ่งการทำแบบนี้มันดีกว่าการที่ปล่อยให้เขาปลูกข้าวโพดอย่างเดียว อันนี้เป็นบริบทยึดคืนผืนป่า ก็เลยเป็นวิธีแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา ที่ว่ามีนโยบายบางนโยบายไม่ประสบความสำเร็จ
มาถึงแนวทางของรัฐบาลนี้มุ่งใช้การเจรจาต่อรองเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องผลักดันให้ชาวบ้านลงมาจากที่สูง แต่เราขอให้เขาปลูกต้นไม้ไปด้วยอย่างน้อยไร่ละ 50 ต้น ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่ที่เป็นป่าสงวน เราใช้แนวทางแบบนี้ในเขต 13 จังหวัดในภาคเหนือ รวมไปถึงแก้ไขป่าต้นน้ำด้วย
ปัญหาสำคัญอีกอย่างที่ทำให้ป่าไม้ใหม่เติบโตยาก คือพื้นที่ป่าเสื่อมสภาพ มีโครงสร้างดินที่มีน้ำยากำจัดวัชพืช ยาฆ่าหญ้าซึ่งเอาไว้พ่นหญ้าเจือปนอยู่ ยังไม่สลายไป พบมากในป่าทางภาคเหนือจึงทำให้เมล็ดพันธุ์ต้นไม้ไม่งอก เลยทำให้เกิดป่าได้ยากมาก และเวลาต้นกล้าป่าโดนสารเคมีพวกนี้ก็ตายหมด
ประลอง ดำรงค์ไทย
ส่วนทางแก้ไข หรือการป้องกัน การฟื้นฟูป่าไม้ที่ยังเหลืออยู่ประมาณ 102.24 ล้านไร่ทั่วประเทศไทย หรือประมาณ 32% โดยประมาณ ส่วนหนึ่งเราอาศัยฝ่ายความมั่นคง หรือทหารมาช่วยดูแล ก็ถือว่าช่วยได้มากกว่าที่ผ่านมา เมื่อก่อนป่าไม้จะถูกทำลายปีละ 6 แสน - 1 ล้านไร่ต่อปี แต่ในรอบปีนี้ถูกทำลายไปแค่ประมาณ 33,000 ไ ร่แสดงว่าอัตราที่ลดลงมาก และเหตุผลด้านนายทุนบุกรุกป่านั้นก็แทบจะหยุดเลยทันที และส่วนหนึ่งชาวบ้านที่บุกรุกใช้แนวทางเจรจาต่อรองเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ป่าสงวนนอกเขตอนุรักษ์จะมีป่าสมบูรณ์ 33 ล้านไร่ และใช้วิธีตรึงกำลังและรักษาไว้ให้ได้และอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรักษา ซึ่งเราเรียกว่าโครงการ “ป่าชุมชน” และอีก 26 ล้านไร่ก็จะเป็นป่าที่เสื่อมสภาพที่ภาคเอกชนร่วมกันช่วยฟื้นฟูกันในตอนนี้
สรุปว่าสภาพป่าที่มันหายไป เป็นเพราะว่าจากนโยบายที่ผ่านมานั้นผิดพลาด การขยายตัวของเศรษฐกิจ การขยายตัวของสาธารณูปโภคด้านการเกษตร โดยเฉพาะในเรื่องของสวนยางพาราและสวนปาล์มกว่า 4-5 ล้านไร่ และเรื่องการปลูกป่าที่เกิดอุปสรรคเพราะฤทธิ์ของยากำจัดวัชพืชที่ทำให้กล้าป่าที่พยายามปลูกแทนไม่เติบโต
กำลังโหลดความคิดเห็น